เรื่องที่ 124
: เรื่องวุ่น ๆ ของการประกันภัยก่อสร้าง (Construction
Insurance) เมื่อความเสี่ยงภัยทุกชนิด มิได้หมายถึงความเสียหายทุกกรณี
เป็นที่รับรู้ว่า
การประกันภัยก่อสร้าง (Construction
Insurance) หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All
Risks Insurance) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “การประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา
(Contract
Works Insurance)” นั้น
ทั้งหมดจะให้ความคุ้มครองในรูปแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks)
ถ้อยคำซึ่งฟังแล้วดูดีมากและชวนเคลิบเคลิ้มนั้น
น่าเสียดายที่มักกลับสร้างความนึกคิดผิด ๆ อยู่บ่อยครั้ง
เหมือนดั่งเช่นที่เกิดเป็นคดีข้อพิพาทเรื่องนี้
ผู้ว่าจ้างได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาให้ก่อสร้างอาคารร้านค้าหลังหนึ่งขึ้นมา
ภายหลังจากได้รับมอบงานที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจากผู้รับเหมาดังกล่าวและใช้งานไปได้เป็นปีแล้ว
ผู้ว่าจ้างได้พบปัญหาวัสดุพรมแผ่นปูพื้น (carpet tiles) เกิดหลุดร่อนออกมาจำนวนมาก และได้นำเรื่องยื่นฟ้องให้ผู้รับเหมานั้นรับผิดชอบ
เนื่องจากผู้รับเหมารายนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองงานก่อสร้างนี้เอาไว้ตามข้อกำหนดของสัญญาว่าจ้าง
จึงได้ทำการเรียกให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีด้วย
คดีนนั้นสามารถตกลงกันได้ด้วยการที่ผู้ว่าจ้างได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น
1,300,000
ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ในส่วนของ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐตกอยู่ในส่วนความรับผิดของบริษัทประกันภัยตามวงเงินความคุ้มครองสูงสุดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยก่อสร้างฉบับดังกล่าว
ต่อมา บริษัทประกันภัยเป็นโจทก์นำเรื่องยื่นฟ้องเรียกจำนวนเงินดังกล่าวนั้นคืนจากผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างและตกเป็นจำเลยในคดีนี้
โดยอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องของผู้ว่าจ้างนั้น
มิใช่อุบัติเหตุอันที่จะทำให้ได้รับความคุ้มครองได้ แต่เกิดจากความจงใจของผู้เอาประกันภัยมากกว่า
การที่บริษัทประกันภัยจำต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปนั้นเป็นการจ่ายตามคำสั่งศาล
ด้วยเหตุที่ว่า
ตนมิอาจหยิบยกข้อยกเว้นตามสัญญาประกันภัยไปปฏิเสธกับผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้
จึงต้องมายื่นฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากผู้เอาประกันภัยเป็นอีกคดีหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว
รับฟังได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมิใช่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ เพราะก่อนหน้าที่ผู้รับเหมาช่วงงานปูพื้นจะดำเนินการได้หารือกับผู้รับเหมาหลักจำเลยในคดีนี้แล้วว่า
ได้ตรวจสอบระดับความชื้นในคอนกรีตภายในพื้นที่ที่จะปูแล้ว ปรากฏยังคงมีความชื้นสูงเกินกว่าแบบที่กำหนดไว้อยู่มาก
จำต้องรอคอยอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งไปก่อน
แต่ด้วยความที่ผู้รับเหมาหลักกังวลเรื่องงานอาจล่าช้าออกไปจนเสร็จไม่ทันกำหนดตามสัญญาว่าจ้าง
อันจะส่งผลทำให้ถูกปรับเงินได้ จึงสั่งให้ผู้รับเหมาช่วงนั้นรีบดำเนินการไปได้เลย
คาดว่าคงไม่น่าจะเกิดปัญหาตามมาหรอก สุดท้ายก็บังเกิดปัญหาขึ้นมาจนได้ ฉะนั้น
ถือว่า
ผู้รับเหมาหลักในฐานะตัวการได้สั่งให้ผู้รับเหมาช่วงตัวแทนกระทำการไปทั้งที่ตนรับรู้หรือคาดหมายได้ว่า
จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา และก็ได้บังเกิดขึ้นมาจริงท้ายที่สุด
อันไม่เข้าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
สำหรับคำโต้แย้งของผู้รับเหมาหลักจำเลยที่ว่า
ความเสียหายนั้นมิได้บังเกิดขึ้นทันทีทันใด กลับใช้เวลาเป็นปีจึงปรากฏขึ้นมานั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้
