วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563



เรื่องที่ 122 : ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินที่มิใช่ของ (Not Belonging To) ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหมายความถึงอะไร?

(ตอนที่สอง)

คดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลสูง โดยสามารถจำแนกประเด็นข้อพิพาทออกได้ 3 ประเด็น กล่าวคือ

1) หมวดความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกสำหรับเจ้าของสถานที่ ซึ่งมีข้อยกเว้นที่ระบุไม่คุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัย (not belonging to) เองนั้น ควรตีความหมายเช่นใด?   

ฝ่ายบริษัท พี ผู้เช่า ในฐานะโจทก์ต่อสู้ว่า แม้ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าว แต่เนื่องด้วยผลของสัญญาเช่าระยะยาวเช่นนี้ ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองพิเศษแก่ผู้เช่าเหนือสิทธิการเป็นเจ้าของตัวอาคารหลังนี้ด้วยซ้ำไป ฉะนั้น การหยิบยกข้อยกเว้นนั้นมาใช้ปฏิเสธ จึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งถ้อยคำ “ไม่เป็นของ (not belonging to) นั้นเองก็ไม่น่าถูกต้องเช่นกัน ก่อให้เกิดความสับสน ที่ถูกต้องควรใช้คำว่า ไม่เป็นเจ้าของ (not owned by)” แทนมากกว่า

2) การได้รับสิทธิครอบครองพิเศษภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวนั้นจะส่งผลทำให้มีสิทธิเหนือกว่าเจ้าของอาคาร และไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นดังกล่าวในข้อ 1) หรือไม่? 

3) โจทก์คดีนี้ควรได้รับการชดใช้รวมไปถึงความเสียหายพิเศษเนื่องจากการสูญเสียผลกำไรที่คาดการไว้ด้วยได้หรือไม่?

คู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่า ถ้าศาลไม่เห็นพ้องกับประเด็นข้อต่อสู้ของโจทก์ดังที่กล่าวอ้างแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาประเด็นที่สองอีก เพราะทั้งสองประเด็นมีความเชื่อมโยงกัน คงให้พิจารณาประเด็นที่สามซึ่งเหลืออยู่เท่านั้น

ศาลสูงวินิจฉัยว่า

1) ประเด็นแรก การตีความถ้อยคำของสัญญาประกันภัยให้ตีความตามถ้อยคำประกอบกับวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ตัวอาคารหลังดังกล่าวมีผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนการได้สิทธิครอบครองตามสัญญาเช่า แม้มีระยะเวลาเช่านานขนาดใดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์นั้นของผู้เอาประกันภัยแต่ประการใด ประกอบกับข้อความจริงในการจัดทำประกันภัยฉบับนี้ อันได้แก่

1.1) การกำหนดทุนประกันภัยภายใต้หมวดความคุ้มครองทรัพย์สินนั้น มีมูลค่าใกล้เคียงกับตัวอาคารทั้งหลัง แสดงถึงวัตถุประสงค์ของผู้เอาประกันภัยที่จะให้ครอบคลุมตัวอาคารทั้งหลังมากกว่าที่จะเพียงแค่ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของภัตาคารเท่านั้น

1.2) การที่ตารางกรมธรรม์ประกันภัยเองระบุชื่อผู้รับจำนองของฝ่ายผู้เช่า เพียงเพื่อให้คู่สัญญาประกันภัยได้รับรู้ถึงส่วนได้เสียของผู้เช่าภายใต้หมวดความคุ้มครองทรัพย์สินเท่านั้น  

ด้วยเหตุผลข้างต้น ฝ่ายบริษัท พี ผู้เช่า ในฐานะโจทก์จึงมิอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ตนได้ควักเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการทำให้ตัวอาคารหลังนั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมเพิ่มเติมอีก 225,000 ปอนด์ ภายใต้หมวดความคุ้มครองทรัพย์สินนั้นได้ เพราะตนมิได้มีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่มีเพียงส่วนได้เสียในฐานะผู้ครอบครองเท่านั้นอันถือเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งทำให้ตนมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนของสิ่งตกแต่งและตรึงตรา (fixtures/fittings) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของตนที่ได้เสียหายไปจากสาเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน 8,500 ปอนด์

2) ประเด็นที่สอง เป็นไปตามการตีความของประเด็นแรก

3) ประเด็นที่สาม พยานหลักฐานที่นำเสนอของฝ่ายโจทก์ยังไม่สามารถรับฟังได้อย่างชัดเจนถึงความเสียหายพิเศษนี้ได้ ทั้งคงแค่ตัวเลขประมาณการขึ้นมาเท่านั้น

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Palliser Limited v Fate Limited (in liquidation) [2019] EWHC 43 (QB))

สรุป กรณีระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าควรพูดคุยกันให้ชัดเจนถึงภาระหน้าที่ในการจัดทำประกันภัย จริงอยู่ ที่บางครั้ง ผู้ให้เช่าอาจผลักภาระให้ผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยทั้งตัวอาคารของผู้ให้เช่ากับทรัพย์สินของผู้เช่าเองรวมในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับเดียวกันก็มี 

เวลาบรรยายความรู้ด้านการประกันภัย ผมเคยหยิบยกคำถามนี้ขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง แม้โดยหลักการแล้ว ผู้เช่ามีส่วนได้เสียในอาคารของผู้ให้เช่าระหว่างอายุสัญญาเช่าก็ตาม ถ้าผู้เช่าทำให้อาคารที่เช่าเสียหายด้วยอุบัติเหตุแห่งความประมาทเลินเล่อของตนเอง กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะมารับผิดชอบให้ ทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่าคงแฮบปี้ ได้รับความคุ้มครองไม่มีปัญหา

ครั้นพอตั้งคำถามต่อไปอีกว่า หากเกิดไฟไหม้ข้างเคียงลามมาไหม้อาคารที่เช่านั้นจนเสียหายหมด พอผู้เช่าในฐานะผู้เอาประกันภัยได้รับเงินชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้ว เผ่นหนีไป กว่าผู้ให้เช่าจะทราบเรื่อง ก็ไม่อาจตามหาผู้เช่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? เพราะผู้เช่าบางรายอาจเกิดโลภ มูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวของตนเองอาจไม่มากเทียบกับมูลค่าอาคารที่ให้เช่า พอเห็นเงินจำนวนมากอาจเปลี่ยนใจไม่นำส่งให้แก่ผู้ให้เช่า อาจมีความเป็นไปได้ ดังนั้น การจัดทำประกันภัยให้เหมาะสมจำต้องคำนึงปัจจัยหลายด้านประกอบกันด้วยนะครับ ขอเอาใจช่วยครับ

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: เมื่อการชำระเบี้ยประกันภัยออนไลน์ไม่ช่วยทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองจากไฟไหม้ (Insurance Premium Payment Online Fails Policyholder from Fire)?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น