เรื่องที่ 132 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมัน
(ตอนที่หนึ่ง)
ย้อนหลังกลับไปกรณีปั๊มน้ำมันในบทความเรื่องที่
130 : การตีความหมายของคำว่า “งานฝีมือ
(Workmanship)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา
(Contractor’s
All Risks Insurance Policy) สัปดาห์ก่อน
ภายหลังได้ก่อสร้างปั๊มน้ำมันเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว
ปั๊มน้ำมันก็เปิดให้บริการแก่ลูกค้าที่แวะเวียนกันเข้ามาตามปกติจนช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จู่ ๆ เริ่มมีลูกค้าหลายรายทยอยกันเข้ามาแจ้งและเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ของตน
อันเนื่องจากน้ำมันที่ถูกเติมใส่เข้าไปนั้นมีการปนเปื้อน
ทางปั๊มน้ำมันมิได้นิ่งนอนใจ
ได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดปนเปื้อน
จนสามารถค้นพบในท้ายที่สุดว่า เกิดมีรอยรั่วจุดหนึ่งที่ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินแทรกซึมเข้าไปได้จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา
ปรากฏว่า เจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งนี้มีทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
(Public
Liability Insurance Policy) กับประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability
Insurance Policy) เผื่อไว้เรียบร้อย จึงได้แจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บริษัทประกันภัยพิจารณา
ประเด็นที่สำคัญในการพินิจพิจารณาหลัก ๆ ได้แก่
1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) นั้นจะเริ่มมีผลคุ้มครองนับแต่วันใดเป็นเกณฑ์?
1.1) วันที่รถยนต์ได้การรับเติมน้ำมันปนเปื้อน (วันที่เกิดเหตุ) หรือ
1.2) วันที่รถยนต์ได้รับความเสียหาย (วันที่เสียหาย) หรือ
1.3) วันที่รถยนต์ได้การรับเติมน้ำมันปนเปื้อน และวันที่ได้รับความเสียหาย (ทั้งวันที่เกิดเหตุกับวันที่เสียหาย) หรือ
1.4) วันที่เกิดรอยรั่วที่ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน (ทั้งวันที่เกิดเหตุกับวันที่เสียหาย) หรือ
1.5) วันแรกที่ลูกค้าผู้เสียหายเข้ามาแจ้ง หรือ
1.6)
วันแรกที่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้เอาประกันภัยเข้ามาแจ้งต่อบริษัทประกันภัย
เพราะรถยนต์บางคันเสียหายทันที
บางคันเสียหายเวลาถัดไป แต่ยังอยู่ในวันเดียวกับที่เติมน้ำมัน บางคันก็สามารถใช้งานได้อีกหลายวัน
แล้วค่อยไปเกิดความเสียหายภายหลัง
2) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะนับได้เป็นกี่เหตุการณ์?
3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายฉบับใดจะเข้ามารับผิดชอบ?
3.1) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (เกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis))
ระยะเวลาประกันภัย 12
เดือน ระหว่างวันที่ 1/01/2004
– 1/01/2005
3.2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (เกณฑ์คุ้มครองวันเรียกร้อง (Claims Made Basis))
ระยะเวลาประกันภัย 12
เดือน ระหว่างวันที่ 1/01/2004
– 1/01/2005
สมมุติว่า
1.1) วันที่เกิดเหตุ คือ 2/03/2004
1.2) วันที่เสียหาย คือ 14/03/2004
1.3) วันที่เกิดเหตุกับวันที่เสียหาย คือ 2/03/2004
1.4) วันที่เกิดรอยรั่วที่ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน คือ 30/12/2003
1.5) วันแรกที่ลูกค้าผู้เสียหายเข้ามาแจ้ง คือ 1/04/2004
1.6)
วันแรกที่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้เอาประกันภัยเข้าแจ้งต่อบริษัทประกันภัย
คือ 3/01/2005
หมายเหตุ มีลูกค้าหลายรายที่อาจมาเติมน้ำมันปนเปื้อน
และได้รับความเสียหายแตกต่างวันกันไป เช่นเดียวกับวันที่ลูกค้าผู้เสียหายเข้ามาแจ้ง
จวบจนกระทั่งถึงวันที่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้เอาประกันภัยสั่งระงับการให้บริการเติมน้ำมันชั่วคราว
และได้รวบรวมจำนวนความเสียหายทั้งหมดแจ้งแก่บริษัทประกันภัยคราวเดียวกัน
พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้คำนิยามที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
ก) เกณฑ์วันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis)
หลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากวันที่เกิดวินาศภัยหรือเหตุที่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาประกันภัย
ข) เกณฑ์วันเรียกร้อง (Claims Made Basis)
ข้อกำหนดที่นิยมใช้ในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่กำหนดว่าจะให้ความคุ้มครองแก่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ได้เรียกร้องเป็นครั้งแรกในระหว่างระยะเวลาประกันภัยหรือในช่วงเวลาที่ขยายให้ (หากมี) โดยเหตุแห่งการเรียกร้องจะต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัยหรือระยะเวลาคุ้มครองย้อนหลัง (หากมี) เช่น กรมธรรม์ประกันภัยอาจมีข้อกำหนดว่าจะให้ความคุ้มครองย้อนหลังไปให้ความคุ้มครองความรับผิดที่เกิดขึ้นก่อนระยะเวลาประกันภัย ซึ่งส่วนมากจะเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยปรกติแล้ว การได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้ต้องไม่มีใครรู้ว่าได้เกิดความรับผิดขึ้นแล้ว
เราจะพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นกันอย่างไรดีครับ?
สัปดาห์หน้าค่อยมาคุยกัน
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น