วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 120: ตราบใดรถยังไม่ได้ถูกขับเคลื่อนออกไป ยังไม่อาจถือได้ว่ามีความผิดฐานขโมยรถใช่หรือไม่?

 

การขโมยรถหรือการลักรถในบ้านเรา หรือที่ต่างประเทศเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นกันได้มากมายไม่แตกต่างกัน ขนาดบางประเทศตั้งอยู่บนเกาะ คดีขโมยรถเป้าหมายเพื่อนำออกไปขายยังต่างประเทศก็เกิดขึ้นได้อยู่บ่อย ๆ

ประเด็นปัญหาคดีศึกษาเรื่องนี้มีข้อโต้แย้งในการแปลความหมายของการลักทรัพย์ (Theft) ซึ่งตามกฎหมายแห่งประเทศอังกฤษกับของประเทศไทยมีหลักกฎหมายคล้ายคลึงกัน จึงขอยกหลักกฎหมายไทยเทียบเคียงแทน โดยมาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายบัญญัติว่า

ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ (Whoever, dishonestly taking away the thing of other person or which the other person to be co-owner to be said to commit the theft) .........

เมื่อพิจารณาถ้อยคำของกฎหมายนี้ตรงที่ระบุว่า “ไปโดยทุจริต (dishonestly taking away)” ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความสำหรับกรณีการขโมยรถหรือการลักรถว่า ความผิดนี้จะสำเร็จต่อเมื่อ

1) คนร้ายเข้าไปนั่งในรถตรงผู้ขับขี่แล้ว และ/หรือ
2) คนร้ายต้องนั่งตรงตำแหน่งผู้ขับขี่ และสตาร์ทรถแล้วด้วย และ/หรือ
3) คนร้ายต้องขับเคลื่อนรถออกไปด้วยเสียก่อน

กล่าวคือ ต้องเข้าองค์ประกอบข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หรือจำต้องครบทุกข้อเท่านั้น

เรื่องราวของคดีนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ

ช่วงเย็นวันหนึ่ง ผู้เอาประกันภัย นาย เอ กับเพื่อนอีกสองคนได้นั่งกินเหล้าร่วมกัน ครั้นจนถึงประมาณตีหนึ่ง ผู้เอาประกันภัย นาย เอ และเพื่อนหนึ่งในสองคนได้เข้าไปนั่งในรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย โดยมีนายเอ เป็นคนขับ และผู้เอาประกันภัยนั่งเคียงข้างไปด้วยบนเบาะหน้า เนื่องด้วยความเมา นาย เอ ซึ่งขับรถด้วยความเร็วได้วิ่งไปชนเกาะกลางถนน (central reservation) จนรถเสียหลักพลิกคว่ำหลายตลบก่อนที่ไปชนเข้ากับประตูเหล็กของสถานที่แห่งหนึ่ง ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงทางสมอง และได้มาฟ้องเรียกร้องให้นายเอ กับบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุครั้งนี้

สำหรับกฎหมายเกี่ยวข้องซึ่งได้ถูกอ้างอิงในคดีนี้ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก ค.ศ. 1988 ได้กำหนดว่า กรณีที่ความสูญเสียหรือความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัย ให้ความรับผิดของผู้รับประกันภัยขยายรวมไปถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัยนั้นด้วย หากศาลเห็นว่า การกระทำของผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัยนั้นจะได้รับความคุ้มครองภายใต้การประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ เสมือนหนึ่งเป็นผู้ขับขี่ที่มีประกันภัยนั้นเอง ทั้งนี้ โดยผลของกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้รับประกันภัยไม่จำต้องรับผิดสำหรับกรณีดังต่อไปนี้

ความรับผิดสำหรับการเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดซึ่งในช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดความรับผิดนั้น ได้ยินยอมให้ตนถูกนำพาไป หรือเข้าไปอยู่ในรถคันนั้นเอง โดยที่รับรู้หรือควรได้รับรู้ว่ารถคันนั้นถูกลักมาหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต แต่ไม่รวมถึงบุคคลผู้ซึ่ง

(ก) ไม่รู้และไม่มีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักมาหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริตจนกระทั่งเริ่มต้นการเดินทางนั้นเอง และ
(ข) ไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควรว่า ตนจะสามารถออกจากรถคันนั้นได้

