เรื่องที่ 119: เมื่อประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับประกันภัยตรง (Direct Insurance) ไม่ล้อไปด้วยกัน
ปัญหาจะตกอยู่ที่ใครเอ่ย?
ในธุรกิจประกันภัยมีคำกล่าวว่า
หากการประกันภัยตรงถือเป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนความเสี่ยงภัยของตนไปให้แก่บริษัทประกันภัยรับผิดชอบแทน
การประกันภัยต่อก็เปรียบเสมือนเป็นการกระจายความเสี่ยงภัยที่ได้รับมานั้นของบริษัทประกันภัยส่งต่อไปให้ผู้รับประกันภัยต่อมาช่วยแบ่งเบาภาระไปอีกทอดหนึ่ง
หรือหลาย ๆ ทอดต่อกันไปแล้วแต่กรณี
เวลาเมื่อเกิดความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครองขึ้นมา
ทุกบริษัทประกันภัยซึ่งรับต่อเป็นทอด ๆ กันมา ก็จะนำส่งเงินส่วนที่ตนรับผิดชอบต่อกันเป็นทอด
ๆ นั้นรวบรวมมาจนถึงบริษัทประกันภัยแรกสุดเพื่อนำไปชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ท้ายที่สุด
ฉะนั้น
แต่ละช่วงต่อเป็นทอด ๆ นั้นจำต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองให้สอดคล้องถูกต้องตรงกันด้วย
มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ดั่งเช่นคดีศึกษาต่อไปนี้
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างฐานขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่งได้จัดทำประกันภัยก่อสร้างพิเศษเอาไว้กับบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง
(ต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัทประกันภัยตรง M”) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับโครงการก่อสร้างนอกชายฝั่งทะเล
(Offshore Construction All Risks Project
Policy) ที่รู้จักกันว่า “แบบความคุ้มครอง WELCAR 2001” ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งในส่วนของความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและส่วนความรับผิดตามกฎหมาย
บริษัทประกันภัยตรง
M นั้น
ได้จัดทำประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) ไว้กับผู้รับประกันภัยต่อเจ้าหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัทประกันภัยต่อ A”)
เนื่องจากโครงการก่อสร้างนี้มิอาจทำเสร็จได้ทันระยะเวลาก่อสร้างที่ได้กำหนดไว้
(Project Period) ตามสัญญาว่าจ้างเดิมระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2011 ถึงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2014 จำต้องขยายระยะเวลาออกไปรวมสามครั้งจวบจนถึงวันที่ 31
ธันวาคม ค.ศ. 2018
และได้มีการส่งมอบงานที่เสร็จสมบูรณ์นั้นให้แก่เจ้าของโครงการผู้ว่าจ้างในวันถัดไป
คือ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2019
ทั้งนี้
ได้มีข้อตกลงขยายความคุ้มครองถึงช่วงระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance
Period) เอาไว้ด้วยเป็นระยะเวลา 12
เดือนนับต่อเนื่องไปตั้งแต่วันที่ระยะเวลาก่อสร้างโครงการได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว
เพื่ออุดช่องว่างระหว่างรอยต่อของความคุ้มครองช่วงก่อสร้างกับช่วงสร้างเสร็จแล้วซึ่งจะไปอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินระหว่างดำเนินงาน
(Operation Phase)
ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่โครงการนี้
คือ ช่วงระหว่างการก่อสร้างปี ค.ศ. 2015 ได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งบริษัทประกันภัยตรง
M ตกลงรับผิดชอบให้เป็นวงเงินประมาณ 26 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
โดยได้ไปเรียกเก็บเงินตามส่วนที่ได้จัดทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยต่อ A
