วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 122 : ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินที่มิใช่ของ (Not Belonging To) ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหมายความถึงอะไร?

(ตอนที่หนึ่ง)

ปัญหาเรื่องการจัดทำประกันภัยระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่ามักเกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เนือง ๆ ทั้งในต่างประเทศและบ้านเรา

ใครควรเป็นผู้ทำประกันภัย? และ

ควรจัดทำประกันภัยประเภทใด?

ผมเองได้รับการสอบถามเรื่องเหล่านี้อยู่เป็นระยะ ล่าสุดไม่กี่วันมานี้ ก็มีคำถามเข้ามาอีก

ถ้าพิจารณาจากหลักการเบื้องต้นที่ผมยึดถือเสมอมา คือ

ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด? ผู้นั้นก็มีส่วนได้เสียและมีหน้าที่จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินเหล่านั้นของตนเอง ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า “การประกันภัยทรัพย์สินของบุคคลที่หนึ่ง (First Party Property Insurance)” โดยถือผู้เอาประกันภัยเป็นบุคคลที่หนึ่ง และบริษัทประกันภัยเป็นบุคคลที่สอง

ทรัพย์สินของบุคคลอื่นจะนำเอามาทำประกันภัยมิได้ เว้นแต่จะจัดทำเป็นประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จึงทำให้บางคราวถูกเรียกว่า “การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก หรือบุคคลที่สาม (Third Party Liability Insurance)” โดยถือบุคคลอื่นเป็นบุคคลที่สามนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทุกหลักการอาจมีข้อยกเว้นได้ เช่นเดียวกับหลักการเบื้องต้นดังกล่าว เอาไว้จะค่อย ๆ หยิบยกนำมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมภายหลังนะครับ

เชื่อว่า ถ้าเราพยายามยึดถือหลักการเบื้องต้นเหล่านี้ ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าน่าจะลดน้อยลงไปได้

แม้กระนั้น กรณีที่เกิดขึ้นจริงอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ มากมายซึ่งอาจก่อให้เกิดคำถามค้างคาใจ ไม่แน่ใจขึ้นมาได้ ดั่งกรณีคดีศึกษานี้ที่ประเทศอังกฤษซึ่งใช้เวลาต่อสู้คดียาวนานเกือบสิบปีทีเดียว

เจ้าของอาคารหลังหนึ่งสูงสี่ชั้นได้ปล่อยให้บริษัท พี มาเช่าตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปชั้นสี่ รวมทั้งหมดสามชั้น โดยจัดทำเป็นสัญญาเช่าระยะยาวนานถึง 999 ปี (นานกว่าสัญญาเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปีเสียอีก) ซึ่งบริษัท พี ผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าช่วงทั้งสามชั้นบนที่จัดเป็นห้องพักได้เจ็ดห้องต่อไปอีกทอดหนึ่ง

ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2010 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นจากภัตตาคารที่อยู่ชั้นล่างและประกอบการโดยเจ้าของอาคารเอง เปลวไฟได้ลุกลามอย่างรุนแรงขึ้นไปชั้นบนจนสร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาคารหลังนั้นทั้งสี่ชั้น ผลการพิสูจน์ไฟไหม้ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าของภัตตาคารและเป็นเจ้าของอาคารหลังนั้นด้วย

โชคดีที่เจ้าของอาคารหลังนั้นได้จัดทำชุดกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกรวมอยู่ในฉบับเดียวกันกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้อยู่แล้ว ดังมีข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นที่สำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

ก) หมวดความคุ้มครองทรัพย์สิน (Material Damage Section)
ระบุคุ้มครองตัวอาคารทั้งสี่ชั้นและทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัยด้วย ในวงเงิน 700,000 ปอนด์ (เป็นวงเงินที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ 900,000 ปอนด์)

ข) หมวดความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกสำหรับเจ้าของสถานที่กับสำหรับผลิตภัณฑ์ (Public & Products Liability Section)
ระบุคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต่อบุคคลภายนอก ทั้งในส่วนชีวิต ร่างกายของบุคคลภายนอก และในส่วนความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 

โดยกำหนดข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัย (not belonging to) เอง หรือที่ผู้เอาประกันภัยครอบครอง ดูแล หรือควบคุมอยู่   

ทันทีที่บริษัทประกันภัยได้รับแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดของชุดกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว จึงได้ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

) ภายใต้หมวดความคุ้มครองทรัพย์สิน ชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ จำนวนเงินทั้งสิ้น 610,000 ปอนด์ (หักส่วนเฉลี่ยการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว)

) ภายใต้หมวดความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ชดใช้ให้แก่ผู้เช่าช่วงทั้งเจ็ดรายซึ่งได้รับความเสียหายครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 225,250 ปอนด์

ก่อให้เกิดความมึนงงและความไม่พอใจอย่างมากแก่บริษัท พี ผู้เช่า ซึ่งก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ทำไมกลับถูกมองข้ามไปได้เสียนี่ จึงได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยรายนี้ให้รับผิดชอบตามชุดกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวในปี ค.ศ. 2016 โดยอ้างว่า

1) เจ้าของอาคารหลังนี้และในฐานะผู้ให้เช่ามีหน้าที่จะต้องจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผู้เช่าจำต้องควักเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเพิ่มเติมอีก 225,000 ปอนด์ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยรายนี้ต้องชดใช้เงินกลับคืนมาให้แก่ตนด้วย

2) บริษัท พี ผู้เช่า วางแผนที่จะทำการปรับปรุงอาคาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีโครงการจะขายห้องทั้งเจ็ดห้องแบบมีภาระผูกพันออกไปแทนที่จะปล่อยให้เช่าช่วงแบบเดิม โดยคาดว่าจะทำให้มีกำไรรวมประมาณ 3,803,721 ปอนด์ แต่จำต้องสูญเสียโอกาสเช่นนี้ไป บริษัทประกันภัยรายนี้ต้องรับผิดชดใช้สำหรับความเสียหายพิเศษนี้ด้วย หรือมิฉะนั้นก็ให้ชดใช้สำหรับการสูญเสียค่าเช่าที่คาดว่าจะได้รับไปทั้งสิ้น 275,000 ปอนด์

อันที่จริง ได้ยื่นฟ้องผู้ให้เช่าด้วย แต่บังเอิญผู้ให้เช่ากลายมาเป็นบุคคลล้มละลาย  ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากมาฟ้องให้บริษัทประกันภัยรายนี้รับผิดชอบแทน

ผลการพิจารณาคดีจะออกมารูปแบบใด? กรุณาอดใจรอติดตามสัปดาห์หน้าครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น