ผู้เอาประกันภัยให้การตนจำได้ว่าตนเมาจนไม่อาจขับรถได้ จึงให้เพื่อนขับแทน โดยมีเพื่อนอีกคนที่นั่งไปด้วยให้การสอดคล้องกันว่า ผู้เอาประกันภัยกับนาย เอ ต่างถกเถียงกันถึงเรื่องใครควรขับรถคันดังกล่าว แต่มิได้พูดถึงว่าผู้เอาประกันภัยได้พยายามห้ามมิให้นาย เอ ขับรถหรือเปล่า? เพียงแต่ได้บอกให้นาย เอ ขับรถช้าลงหน่อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยยังจำได้ว่า นาย เอ ได้ล้วงกระเป๋าเอากุญแจรถของตนไปทั้งที่ตนได้พยายามบอกไปแล้วว่ายังสามารถขับรถเองได้อยู่ แต่ท้ายสุดก็ยอมให้นาย เอ  ขับรถแทนได้ยังไงก็ไม่รู้ หากว่านาย เอ มิได้เมาและมีประกันภัยคุ้มครองอยู่ และจำได้อีกว่า บอกให้นาย เอ ขับรถช้าลงได้ไหม? 

สรุปได้ว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ส่งมอบกุญแจให้นาย เอ แต่นาย เอ ได้ล้วงออกจากกระเป๋าไปเอง ทั้งผู้เอาประกันภัยมิได้อนุญาตให้นาย เอ ขับรถ แต่ด้วยความเมาของตนเอง จึงมิได้ทำอะไรเพื่อหยุดการกระทำของนาย เอ เพียงแต่มุดตัวเข้าไปนั่งในรถประกบข้างเท่านั้น

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงได้ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดของตนโดยอ้างว่า

ช่วงเวลาตีหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยรู้สึกตัวว่าเมาจนไม่อยู่ในสภาพที่จะขับรถได้ ตั้งใจจะนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านแทน แล้วค่อยกลับมาเอารถของตนวันรุ่งขึ้น

แต่ขณะอยู่ตรงที่จอดรถ นาย เอ ได้ล้วงหยิบเอากุญแจรถไปโดยตนไม่ยินยอม

ทั้งเข้าไปในรถและเริ่มสตาร์ทรถโดยปราศจากความยินยอมของตนด้วยเช่นกัน

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยจำต้องเข้าไปนั่งประกบข้างบนเบาะหน้า

โดยมีเจตนาเพียงเพื่อห้ามมิให้นาย เอ ขับรถออกไปเท่านั้น แต่ก็มิอาจทำเช่นนั้นได้เลย ช่วงเวลาที่อยู่บนรถคันนั้น ตนไม่ได้เต็มใจจะอยู่ในสภาพของผู้โดยสารแต่ประการใด

ประเด็นความรับผิด

บริษัทประกันภัยอ้างจากคำให้การดังกล่าวว่า ตนไม่ควรต้องรับผิด เพราะความบาดเจ็บของผู้เอาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ได้ยินยอมนำตนเองเข้าไปอยู่ในรถคันนั้น ทั้งที่รับรู้และมีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไป หรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต

ขณะที่ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่าตนไม่รู้และไม่มีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไปหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริตจวบจนกระทั่งเริ่มต้นการเดินทางนั้นเอง และตนไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควรเลยว่า ตนจะสามารถออกจากรถคันนั้นได้ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวตนไม่เคยยินยอมเป็นผู้โดยสารแต่ประการใด

บริษัทประกันภัยยอมรับฟังว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยไปอยู่ในรถแล้ว โอกาสที่จะพาตัวออกมานั้นไม่มี

อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาถึงการรับรู้และมีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไปหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต (unlawfully taking) จะบังเกิดผลตั้งแต่เมื่อใด?

