วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 125 : ประเด็นหน้าที่ความรับผิดของรถโรงเรียนจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด?

นี่โรงเรียนหรือสถานศึกษาใกล้จะเปิดเทอมอีกวาระหนึ่งแล้ว เราลองมาพิจารณาคดีศึกษานี้กันหน่อยก็ดีนะครับ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาถึง

ก) หน้าที่ความรับผิดชอบของรถโรงเรียนจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด? และ
ข) หน้าที่ความรับผิดชอบเช่นว่านั้นจะต้องมีระดับสูงกว่าปกติทั่วไปไหม?

ดีเร็ก เด็กชายอายุสิบสองขวบคนหนึ่งใช้บริการรถโรงเรียนส่วนบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากโรงเรียนแห่งนั้นให้ดำเนินการรับส่งนักเรียน บ่ายวันหนึ่ง ช่วงขากลับจากโรงเรียน รถคันนั้นวิ่งเพลินจนเลยจุดส่งดีเร็กตามปกติ ทำให้ดีเน็กจำต้องลงที่จุดถัดไปโดยอยู่อีกคนละฝั่งถนน พอดีเร็กข้ามถนนทางด้านหน้ารถโรงเรียน ก็ได้ถูกรถอีกคันหนึ่งชนได้รับบาดเจ็บ

พ่อของดีเร็กได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้คนขับรถพร้อมโรงเรียนรับผิดโทษฐานประมาทเลินเล่อมิได้ใช้ความระมัดระวังพิเศษในระดับที่สูงกว่ารถรับจ้างทั่วไป

ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้แล้ว มีความเห็นว่า เนื่องจากรถโรงเรียนคันนี้เป็นรถรับจ้างทั่วไปที่มิได้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยพิเศษเหมือนอย่างเช่นรถโรงเรียนโดยเฉพาะ ฉะนั้น ระดับการใช้ความระมัดระวังจึงยังคงเป็นเช่นดั่งรถรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการนำส่งผู้โดยสารถึงจุดส่งอย่างปลอดภัยเท่านั้น ภายหลังจากนั้นจะเกิดอุบัติเหตุอะไรตามมา คนขับรถก็ไม่จำต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมอีก

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Smith v. Sherwood, 2011 N.Y. LEXIS 244 (February 15, 2011)

ขณะที่ภาระความผิดชอบของรถโรงเรียนโดยเฉพาะจะเริ่มต้นตั้งแต่รับนักเรียนขึ้นรถและนำส่งถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย และต่อเนื่องจนถึงขากลับนำส่งนักเรียนจนถึงจุดหมายตามที่กำหนดไว้อย่างปลอดภัย คือ มีระดับการดูแลเอาใจใส่สูงกว่า 

แต่ทั้งนี้ แนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ บ้างก็เห็นว่า ถึงแม้เป็นรถโรงเรียนโดยเฉพาะ ก็มีระดับการดูแลเอาใจใส่ไม่แตกต่างจากรถรับจ้างทั่วไป โดยอาศัยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ของวิญญูชนทั่วไป ขณะที่บางศาลก็เห็นต่างออกไปว่า สำหรับนักเรียนเด็กเล็กนั้นไม่สมควรนำหลักเกณฑ์ของวิญญูชนทั่วไปมาใช้อ้างอิง ควรมองจากมุมมองของเด็กในวิสัยและสภาวะของเด็กระดับเดียวกันเป็นเกณฑ์มากกว่า

เท่าที่ค้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรา ยังไม่พบนะครับ 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรถโรงเรียนออกมาใช้บังคับหลายฉบับด้วยกัน เป็นต้นว่า ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ. 2547 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ซึ่งน่าสนใจว่า ดูเสมือนจะมีระดับการดูแลเอาใจใส่สูงกว่ารถรับจ้างสาธารณะทั่วไป แต่จะถึงขนาดให้ดูแลนักเรียนข้ามถนนจนปลอดภัยแล้วถึงจะออกรถได้ดั่งเช่นระเบียบของต่างประเทศหรือไม่นั้น? จำต้องรอดูต่อไป

อย่างไรก็ดี อยากจะหวังว่า เมื่อได้มีระเบียบปฏิบัติออกมาเข้มแข็งอย่างนี้ ข่าวคราวที่เกี่ยวกับรถโรงเรียนน่าจะให้ภาพเป็นบวกสมความตั้งใจดีที่วางไว้นะครับ

เรื่องต่อไปจะขอยกตัวอย่างคดีศึกษากรณีการประกันภัยความรับผิดสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors & Officers Liability Insurance) กันบ้างนะครับ

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น