เรื่องที่ 162 : การใช้ความระมัดระวังตามสมควร (Reasonable Precautions) มีความหมาย และขอบเขตขนาดใด? – ข้อถกเถียงรถเครนล้มคว่ำขณะทำงานเกิดจากการทำงานปกติ หรือการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ควรจะเป็น?
(ตอนที่หนึ่ง)
อีกหนึ่งตัวอย่างคดีศึกษาของประเทศออสเตรเลีย แต่คราวนี้เป็นเรื่องของรถเครน หรือรถปั้นจั่น ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นข้อถกเถียงกันว่า รถเครนที่ล้มคว่ำระหว่างการทำงานนั้น มีสาเหตุมาจาก
(ก) อุบัติเหตุจากการทำงานตามปกติ? หรือ
(ข) อุบัติเหตุจากการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ผลิตรถเครน และตามข้อบังคับแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง?
ผู้เอาประกันภัยในคดีนี้ได้ทำประกันภัยคุ้มครองรถเครนของตนไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (Contractor’s Plant and Machinery Insurance Policy (CPM)) กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นรถเครนตีนตะขาบขนาด 100 ตัน (Telescopic Boom Crawler Crane) จากข้อมูลของบริษัท สยาม อินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายว่า เป็นจำพวกรถเครนชนิดเคลื่อนที่ ประเภทที่ติดตั้งอยู่บนช่วงล่างแบบตีนตะขาบ ทำให้มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายขณะยก และมีความสะดวกในการปรับความยาวของแขนยก ให้เหมาะสำหรับงานที่ต้องยกสินค้าหรือวัสดุ และต้องเคลื่อนย้ายตำแหน่งอยู่เป็นประจำ เช่น การใช้งานตอกเสาเข็ม เสาเข็มพืดเหล็ก (Sheet Pile) หรือแม้แต่งานอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งมีความสูงจำกัด รถเครนเคลื่อนที่ประเภทนี้สามารถเข้าไปทำงานได้อย่างเหมาะสมและใช้งานได้สะดวก
ณ วันที่เกิดเหตุ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 รถเครนคันที่เอาประกันภัยได้พยายามยกผนังคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดน้ำหนัก 39 ตันให้ตั้งขึ้น ส่งผลทำให้แขนยก (boom) ของเครนฉุดรถเครนคันนั้นให้ล้มคว่ำลงมาเสียหายจนถึงระดับไม่คุ้มค่าที่จะซ่อมแซม
จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า แผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปดังกล่าวไม่ได้มีน้ำหนักเกินกว่าระดับความสามารถในการยกของรถเครนคันนั้นเลย
ฉะนั้น รถเครนคันนั้นล้มคว่ำเนื่องจากอะไรกันแน่?
เมื่อตรวจสอบต่อไป พบว่า เพื่อสร้างความสมดุลในการยก รถเครนคันนั้นไม่ควรอยู่ในตำแหน่งลาดเอียงที่มีระดับมากกว่า 0.3 องศา แต่ ณ จุดที่เข้าไปทำการยกนั้น พื้นดินไม่มีสภาพราบเรียบ ผู้ควบคุมรถเครนคันนั้นได้พยายามปรับสภาพด้วยการใช้เศษหินไปโรยปรับระดับให้เสมอกัน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏ ณ เวลาที่เกิดเหตุนั้น รถเครนคันนั้นถูกใช้งานอยู่บนทางลาดชันระดับ 7 องศา ซึ่งฝ่าฝืนข้อแนะนำของผู้ผลิตรถเครนคันนั้นกับข้อบังคับทางกฎหมายแห่งประเทศออสเตรเลีย
ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อผู้เอาประกันภัยรถเครนคันนั้นมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จึงถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท พร้อมกับได้หยิบยกข้อกำหนดกับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องมาอ้างสนับสนุน ซึ่งเขียนว่า
“บริษัทประกันภัยจะชดใช้ความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครอง (Insured Damage) อันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากการใช้น้ำหนักบรรทุกเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ (accidental overloading) ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยตั้งใจ และโดยเจตนา
ให้ภาระการพิสูจน์เช่นว่านั้นตกเป็นภาระของผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ คำว่า “ความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครอง (Insured Damage)” นั้น หมายความถึง ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพโดยอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอย่างไม่ได้คาดคิดต่อเครื่องจักรที่เอาประกันภัยในระหว่างระยะเวลาประกันภัยจนถึงขนาดที่จะต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทนโดยทันที เพื่อให้สามารถใช้งานต่อไปได้”
ต่อมา ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลท้ายที่สุด
ถึงตรงนี้ คุณมีความคิดเห็นเช่นไรบ้างครับ?
บริษัทประกันภัยดังกล่าวควรรับผิดหรือไม่?
โปรดติดตามตอนที่สองได้ในสัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น