แต่ถูกปฏิเสธกลับมาเนื่องจากบริษัทประกันภัยต่อ
A ได้อ้างว่า ตนไม่เคยได้รับแจ้งถึงการขยายระยะเวลาก่อสร้างเลย
ดังนั้น ความรับผิดของตนได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาก่อสร้างดั้งเดิมตามสัญญาว่าจ้าง
ณ วันที่ 30 กันยายน
ค.ศ. 2014 แล้ว
บริษัทประกันภัยตรง
M โต้แย้งกลับไปว่า
ยังงั้นก็เถอะ ความเสียหายดังกล่าวยังคงอยู่ในภายในช่วงระยะเวลาบำรุงรักษาที่บริษัทประกันภัยต่อ
A จำต้องรับผิดอยู่ดีนั่นแหละ
บริษัทประกันภัยต่อ
A ได้ตอบโต้ว่า เมื่องานตามสัญญาว่าจ้างยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์
จะไปนับช่วงระยะเวลาบำรุงรักษาได้อย่างไร? ถ้าจะนับได้จริงต้องเป็นในปี ค.ศ. 2019 โน่น
เมื่อสองฝ่ายคุยกันไม่รู้เรื่องและตกลงกันไม่ได้
จึงเกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง
ๆ ที่นำเสนอ แล้ววินิจฉัยว่า แนวทางวิธีปฏิบัติปกติทางธุรกิจประกันภัย การประกันภัยต่อจะต้องล้อตามการประกันภัยตรง
หากปรากฏโครงการก่อสร้างต้องล่าช้าจากหมายกำหนดการที่ตกลงไว้เดิม
ผู้เอาประกันภัยจำต้องเจรจาขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปกับบริษัทประกันภัยตรง M เสียก่อน ซึ่งบริษัทประกันภัยตรง M มีหน้าที่จะต้องร้องขอความเห็นชอบจากบริษัทประกันภัยต่อ A เสียก่อนเช่นกันก่อนที่จะไปตกลงกับผู้เอาประกันภัยได้ แต่น่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้นมาในคดีนี้
ทำให้ไม่มีการแจ้งให้บริษัทประกันภัยต่อ
A รับทราบและให้ความเห็นชอบแต่ประการใด
สำหรับประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องช่วงระยะเวลาบำรุงรักษานั้น ถ้อยคำของเงื่อนไขนี้ชัดเจนดีอยู่แล้วจะมีผลเริ่มต้นความคุ้มครองได้ต่อเมื่องานตามสัญญานั้นได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์และได้ส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้วเท่านั้น
เพราะช่วงระยะเวลาบำรุงรักษานี้เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “ระยะเวลารับประกันผล งานของผู้รับเหมา หรือช่วงเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง
(หลังส่ง มอบงาน) (Defects Liability
Period)” หรือ
“ช่วงระยะเวลาแจ้งความชำรุดบกพร่อง (Defects
Notification Period)” ตราบใดที่งานตามสัญญานั้นยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์และยังมิอาจส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างได้
ตราบนั้นระยะเวลาบำรุงรักษาก็ไม่สามารถเริ่มนับได้
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยต่อ
A ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทประกันภัยตรง M
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี
Munich Re Capital Limited v Ascot Corporate
Name Limited [2019] EWHC 2768 (Comm))
สำหรับคำถามที่ว่า
ปัญหาจะตกอยู่ที่ใคร? บริษัทประกันภัยตรงจะอ้างต่อผู้เอาประกันภัยได้ไหมว่า ขอชดใช้ไม่เต็มตามความเสียหายที่แท้จริง
เพราะไม่สามารถเรียกเก็บเงินบางส่วนจากบริษัทประกันภัยต่อได้ คำตอบ คือ คงใช้อ้างไม่ได้
เนื่องจากสัญญาประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตรงเป็นคนละสัญญากับสัญญาประกันภัยต่อระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อ
คดีนี้มองไปที่เม็ดเงินแล้ว
เชื่อว่าเป็นบทเรียนราคาแพงเหลือหลายนะครับ
คดีศึกษาเรื่องต่อไป: บทเรียนบริษัทประกันภัยจากคดีฉ้อฉลประกันภัยรถยนต์
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น