เรื่องที่ 121: ต้องขนาดใดถึงเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive
Total Loss) สำหรับการประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull
Insurance)?
แม้ไม่ใคร่ถนัดเรื่องประเภทการประกันภัยทางทะเล
แต่เห็นมีคดีศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ จึงขอเลือกนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ครอบคลุมทุกประเภทของการประกันวินาศภัย
คดีนี้เป็นเรื่องการประกันภัยตัวเรือ (Marine
Hull Insurance) ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา
พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 อธิบายว่า “การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวเรือ
ไม่ว่าจะเป็นเรือเดินทะเลหรือเรือที่เดินในน่านน้ำ โฮเวอร์คราฟต์ อากาศยาน
รวมทั้งเครื่องจักรและเครื่องใช้ในเรือ โดยทั่วไปการประกันภัยตัวเรือทางทะเลนั้น
ผู้รับประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิด 3 ใน 4 ส่วนของความเสียหายจากเรือโดนกันด้วย (มีความหมายเหมือนกับ hull and machinery
insurance)”
อันจัดเป็นการประกันภัยทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง และมีลักษณะความเสียหายคล้ายคลึงกับการประกันภัยทรัพย์สินปกติทั่วไป
ได้แก่ ความเสียหายบางส่วน ความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง และความเสียหายสิ้นเชิง
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ความเสียหายบางส่วน
คือ เสียหายบางส่วนเล็กน้อย ซ่อมแซมได้ สำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง คือ
เสียหายบางส่วนค่อนข้างมากหรือรุนแรง พอจะซ่อมแซมได้เหมือนกัน แต่ไม่คุ้มนั่นเอง เนื่องจากระดับค่าซ่อมแซมสูงเกือบเท่าหรือใกล้เคียงมูลค่าทรัพย์สินนั้น
สู้จ่ายเต็มมูลค่าไปเลยดีกว่าที่จะมาเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ส่วนความเสียหายสิ้นเชิงนั้นไม่อาจซ่อมแซมได้เลย
พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย
ฉบับราชบัณฑิตยสภาดังกล่าว
แม้จะกำหนดคำนิยามทั่วไปของความเสียหายบางส่วนกับความเสียหายสิ้นเชิงเอาไว้ แต่กลับไม่มีของความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงด้วย
เว้นแต่เป็นของการประกันภัยทางทะเลเท่านั้น ดังนี้
ความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total
Loss) คือ “ความเสียหายบางส่วนแก่วัตถุที่เอาประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการกู้วัตถุนั้นขึ้นจากทะเล
หรือค่าซ่อมแซมหรือปรับปรุง สูงกว่ามูลค่าหลังจากซ่อมแซมปรับปรุงวัตถุนั้นแล้ว
ในการเรียกร้องความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง
ผู้เอาประกันภัยต้องแสดงความจำนงสละทิ้งวัตถุที่เสียหายนั้นให้เป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้ในการประกันภัยทางทะเล”
ตามพจนานุกรมข้างต้นให้ความหมายว่า การที่จะจัดเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงได้นั้น
ไม่อาจพิจารณาจากค่าซ่อมสำหรับความเสียหายบางส่วนโดยลำพังได้ จำต้องนำเอาค่าใช้จ่ายต่าง
ๆ ที่จำเป็น เป็นต้นว่า ค่าใช้จ่ายในการกู้ตัวเรือมาบวกเข้าไปเสียก่อนจนส่งผลทำให้มีจำนวนเงินรวมทั้งหมดสูงกว่ามูลค่าตัวเรือที่กำหนดไว้
ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้เอาประกันภัยแสดงความจำนงสละทิ้งตัวเรือให้ตกเป็นของบริษัทประกันภัยเสียก่อนอีกด้วยอีกขั้นหนึ่ง
อ่านแล้วเราสามารถเข้าใจได้อย่างชัดแจ้งดีไหมครับ?