พยานฝ่ายบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยตีความว่า การที่นาย เอ ล้วงเอากุญแจรถ และเข้าไปอยู่ในรถคันนั้นเพียงพอที่จะถือว่าเป็นการยึดถือการครอบครองโดยทุจริต (unlawfully taking) แล้ว รวมตลอดจนถึงตัวผู้โดยสารที่ได้พาตนเองเข้าไปอยู่ภายในรถคันนั้นด้วย ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนรถออกไปเสียก่อน

ขณะพยานฝ่ายผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ได้โต้แย้งว่า ตราบใดที่ยังมิได้ขับเคลื่อนรถออกไป จะถือเป็นการเข้ายึดถือครอบครองรถคันนั้นได้อย่างไร? จำต้องมีการขับเคลื่อนรถคันนั้นประกอบไปด้วย จึงถือได้ว่ามีการยึดถือการครอบครองโดยทุจริตอย่างแท้จริง

ศาลในคดีนี้เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า การหยิบเอากุญแจรถไป การเข้าไปนั่งตรงที่นั่งผู้ขับขี่ หรือรวมถึงการสตาร์ทเครื่องด้วยนั้น ทั้งหมดนี้ยังไม่อาจถือมีการยึดถือการครอบครองโดยทุจริตอย่างแท้จริง จำต้องมีการขับเคลื่อนรถคันนั้นประกอบไปด้วย

ส่วนประเด็นการยินยอมให้ตนเป็นผู้โดยสาร

ศาลไม่เห็นด้วยกับพยานฝ่ายจำเลยที่กล่าวว่า การพาตนเองเข้าไปอยู่ภายในรถ เรียกได้ว่ายินยอมให้ตนมีสถานะเป็นผู้โดยสารได้เลยนั้น

ศาลเห็นคล้อยตามพยานฝ่ายโจทก์ซึ่งหยิบยกตัวอย่างประกอบว่า ถ้าคิดเช่นนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า คนที่ถูกลักพาตัวไปบนรถ หรือตำรวจที่มุดตัวเข้าไปในรถคนร้ายเพื่อทำการจับกุม ก็ล้วนกลายเป็นผู้ยินยอมให้ตนเป็นผู้โดยสารด้วยนั้น ไม่น่าถูกต้อง จำต้องพิจารณาจากข้อความจริงแต่ละกรณีประกอบด้วย

ด้วยเหตุที่พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลรับฟังได้อย่างปราศจากสิ้นข้อสงสัย ดังที่จำเลยกล่าวโต้แย้ง ศาลจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทย์ตามฟ้อง

เรื่องนี้น่าจะจบลงเพียงเท่านี้

แต่ปรากฏนาย เอ กลับไปเรียกร้องเงินจากบริษัทประกันภัยอีกว่า ตนเป็นผู้โดยสารและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งที่ได้ให้การในคำฟ้องว่า ตนเป็นผู้ขับขี่ จึงถูกบริษัทประกันภัยแจ้งความโทษฐานฉ้อฉล โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุกหกเดือนและยังถูกปรับอีกด้วย

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Sarfraz v Akhtar & Anor (2020) EWHC 782 (QB) และบทความ Fraudster who made £45K bogus injury claim for crash he caused is jailed following ERS investigation, By louise.naqvi)

ลองเทียบเคียงกับแนวตัวอย่างคำพิพากษาศาลฏีกาของไทยคดีลักรถดูนะครับ

คำพิพากษาที่ 1280/2555
จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์ของผู้เสียหาย โดยหลอกจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยกมายกรถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยกมาจอดด้านหน้ารถยนต์ผู้เสียหายและยกรถยนต์ผู้เสียหายด้านหน้าขึ้นเกยบนคานรถยก ใช้โซ่คล้องรถทั้งสองคันไว้ในลักษณะรถยกพร้อมจะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เข้ายึดถือและแย่งสิทธิครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไปได้โดยสมบูรณ์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่อยู่ในขั้นพยายาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2551
จำเลยขึ้นนั่งคร่อมและเข็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจุดที่จอดเดิมประมาณ 1 เมตร แต่จำเลยยังไม่ทันติดเครื่องรถขับเอาไปเพราะผู้เสียหายมาพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไป ถือได้ว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองและเอาทรัพย์เคลื่อนไปในลักษณะที่พาเอาไปได้ เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: ต้องขนาดใดถึงเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total Loss) สำหรับการประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance)?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น