วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 123 : เมื่อการชำระเบี้ยประกันภัยออนไลน์ไม่ช่วยทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองจากไฟไหม้ (Insurance Premium Payment Online Fails Policyholder from Fire)?

เดี๋ยวนี้ การชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์สามารถทำได้โดยง่ายและสะดวกมาก จึงเป็นที่ได้รับการยอมรับและนิยมทำเพิ่มมากขึ้น

แต่ถ้ามองในแง่ของผู้รับเงิน คุณนึกไหมครับว่า ผู้รับเขาจะทราบได้ไหมว่า เงินนั้นชำระเป็นค่าอะไร? เพื่ออะไร? 

ถ้าไม่มีเงื่อนเวลากำหนดชำระ ก็อาจดูไม่น่าห่วง แต่ถ้ามีเงื่อนเวลาบังคับล่ะ จะบังเกิดผลอะไรขึ้นมาได้บ้าง?

ลองดูคดีศึกษาเรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์บ้างก็ดีนะครับ

โรงงานผลิตเจ้าหนึ่งได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนกับบริษัทประกันภัยโดยผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 และมีข้อตกลงแบ่งชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นรายงวดตามที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งหมดค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ เงื่อนไขข้อหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวระบุว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในกรณีผู้เอาประกันภัยไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัย ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยไม่ต่ำกว่า 10 วันก่อนที่วันบอกเลิกจะมีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ การบอกเลิกดังกล่าวจะไม่บังเกิดผลใช้บังคับ หากว่า ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยแล้วก่อนหน้าวันที่บอกเลิกนั้นจะมีผลใช้บังคับ  

ณ วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้ส่งหนังสือเตือนให้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดแรกซึ่งจะถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2013

เมื่อมิได้รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว บริษัทประกันภัยจำต้องทำหนังสือบอกเลิกสัญญาประกันภัยล่วงหน้าลงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ไปถึงผู้เอาประกันภัย โดยระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวจะสิ้นผลบังคับนับแต่วันที่ วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป เว้นเสียแต่ผู้เอาประกันภัยจะได้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยเรียบร้อยแล้วก่อนหน้าที่วันนั้นจะมีผลบังคับ ซึ่งสำเนาหนังสือดังกล่าวยังได้นำส่งถึงนายหน้าประกันวินาศภัยของผู้เอาประกันภัยให้รับทราบด้วย

ถึงกระนั้น ฝ่ายผู้เอาประกันภัยคงนิ่งเฉย บริษัทประกันภัยไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องออกใบสลักหลังระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวมีผลคุ้มครองตามส่วนนับตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เนื่องด้วยสาเหตุการไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัย

เมื่อคนเราถึงคราวดวงตก โชคร้ายที่มิได้นึกฝัน มันก็บังเกิดขึ้นมาได้จริง ๆ

ถัดจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับ คือ ช่วงบ่ายของวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ณ โรงงานแห่งนั้นของผู้เอาประกันภัย ด้วยความกังวลใจและหวาดผวาขณะเฝ้าดูพนักงานดับเพลิงกำลังทำการดับไฟอยู่อย่างแข็งขันอยู่ ผู้เอาประกันภัยได้รีบทำการชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดแรกทางออนไลน์ไปถึงบริษัทประกันภัยโดยทันที

สามวันต่อมา นายหน้าประกันวินาศภัยของผู้เอาประกันภัยได้ติดต่อแจ้งเหตุไฟไหม้ให้บริษัทประกันภัยรับทราบ 

ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ผู้เอาประกันภัยก็รีบชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดต่อไปทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก

วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้แจ้งผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยนั้นว่า ตนยินดีที่จะให้ความคุ้มครองกลับมามีสถานะดังเดิมได้ต่อเมื่อได้รับหนังสือยืนยันกลับมาจากผู้เอาประกันภัยภายในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ว่า ไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้นมานับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

เมื่อไม่มีคำตอบกลับมาจากผู้เอาประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัยนั้นจึงได้แจ้งแก่ผู้เอาประกันภัยในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ว่า บริษัทประกันภัยยืนยันความคุ้มครองสิ้นสุดลงไปแล้ว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป

วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้นำส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับชำระ สำหรับระยะเวลาที่ไม่ได้คุ้มครองคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย 

ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้ทวงถามค่าเบี้ยประกันภัยคงค้างชำระ สำหรับระยะเวลาคุ้มครองตามส่วนช่วงแรก          
ผู้เอาประกันภัยจึงได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดต่อสาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2013 แต่เมื่อถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธ ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณา

โดยผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์อ้างว่า การที่บริษัทประกันภัยจำเลยได้ยอมรับค่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระให้ภายหลังจากความเสียหาย ถือเป็นการยกเลิกการบอกเลิกความคุ้มครองที่ได้แจ้งมานั้นแล้ว บริษัทประกันภัยจำเลยจึงจำต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวตามหลักกฎหมายปิดปาก (Doctrines of Estoppel & Waiver) 

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับฝ่ายจำเลยว่า จำเลยได้ดำเนินการบอกกล่าวการเลิกสัญญาประกันภัยถูกต้องตามเงื่อนไขนั้นทุกประการแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจึงสิ้นผลบังคับนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่รับผิดชอบภายหลังจากนั้น และกรณีก็ไม่เข้าหลักกฎหมายปิดปากดังอ้าง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นว่า ฝ่ายจำเลยจะยอมรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยปราศจากเงื่อนไขอย่างชัดแจ้งว่า ตนยินดีที่จะทำให้ความคุ้มครองนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปดังเดิม ฝ่ายจำเลยกลับกำหนดเงื่อนไขและคำขอให้ยืนยันจากฝ่ายโจทก์เพิ่มเติมอีก เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินการคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ฝ่ายจำเลยไม่ได้ยกเลิกการบอกเลิกความคุ้มครองดังกล่าวนั้นเอง อันจะส่งผลทำให้ถูกปิดปากที่จะไม่โต้แย้งความรับผิดชอบของตนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเลย หลักกฎหมายดังอ้างของฝ่ายโจทก์ไม่อาจรับฟังได้

อนึ่ง จากคำให้การพยานซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของฝ่ายจำเลย ในทางปฏิบัติเวลามีการโอนเงินเข้าบัญชี จะไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนในระบบได้ว่า นี่คือ การชำระค่าเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่คงมีผลบังคับอยู่ หรือที่เลยกำหนดชำระ หรือที่ถูกบอกเลิกไปแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ต้องรับผิด

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Megna v. Leading Ins. Services, Inc., No. A-O (N.J. Super. - App. Div. Jan. 30, 2017))

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: เรื่องวุ่น ๆ ของการประกันภัยก่อสร้าง?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น