วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 118: เมื่อคนกับรถและหมามาเชื่อมโยงกัน มันก็เกิดการโยนกลองกันขึ้น


โยนกลอง” เป็นสำนวนไทย มีความหมายถึงการปัดภาระไปให้ผู้อื่น (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

แต่เรื่องนี้มีที่มาเทียบเคียงจากคดีศึกษาของต่างประเทศ

สามีภรรยาคู่หนึ่งขับรถพาเพื่อนมาเที่ยวบ้านของตนเอง เมื่อได้นำรถเข้ามาจอดภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว หมาตัวน้อยที่คู่สามีภรรยานี้เลี้ยงไว้ก็เข้ามาทักทายทั้งคู่ด้วยความดีใจทันทีที่ทั้งคู่ลงมาจากรถคันนั้น แต่ครั้นมันเหลือบไปเห็นขาข้างหนึ่งที่เพิ่งหย่อนลงสู่พื้นตรงประตูฝั่งผู้โดยสาร และยังไม่ทันสิ้นสุดคำถามจากเพื่อนที่ว่า “มันไม่กัดนะ” หมาน้อยตัวนั้นก็วิ่งตรงเข้าไปงับขาข้างนั้นอย่างฉับพลัน

ภายหลังจากดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นและนำเพื่อนไปทำแผลพร้อมฉีดยากันพิษสุนัขบ้าเผื่อเอาไว้ ณ โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยคู่สามีภรรยานี้ได้กล่าวคำขอโทษต่อเพื่อนและแจ้งว่า เดี๋ยวจะแจ้งให้บริษัทประกันภัยมารับผิดชอบให้ ซึ่งพวกตนได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเอาไว้สองฉบับจากบริษัทประกันภัยต่างรายกัน กล่าวคือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทำไว้กับบริษัทประกันภัยเจ้าหนึ่ง กับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน (คุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบวกด้วยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก) ไว้กับอีกเจ้าหนึ่ง 

ครั้นพอบริษัทประกันภัยทั้งสองรายได้รับทราบเรื่องราวแล้ว ต่างเกิดประเด็นโต้แย้งกันขึ้นมาทันที
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดควรรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว?

1) บริษัทประกันภัยรถยนต์อ้างว่า

หมาที่บ้านของผู้เอาประกันภัยวิ่งไปกัดบุคคลภายนอกผู้เสียหายภายในบ้านหลังนั้นเอง ดังนั้น ถือว่า เป็นความรับผิดตามกฎหมายโทษฐานละเมิดของเจ้าของบ้านทั้งยังเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นด้วยดั่งที่ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 433 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อันส่งผลทำให้ตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

2) บริษัทประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านได้โต้แย้งว่า

ขณะเกิดเหตุดังกล่าว บุคคลภายนอกผู้เสียหายยังอยู่ในสถานะเป็นผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้น เพราะอยู่ระหว่างขณะกำลังลงจากรถ แค่เท้าข้างหนึ่งเหยียบพื้นเท่านั้น ตัวของผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังอยู่ภายในรถและสัมผัสตัวรถอยู่ โดยยังมิได้ลงมาและออกจากรถโดยสมบูรณ์เลย จึงตกอยู่ภายใต้ความคุ้มครองในหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งระบุว่า

ข้อ 1.  ข้อตกลงคุ้มครอง
           บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย ดังนี้
            1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย  บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น
           ………………………………………………
           บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม 1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น

อนึ่ง นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านยังได้มีข้อยกเว้นระบุเอาไว้ด้วยอีกว่า

การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง

1. การเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือความบาดเจ็บของสมาชิกในครอบครัว หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย
2. ………………………………
3. ความบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมจาก
   . ………………………………
   . ………………………………
   . ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ อากาศยาน หรือยานพาหนะ

ฉะนั้น บริษัทประกันภัยรถยนต์จำต้องรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

คุณมีความเห็นเช่นใดบ้างครับ?

ท้ายที่สุดเรื่องนี้ได้ถูกนำขึ้นเป็นคดีสู่ศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านว่า ณ เวลาที่ถูกหมาน้อยนั้นกัด บุคคลภายนอกผู้เสียหายยังคงมีสถานะเป็นผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้นอยู่ตราบเท่าที่ยังมิได้พาตัวเคลื่อนออกจากตัวรถยนต์คันนั้นโดยสมบูรณ์ ถือได้ว่า เป็นอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง อันผู้ขับขี่ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบาดเจ็บทางร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกนั้นเอง

ฝ่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยเหตุผลดังนี้

(1) ตัวรถยนต์คันที่เกิดเหตุมิได้ก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายโดยตรงแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้น เพียงมีส่วนร่วมแค่เป็นจุดที่เกิดเหตุเท่านั้น จึงยังไม่ถือว่า มีสาเหตุเนื่องจากการใช้รถ หรือใช้ทางตามวัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ อันจะส่งผลทำให้ผู้ขับขี่ต้องรับผิดตามกฎหมายแต่ประการใด

(2) เช่นเดียวกันก็มิได้ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นข้อที่ 3. ค. ของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านด้วย เพราะความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นมาจากยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

(3) สัตว์เลี้ยงของผู้เอาประกันภัยต่างหากที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายโดยตรงแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้น อันเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าของสัตว์นั้นเองมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูแลรักษา

และมีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นกลับไปพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Century Mutual Insurance v. League General Insurance (Mich. Ct. App. 1995))  

หากเกิดคดีลักษณะนี้ที่บ้านเรา ผลของคดีน่าจะออกมาไม่แตกต่างกันนะครับ

ส่วนเรื่องต่อไปจะเกี่ยวกับอะไร? โปรดรอติดตามครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น