วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 117: ความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากไวรัสโรคติดต่อ (Business Interruption Insurance Coverage stemming from Communicable Diseases)


(ตอนที่สอง)

กรณีที่ศาลตีความว่า การปนเปื้อนไวรัสโควิด – 19 ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และมิได้ตกอยู่ในข้อยกเว้น ก็จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย แต่ค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับคงเป็นเพียงค่าใช้จ่ายทำความสะอาดเท่านั้น โดยไม่จำต้องอาศัยเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ มาช่วย

สำหรับประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ คือ กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัยไม่เสียหาย

ก) แต่จำต้องหยุดประกอบกิจการไป เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานราชการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือ

ข) พื้นที่ใกล้เคียงมีความเสี่ยงภัยจากไวรัสโควิด-19 เลยส่งผลทำให้ลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการหายหน้าไป ธุรกิจจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

เช่นนี้ จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้หรือเปล่าหนอ?

กรณีเหล่านี้ต้องอาศัยเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการขยายความคุ้มครองเสริมเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ จะต้องส่งผลกระทบโดยตรงทางธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น

(1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยโรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน (Notifiable Diseases Clause) 

ถ้อยคำที่ใช้กันอยู่ในตลาดประกันภัยจะแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ ได้แก่ ลักษณะถ้อยคำที่จำกัดเฉพาะโรคภัยต่าง ๆ ที่ระบุไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ได้รวมถึงไวรัสโควิด – 19 แน่ ๆ เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่เพิ่งถูกค้นพบเวลานี้ และลักษณะถ้อยคำที่ไม่จำกัดโรคภัย

หากใช้เงื่อนไขพิเศษนี้เป็นลักษณะถ้อยคำที่ไม่จำกัดโรคภัย ถือว่ารวมถึงไวรัสโควิด – 19 ด้วย ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในลักษณะความเสียหายทางกายภาพ ทั้งยังทำให้ธุรกิจที่เอาประกันภัยหยุดชะงักไป เช่นนี้ จะได้รับความคุ้มครองทั้งกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย และภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

(2) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งของหน่วยงานราชการ (Public/Civil Authority Clause)

การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งห้ามเข้าอาณาบริเวณสถานที่เอาประกันภัยหรืออาณาเขตใกล้เคียงภายในระยะรัศมีที่กำหนดไว้ อันมีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครองด้วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้เช่นกัน ถ้าไม่จำกัดถึงภัยที่คุ้มครองไว้ ก็ถือว่า สามารถให้ความคุ้มครองถึงได้

(3) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการปิดกั้นหรือการห้ามเข้า-ออกสถานที่ประกันภัย (Prevention/Denial of Access Clause)

เกิดความเสียหายแก่สถานที่อื่นใกล้กับสถานที่เอาประกันภัย ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ ภายในรัศมีที่กำหนด ส่วนจะต้องมีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครองด้วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้เช่นกัน ถ้าไม่จำกัดถึงภัยที่คุ้มครองไว้ ก็ถือว่า สามารถให้ความคุ้มครองถึงได้

(4) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยความเสียหายแก่สถานที่พึ่งพา (Loss of Attraction Clause)

คล้ายกับข้อ (3) ต่างตรงที่สถานที่เอาประกันภัยจำต้องอาศัยพึ่งพาสถานที่หลักอื่นเพื่อประกอบธุรกิจที่ประกันภัย เช่น ร้านค้าซึ่งเป็นสถานที่เอาประกันภัยตั้งอยู่ในศูนย์การค้า หรืออยู่ใกล้กับสวนสนุก แม้ร้านค้านั้นไม่เสียหาย แต่ศูนย์การค้าหรือสวนสนุกดังกล่าวได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการชั่วคราว และส่งผลกระทบทางการเงินต่อร้านค้านั้น เป็นต้น ปัจจุบันนี้ ถ้อยคำค่อนข้างจำกัด คือ นอกจากสถานที่พึ่งพาดังกล่าวจะต้องเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแล้ว ยังกำหนดอาณาเขตระยะห่างจากร้านค้าที่เอาประกันภัยเอาไว้อีก เนื่องจากเคยได้รับบทเรียนมาแล้วครั้งสมัยเหตุการณ์สึนามิ

ผู้เชี่ยวชาญประกันภัยต่างประเทศหลายท่านแสดงความเห็นว่า ถึงแม้อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ข้างต้น แต่เชื่อว่า ค่าเสียหายคงไม่สูงมาก เพราะเพียงจะได้รับการชดใช้เฉพาะค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นจากภัยของไวรัสโควิด – 19 (หากคุ้มครอง) เท่านั้น

 

ทำให้ช่วงนี้ ผมได้รับคำถามจากบางท่านสอบถามมาว่า จะสามารถปรับลดทุนประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม? เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ผลประกอบการคงไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้แน่ ๆ


ผมขอแนะนำว่า หากปรับลดผลประกอบการลงจากเดิมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ไม่จำเป็น เพราะเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานบ้านเรา ภายใต้ข้อกำหนดเฉพาะแบบที่ 1 กำไรขั้นต้น (เกณฑ์ผลต่าง) หรือแบบอื่น ๆ แม้ไม่ขอปรับลดทุนประกันภัยระหว่างปี ก็เปิดช่องให้สามารถรับชำระเบี้ยประกันภัยคืนได้ไม่เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังระบุไว้ในบันทึกข้อที่ 2 เงื่อนไขว่าด้วยการคืนเบี้ยประกันภัย

สิ่งที่ผมเป็นห่วงแทนมากกว่าจะเป็นเรื่องเงื่อนไขการระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยมากกว่า โดยเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น ความคุ้มครองทั้งหมดจะจบสิ้นลงทันที ซึ่งปัญหาการตีความว่า การลดกำลังการผลิต การหยุดประกอบกิจการชั่วคราว หรือการเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น จะถือว่า จะส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงหรือไม่? ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากมาย และทุกครั้งที่ผมได้ตั้งประเด็นคำถามเหล่านี้ขึ้นมาเวลาอบรมให้ความรู้

ขอให้สอบถามให้มั่นใจจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยของท่าน หรือบริษัทประกันภัยของท่านโดยตรง เพื่อความมั่นใจ อย่าเป็นเพียงแค่คุยด้วยวาจาเท่านั้นนะครับ เพราะเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยเองได้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลบังคับได้จะต้องอยู่ในรูปของเอกสารประกันภัยเท่านั้น เอาใจช่วยครับ

ส่วนเรื่องต่อไปจะเกี่ยวกับอะไร? โปรดรอติดตามก็แล้วกันครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น