วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

 

เรื่องที่ 131 : ทำไมต่างประเทศถึงจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ไปควบรวมกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance Policy)?

 

หลายท่านอาจไม่นึกว่า ตนมิใช่ผู้ผลิตสินค้าโดยตรง เพียงทำหน้าที่ขายหรือให้บริการสินค้าเหล่านั้นเท่านั้น คงไม่จำเป็นจะต้องสนใจทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance Policy) หรอก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตแต่ผู้เดียวที่จะต้องทำประกันภัยชนิดนี้ดีกว่า แค่ตนเองทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) เผื่อไว้อย่างเดียวก็พอแล้ว

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายสองชนิดนี้แตกต่างกันเช่นใด? เราควรมาทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนจะดีกว่า

 

สมมุติ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งและมีโชว์รูมร้านค้าของตนเองด้วย หากมีลูกค้ารายหนึ่งสนใจจะซื้อเก้าอี้แบบเอนหลังได้ที่ตั้งแสดงอยู่ในร้านนั้น พนักงานขายได้เชิญชวนให้ลูกค้านั้นทดลองนั่งดู ถ้าพอใจจะได้ตกลงซื้อขายกัน ครั้นพอลูกค้านั้นทดลองนั่งเอนหลัง ปรากฏล็อกระดับเอนหลังเกิดบกพร่องไม่ทำงานตามปกติ ทำให้ลูกค้านั้นหงายหลังผลึ่งลงไปจนได้รับบาดเจ็บ

 

คุณเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ควรจะคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใด?

 

(ก) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ หรือ

(ข) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก

 

เมื่ออ่านวิเคราะห์ข้อกำหนดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ฉบับมาตรฐานบ้านเราเป็นเกณฑ์ ซึ่งระบุว่า

 

หมวดที่ 2 ข้อตกลงคุ้มครอง

ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ข้อยกเว้นในหมวดที่ 3 ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปในหมวดที่ 4 บริษัทจะให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

1. บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต่อผู้เสียหาย อันสืบเนื่องหรือเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ที่เอาประกันภัยซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และเกิดเหตุการณ์ความเสียหายขึ้นภายในอาณาเขตความคุ้มครอง

 

จากนั้นไปพิจารณาความหมายของสามถ้อยคำสำคัญที่เกี่ยวข้องในหมวดที่ 1 คำจำกัดความ ซึ่งระบุว่า

 

(1) ผลิตภัณฑ์ที่เอาประกันภัย หมายถึง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งผลิต ขาย จำหน่าย จ่าย แจกหรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยผู้เอาประกันภัย รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นด้วย

 

(2) สินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายถึง สินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควรทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งานและการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้

 

(3) ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย และ/หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน อันสืบเนื่องหรือเป็นผลมาจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

 

ทำให้มีการตีความว่ากรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นจะให้ความคุ้มครองแก่ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ (สินค้า) ที่ได้ถูกกำหนดเอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ และได้ไปสร้างความเสียหายทางร่างกายหรือความเสียหายทางทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น

 

ฉะนั้น ตราบใดเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังมิได้ “ขาย” ออกไป ผู้เสียหายนั้นก็จะไปได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกแทน

 

เนื่องจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย “ขาย” คือ “เอาของแลกเงินตรา, โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่กันโดยตกลงกันว่าผู้รับโอนจะใช้ราคาแห่งทรัพย์สินนั้น มีหลายลักษณะ คือ ชำระเงินในขณะที่ซื้อขายกัน เรียกว่า ขายเงินสด, ขายโดยยอมเก็บเงินอันเป็นราคาของในวันหลัง เรียกว่า ขายเชื่อ, (เลิก) เอาเงินเขามาโดยยอมตนเข้ารับใช้การงานของเจ้าเงิน เรียกว่า ขายตัวลงเป็นทาส

 

เพราะโดยทั่วไป ผู้เสียหายมักจะเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบเคียงกับคำนิยาม “ขาย” ภายใต้มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 จะมีความหมายกว้างกว่า โดยบัญญัติว่า

 

ขายหมายความว่า จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และให้หมายความรวมถึงให้เช่า ให้เช่าซื้อ จัดหา ตลอดจนเสนอ ชักชวน หรือนำออกแสดงเพื่อการดังกล่าว

 

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้มีการนำเอากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับมาควบรวมกัน

 

ขณะที่บ้านเรา แยกความคุ้มครองออกเป็นสองฉบับ และยังมีเกณฑ์ความคุ้มครองแตกต่างกันออกไปอีกด้วย

 

สัปดาห์หน้า จะมาคุยกันถึงระหว่างเกณฑ์วันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis) กับเกณฑ์วันเรียกร้อง (Claims Made Basis) ว่ามีความสำคัญขนาดไหน?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น