ศาลชั้นต้นไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากพยานหลักฐานกลับแสดงว่า
ได้ตรวจพบความเสียหายนั้นครั้งแรกในเวลาไม่กี่เดือนและก่อนหน้าที่เปิดดำเนินกิจการด้วยซ้ำไป
อนึ่ง ช่วงระหว่างเวลาที่ลงมือกระทำการกับเวลาที่ความเสียหายปรากฏขึ้นนั้น
ไม่จำเป็นจะต้องบังเกิดขึ้นฉับพลันทันที หรือทิ้งช่วงออกไปไม่นาน
จำต้องพิจารณาข้อความจริงแต่ละกรณีประกอบไปด้วย
และศาลชั้นต้นเองก็ไม่พบปัจจัยอื่นใดที่อาจจะเข้ามาแทรกแซงด้วยเช่นกัน
จึงน่าเชื่อว่ามีสาเหตุเกิดขึ้นเพียงจากปัจจัยระดับความชื้นในคอนกรีตสูงเกินกว่าแบบที่กำหนดไว้ดังกล่าว
บริษัทประกันภัยโจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
ผู้รับเหมาหลักจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้ผู้รับเหมาหลักจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทประกันภัยโจทก์
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Navigators
Specialty Insurance Co. v. Moorefield Construction, 6 Cal. App. 5th 1258 (2016))
นี่คือ บทเรียนตัวอย่างเรื่องหนึ่งของความหลงเข้าใจถึงคำว่า
“ความเสี่ยงภัยทุกชนิด” ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้จำต้องมีการพยายามเลี่ยงไปใช้คำว่า
“สรรพภัย” แทน
ไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดในโลกหรอกครับที่สามารถให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดได้จริง
ทั้งขอให้พึงระลึกอยู่เสมอด้วยนะครับว่า
ทุกกรมธรรม์ประกันภัยต้องมีข้อยกเว้นและเงื่อนไขกำกับอยู่ด้วยเสมอ
โดยทั่วไป ข้อตกลงคุ้มครองมักจะเขียนในลักษณะว่า
ให้ความคุ้มครองถึงอุบัติภัย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในข้อยกเว้น
นั่นหมายความว่า
เวลาพิจารณาความคุ้มครองเมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายขึ้นมา
โปรดไล่เรียงลำดับเป็นขั้นตอน ดังนี้
ลำดับแรก
จะต้องพิจารณาให้ได้เสียก่อนว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็น “อุบัติภัย (accidental peril)” หรือมีสาเหตุมาจาก “อุบัติเหตุ (accident)” ใช่หรือไม่?
ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน
ก็ปิดเรื่องทำใจได้เลย
หากผ่าน
ให้ไปพิจารณาลำดับถัดไป
ลำดับที่สอง
วัตถุที่เอาประกันภัยได้รับความสูญเสียหรือความเสียหายใช่หรือไม่?
ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน
ก็ให้ตัดใจเช่นกัน
หากผ่าน ให้ไปพิจารณาลำดับต่อไป
ลำดับที่สาม
ความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่ระบุไว้ใช่หรือไม่?
ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน
ก็หมดหวังได้แล้ว
หากผ่าน
ให้เตรียมตัวรับเงินค่าสินไหมทดแทนได้
บังเอิญปัญหาที่มักเกิดขึ้นอยู่เนือง
ๆ ทั้งของต่างประเทศกับของบ้านเรา คือ มิได้มีการให้คำนิยามเอาไว้ภายใต้การประกันภัยเหล่านั้นเลยว่า
“อุบัติภัย (accidental
peril)” หรือ “อุบัติเหตุ (accident)” นั้นมีความหมายเช่นใด?
ถึงต่อให้มีคำนิยามเขียนไว้ก็เถอะ
อย่าเพิ่งหลงดีใจ ยังมีประเด็นให้ทะเลาะกันอยู่ดี ไอ้ที่เขียนไว้อย่างนั้น
ทำไมถึงเข้าใจได้ไม่ตรงกันเสียนี่?
ช่างน่าปวดหัว และเจ็บปวดกระดองใจจริง
ๆ นะครับ
จากประสบการณ์การทำงานในธุรกิจประกันภัย
เคยได้รับการปฏิเสธไม่รับผิด เนื่องจากไม่อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุหนึ่งครั้ง
ยังจำได้อย่างแม่นยำ และได้นำมาหยิบยกเป็นอุทาหรณ์เวลาอบรมให้ความรู้ประกันภัยอยู่เนือง
ๆ แต่มิใช่ในฐานะบริษัทประกันภัยไปปฏิเสธลูกค้านะครับ
กลับเป็นกรณีผู้รับประกันภัยต่อหยิบยกมาต่างหาก
เรื่องต่อไปขอวนกลับมาเรื่องของประกันภัยรถยนต์อีกครั้ง
แม้จะเป็นประเภทประกันภัยที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากที่สุด แต่กลับคงมีประเด็นข้อพิพาทเกิดมากที่สุดเช่นกัน: ประเด็นหน้าที่ความรับผิดของรถโรงเรียนสิ้นสุดเมื่อใด?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น