เนื่องจากครั้นพอเกิดเหตุจริงขึ้นมาล่าสุด ปราฏว่าผู้เอาประกันภัยตัวเรือลำหนึ่งกับบริษัทประกันภัยต่างแปลความหมายดังกล่าวไม่ตรงกันจนเกิดเป็นเรื่องราวกันเกิดขึ้น
ในวันที่ 23
สิงหาคม ค.ศ. 2012 มีเรือที่เอาประกันภัยลำหนึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากไฟไหม้ระหว่างอยู่ในทะเล
ผู้เอาประกันภัยเจ้าของเรือได้ว่าจ้างผู้ช่วยเหลือกู้ภัย (Salvor)
เข้าไปดำเนินการภายใต้สัญญาแบบฟอร์มมาตรฐานของสถาบันลอยด์ว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล
(Lloyd’s
open form; Lloyd’s form of salvage agreement) และมีข้อกำหนดว่าด้วยค่าทดแทนพิเศษ
การได้รับความคุ้มครองและชดใช้
(Special
Compensation, Protection and Indemnity Clause (SCOPI)) ประกอบไว้ด้วย
ในการช่วยเหลือ เรือลำดังกล่าวได้ถูกลากจูงเข้าฝั่งเพื่อขนถ่ายสินค้าลง
และถูกลากจูงต่อไปเพื่อประเมินตรวจสอบสภาพความเสียหายที่แท้จริง
โดยที่ตัวเรือและเครื่องจักรอุปกรณ์ได้จัดทำทุนประกันภัยไว้อยู่ที่ 12
ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายใต้ข้อกำหนด Institute
Time Clauses (Hull) 1/10/83 (ITC) ซึ่งมีเงื่อนไขข้อหนึ่งถอดความได้ว่า “จะไม่ชดใช้ให้สำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total
Loss) อันประกอบด้วยค่าใช้จ่ายส่วนที่รับคืน
(Recovery)
และ/หรือค่าซ่อมแซม
นอกเสียจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นเองมีจำนวนเงินรวมกันแล้วสูงกว่าทุนประกันภัย”
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าส่วนเกิน
(Increased Value Policy) เผื่อไว้อีกเป็นวงเงิน
3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
(พจนานุกรมข้างต้น ให้ความหมายกรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าส่วนเกินนี้ว่า “ในการประกันภัยสินค้าทางทะเล
หมายถึง กรมธรรม์ประกันภัยที่มักจะกำหนดเงื่อนไขให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกและฉบับที่ซื้อเพิ่มร่วมกันเฉลี่ยตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยไม่ให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกต้องรับผิดเต็มมูลค่าก่อน
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับหลังจึงจะชดใช้ให้”)
ทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยไม่อาจตกลงกันได้เรื่องค่าซ่อมซึ่งต่างฝ่ายต่างจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน
เมื่อผู้เอาประกันภัยเห็นว่า
ค่าซ่อมที่คำนวณได้นั้นสูงเกินกว่าทุนประกันภัยของตัวเรืออันถือเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงแล้ว
จึงได้ทำหนังสือแจ้งการสละทิ้ง (Notice
of Abandonment (NOA)) เรือลำนั้นลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013
ส่งมอบให้แก่บริษัทประกันภัยเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าว
(พจนานุกรมข้างต้น ให้ความหมายการแจ้งการสละทิ้ง คือ “การที่ผู้เอาประกันภัยแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบว่า
ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง
และพร้อมที่จะสละทิ้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นให้แก่ผู้รับประกันภัย”)
บริษัทประกันภัยนั้นไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง โดยต่อสู้ว่า ผู้เอาประกันภัยได้ออกหนังสือแจ้งการสละทิ้งฉบับดังกล่าวล่าช้าเกินไป
จึงทำให้สูญเสียสิทธิการเรียกร้องสำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงได้
คงได้เพียงแต่ค่าซ่อมความเสียหายบางส่วนเท่านั้น
ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาล
ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ล้วนต่างเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการชดใช้ในลักษณะของความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงตามฟ้อง
บริษัทประกันภัยยืนกรานตามข้อต่อสู้ของตน และนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาในท้ายที่สุด ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาและวินิจฉัยประเด็นพิพาทต่าง ๆ
ออกมา ดังนี้
1) ประเด็นข้อพิพาทเรื่องการจัดส่งหนังสือแจ้งการสละทิ้งล่าช้าเกินหรือไม่?
เนื่องด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาประเมินค่าซ่อมนั้น
มีขั้นตอนยุ่งยากและจำต้องใช้เวลาพอสมควร ศาลฎีกาเห็นว่า
ช่วงเวลาระหว่างการเกิดความเสียหายกับการจัดส่งหนังสือแจ้งการสละทิ้งนั้น
มีความเหมาะสมดี ไม่ได้ล่าช้าเกินไปดังที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง
2) ประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จะต้องนำมาใช้ในการคำนวณความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง?
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปจริงหรือคาดว่าจะจ่ายในอนาคตทั้งในส่วนของค่าซ่อมกับค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยและการทุเลาความเสียหายต่าง
ๆ นับแต่เวลาเกิดความเสียหายเป็นต้นมา เพื่อสะท้อนหลักการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง
มิใช่เพียงคำนวณค่าใช้จ่ายถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งการสละทิ้งดังที่บริษัทประกันภัยโต้แย้ง
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าทดแทนพิเศษ การได้รับความคุ้มครองและชดใช้
(Special
Compensation, Protection and Indemnity Clause (SCOPI)) แต่ประการใด เพราะได้กำหนดอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ค่าใช้จ่ายนี้คือ
ค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นซึ่งเจ้าของเรือต้องจ่ายให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
ในกรณีที่เรือหรือทรัพย์สินบนเรือคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม
อันไม่เกี่ยวข้องกับค่าซ่อมแซมหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเอง
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Sveriges Angfartygs Assurans Forening (The Swedish Club) v Connect Shipping Inc [2019] UKSC 29))
คดีศึกษาเรื่องต่อไป: ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินที่มิใช่ของ (Not Belonging To) ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหมายความถึงอะไร?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น