วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 117: ความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากไวรัสโรคติดต่อ (Business Interruption Insurance Coverage stemming from Communicable Diseases)


(ตอนที่หนึ่ง)

โดยหลักทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะถูกจัดทำควบคู่กับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน หากมิได้พร้อมกัน ก็ควรจัดทำเป็นลำดับหลังจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน โดยกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดให้ตรงกัน เพื่อที่ว่าในเวลาต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับปีถัดไป จะได้เริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมกัน เนื่องจากเงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะกำหนดให้มีผลเริ่มคุ้มครองต่อเมื่อความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะได้รับความคุ้มครองแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อนว่า

(1) ภัยที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินได้ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายโดยตรงแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้นั้นหรือเปล่า? และ

(2) ความสูญเสียหรือความเสียหายโดยตรงที่มีแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้นั้นเป็นความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับถ้อยคำที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นเกณฑ์สำคัญด้วย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไป ดั่งที่กล่าวไว้ในเรื่องที่ผ่านมา ในคดีที่ศาลต่างประเทศตีความความเสียหายทางกายภาพเป็นแบบแคบ ผู้เอาประกันภัยจะพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไปด้วย 

แต่สำหรับคดีที่ศาลต่างประเทศตีความเป็นแบบกว้าง มักจะผ่านข้อยกเว้นเรื่องการปนเปื้อน หรือมลภาวะได้อย่างฉลุย เพราะศาลเห็นว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวกำกวมและไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้มีส่วนร่างถ้อยคำเหล่านั้นขึ้นมา ทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทั้งจากสองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

ปัญหาปวดหัวของประเทศสหรัฐอเมริกาเวลานี้ คือ ภายหลังเหตุการณ์การระบาดของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) เมื่อปี พ.ศ. 2546 กรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานทั้งสองฉบับได้ระบุข้อยกเว้นอย่างชัดเจนถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึงฝ่ายบริษัทประกันภัยตั้งป้อมสู้อย่างเต็มที่ ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเองพยายามยื่นฟ้องให้ศาลตีความว่า กรณีไวรัสโควิด-19 จะตกอยู่ในข้อยกเว้นดังว่านั้นหรือไม่?

ประเด็นอีกข้อหนึ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่ คือ กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัยไม่เสียหาย

ก) แต่จำต้องหยุดประกอบกิจการไป เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานราชการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือ

ข) พื้นที่ใกล้เคียงมีความเสี่ยงภัยจากไวรัสโควิด-19 เลยส่งผลทำให้ลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการหายหน้าไป ธุรกิจจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

เช่นนี้ จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้หรือเปล่าหนอ?

ขอยกยอดไปคุยต่อตอนหน้านะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น