เรื่องที่ 130 : การตีความหมายของคำว่า “งานฝีมือ (Workmanship)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy)
(ตอนที่สอง)
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้รับเหมาทำการติดตั้งถังเก็บน้ำมันใต้ดินในหลุมที่ขุดรอไว้ ฝนได้เกิดตกลงมา ทำให้น้ำท่วมหลุมนั้น และส่งผลให้ถังเก็บน้ำมันใต้ดินดังกล่าวลอยตัวขึ้นมาจนได้รับความเสียหายนั้น
เรามาลองไล่ลำดับการพิจารณาความคุ้มครองกรณีนี้กันดูนะครับ
1) ความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุหรือเปล่าครับ?
“อุบัติเหตุ (Accident)” โดยทั่วไป บริษัทประกันภัยมักตีความหมายถึง เหตุที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกโดยฉับพลัน ซึ่งผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง
น้ำฝนที่ตกลงมาทำให้น้ำท่วมถือเป็นปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และแน่นอนว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้คาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นผลขึ้นเช่นนั้น มิฉะนั้นแล้ว คงไม่ทำงานต่อจนสร้างปัญหานี้ให้เกิดขึ้นท้ายที่สุด
2) ถ้าใช่ ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือไม่?
ถังเก็บน้ำมันใต้ดินเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวงานตามสัญญาว่าจ้างที่จะส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ว่าจ้างต่อไป เมื่องานเสร็จสมบูรณ์แล้ว
3) ถ้าใช่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะตกอยู่ในข้อยกเว้นหรือผิดเงื่อนไขใดหรือไม่?
สองข้อแรก บริษัทประกันภัยมิได้โต้แย้ง แต่ข้อนี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า
“บริษัทประกันภัยจะไม่ชดใช้สำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายใดอันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากความผิดพลาด ความไม่เพียงพอ หรือความบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้
ก) .................
ข) การออกแบบ รายละเอียดจำเพาะ ฝีมือแรงงาน (Workmanship) ….
ถึงแม้นว่าจะส่งผลทำให้เกิดภัยที่เอาประกันภัยไว้ก็ตาม อย่างไรก็ดี บริษัทประกันภัยเพียงจะให้ความคุ้มครองเฉพาะสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าวเท่านั้น”
โดยบริษัทประกันภัยหยิบยกคู่มือการทำงาน (Project Manual) มาอ้างอิงด้วยว่า ได้มีทั้งข้อแนะนำและคำเตือน ช่วงทำงานติดตั้งถังเก็บน้ำมันใต้ดินลงไปในหลุมเปียกชุ่ม (Wet) หรือหลุมแห้งที่อาจมีความเสี่ยงภัยที่จะเปียกชุ่มได้ แนะนำให้ผู้รับเหมาบรรจุน้ำสะอาดใส่ไว้ในถังนั้นอย่างเพียงพอด้วย เพื่อถ่วงน้ำหนัก (Ballast)
แต่ผู้รับเหมาหรือผู้เอาประกันภัยรายนี้กลับละเลย หรือกระทำไม่เพียงพอ
กรณีทั้งหมดจึงมิได้รับความคุ้มครองเลย
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น
ผู้รับเหมาหรือผู้เอาประกันภัยรายนี้ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ได้โต้แย้งว่า ข้อความดังระบุไว้นั้น ไม่ชัดเจน อ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า ข้อยกเว้นเรื่องความผิดพลาดของฝีมือแรงงานนั้น มีผลใช้บังคับเพียงเวลาที่ทำงานติดตั้งถังเก็บน้ำมันใต้ดินจนเสร็จสิ้นได้เป็นผลิตผล (Product) แล้วเท่านั้น มิใช่อยู่ระหว่างกำลังทำงาน (Process) อีกทั้งได้มีการเริ่มถมดินบางส่วนกลบ (Back Fill) หลุมนั้นเอาไว้ด้วย มิใช่มิได้ดำเนินการโดยปราศจากความระมัดระวังตามสมควรเลย
หรือสรุปง่าย ๆ ว่า อาจไม่คุ้มครองตัวต้นเหตุจากการทำงาน แต่คุ้มครองตัวอื่น (ผลิตผล) ที่ได้รับผลติดตามมาเท่านั้น โดยที่ตกอยู่ภายใต้ภัยที่คุ้มครองด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับโจทก์ว่า ข้อความดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีความกำกวม ไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงยกประโยชน์ให้แก่โจทก์ซึ่งมิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างถ้อยคำ ด้วยการตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
บริษัทประกันภัยจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นเพียงวิเคราะห์มุ่งเน้นถ้อยคำบางจุดที่ปรากฏในข้อยกเว้นเท่านั้น โดยมิได้มองภาพรวมของข้อความทั้งหมดในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งฉบับเลย ซึ่งปรากฏคำว่า “การก่อสร้าง (Construction)” อยู่หลายแห่ง ควรที่จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งการก่อสร้างนั้นน่าจะแปลความหมายรวมถึงกระบวนการดำเนินงาน (Process) ด้วย ถึงกระนั้น ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่า บริษัทประกันภัยจำเลยก็จำต้องรับผิดอยู่ดี เนื่องจากเข้าข่ายผลที่ติดตามมา มิใช่ทุกกรณีถูกยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมดเลยดังที่บริษัทประกันภัยจำเลยกล่าวอ้าง
อย่างไรก็ดี ให้ย้อนคดีกลับไปสู่ศาลชั้นต้นเพื่อวิเคราะห์อย่างชัดเจนครบถ้วนต่อไป
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Engineered Structures, Inc. v. Travelers Property Casualty Company, No. 18-35588, 9th Cir., 2020 U.S. App. LEXIS 25994))
ถ้ามีบางท่านยังไม่ใคร่ชัดเจนนักถึงการตีความเรื่องกระบวนการดำเนินงาน (Process) กับผลิตผล (Product) แล้วล่ะก้อ เสนอแนะให้ย้อนกลับไปลองอ่านบทความเรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด? รวมสามตอน ซึ่งได้เคยเขียนเอาไว้ระหว่างวันที่ 4 – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ประกอบอีกที ลองดูนะครับ
เรื่องต่อไป: คุณเคยสงสัยบ้างไหมครับว่า ทำไมต่างประเทศถึงจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ไปควบรวมกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance Policy) แทนที่แยกฉบับกันเหมือนอย่างบ้านเรา?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น