เรื่องที่ 114: ธนาคาร
หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?
(ตอนที่สอง)
คดีศึกษาที่จะนำเสนอเป็นเรื่องของธนาคารกับศูนย์การค้า
เรื่องละสองคดีจากของประเทศออสเตรเลียกับอเมริกา
เรื่องแรกเหตุเกิดขึ้นที่สาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย
ณ
ประมาณบ่ายโมงวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 นายแกรี่ได้นำเช็คไปฝากเข้าบัญชีที่ธนาคาร
ระหว่างที่ยื่นใบนำฝากพร้อมเช็คให้แก่พนักงานรับฝากถอนเงินซึ่งเป็นหญิงสาวประจำหน้าเคาน์เตอร์
ทันใดนั้น เขาก็ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งที่อยู่ด้านหลังทางด้านขวามือตะโกนว่า ให้รีบนำเงินใส่ลงในกระเป๋าเดี๋ยวนี้
แรกที่ได้ยินนึกว่ามีใครเล่นตลกอะไรหรือเปล่า? แต่ไม่ช้าก็รับรู้ว่า
เป็นเรื่องจริง
พนักงานสาวคนนั้นก้าวถอยหลังไปนิดนึง
ขณะที่ตัวนายแกรี่รีบวางมือบนเคาน์เตอร์พร้อมกับหันไปมองด้านขวามือของตนเอง
ได้เห็นคนร้ายเป็นชายรูปร่างสูงสวมหมวกไหมพรมคลุมปิดหน้าไว้ยืนถือปืนกวัดแกว่งไปมา
โดยหันกระบอกปืนมาทางด้านตนเอง และได้ยินคนร้ายร้องขู่ “อย่าขัดขืน
ไม่งั้นไอ้นี่ตายแน่ รีบเอาเงินในลิ้นชักทั้งหมดใส่ลงในกระเป๋าเร็ว ๆ หน่อย
ไม่งั้นไอ้นี่ไม่รอด”
นายแกรี่ตกใจมากหันไปร้องบอกพนักงานธนาคารให้ทำตามคำสั่งของคนร้ายแต่โดยดี
และได้หันไปบอกคนร้ายว่า “ผมจะค่อย ๆ นั่งลงบนพื้นนะครับ”
คนร้ายยังย้ำคำขู่เดิมอีกว่า “เร็วหน่อย ไม่งั้นยิงไอ้นี่ตายจริง ๆ”
นายแกรี่รีบร้องขอชีวิตว่า “ได้โปรดอย่าฆ่าผมเลย ผมมีลูกสองคนยังเล็กอยู่เลย”
ทันใดนั้น ฉากกั้นรักษาความปลอดภัยก็เริ่มทำงานทันทีที่พนักงานธนาคารกดปุ่ม
คนร้ายทั้งตกใจและหัวเสียมาก “เตือนแล้วไม่ฟัง”
พร้อมกับลั่นไกปืนออกมาหนึ่งนัด นายแกรี่แทบสิ้นสตินึกไปว่า ตนเองถูกฆ่าเสียแล้ว
พอรู้สึกตัวจึงรีบลุกขึ้นยืนและวิ่งตามคนร้ายออกไปจนสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถกับรายละเอียดรถของคนร้ายมาบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
แต่ยังรู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับการกระทำของพนักงานธนาคาร “ใครวะที่กดปุ่มสัญญาณ
ไม่รู้หรือไง มันกำลังขู่จะฆ่าผมอยู่ นี่ถ้าผมเกิดตายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ”
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
นายแกรี่จำต้องหยุดทำงานเป็นพัก ๆ เนื่องจากประสบปัญหาภาวะอาการซึมเศร้าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ใกล้ตายครั้งนั้น
และได้นำเรื่องฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากทางธนาคารในที่สุด โดยกล่าวหาว่า ธนาคารซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัย (Duty of Care) แก่ลูกค้า แต่กลับละเลยไม่อบรมฝึกให้พนักงานให้สามารถจัดการกับสถานการณ์จี้ชิงทรัพย์ในธนาคารได้อย่างเพียงพอและดีพอ ดังนี้
(1) ไม่มีมาตราการในการปกป้องและดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โจทก์เลย
(2) ดำเนินการตอบสนองต่อคนร้ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้น
(3) ด่วนตัดสินใจกดปุ่มสัญญาณรักษาความปลอดภัยในเวลาที่ไม่เหมาะสม
(4) ทำให้คนร้ายข่มขู่ที่จะก่อให้เกิดภาวะอันตรายต่อลูกค้าของธนาคารรวมทั้งตัวโจทก์ได้โดยง่าย
(5) ไม่ปฏิบัติตามมาตราการจัดการกับการจี้ชิงทรัพย์ของตนที่ได้กำหนดเอาไว้
(6) ขาดมาตราการในการประเมิน หรือบ่งชี้อย่างเหมาะสมถึงความเสี่ยงภัยที่อาจมีต่อสุขภาพอนามัยของโจทก์ระหว่างอยู่ในสถานประกอบการของจำเลย
(7) ไม่มีมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงภัยที่ดีพอเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงภัยต่อชีวิต
ร่างกายของโจทก์
(8) กดปุ่มให้ฉากกั้นรักษาความปลอดภัยเริ่มทำงานในช่วงสถานการณ์ยังมีความเสี่ยงภัยอยู่
(9) ไม่มีการจัดอบรมและฝึกฝนให้พนักงานของตนพร้อมรับมือกับสถานการณ์จี้ชิงทรัพย์
หรือมีแต่ยังไม่เพียงพอ
(10) การยินยอมกระทำตามคำสั่งของคนร้ายสามารถทำให้ภาวะอันตรายที่มีต่อลูกค้าลดน้อย
หรือหมดสิ้นไปได้ แต่จำเลยกลับไม่ใส่ใจ
(11) ทั้งที่ลักษณะการประกอบธุรกิจของธนาคารที่ยุ่งเกี่ยวกับเงินจำนวนมากเป็นสิ่งเย้ายวนใจให้คนร้ายเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฉะนั้น
ธนาคารจึงสามารถคาดการณ์ได้ถึงโอกาสที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่ลูกค้าหรือพนักงานของตนได้เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของคนร้าย
ธนาคารในฐานะจำเลยคดีนี้ต่อสู้ว่า
ตนยอมรับว่า
มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในฐานะเจ้าของสถานที่ต่อผู้ที่เข้ามาในสถานที่นั้นตามสมควร
แต่ก็มิใช่ถึงขนาดอย่างที่โจทก์กล่าวอ้าง
สำหรับการที่จะให้ธนาคารสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าถึงโอกาสที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่ลูกค้าหรือพนักงานของตนได้เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของคนร้ายนั้น
ไม่อาจกระทำได้ เพราะมิอาจคาดเดาได้ว่า คนร้ายจะลงมือเมื่อใด?
ส่วนตัวพนักงานสาวของธนาคารซึ่งเพิ่งเริ่มทำงาน
ณ สาขาแห่งนั้นวันแรก แต่เคยเข้ารับการฝึกอบรมจากธนาคารในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ในปีที่ผ่านมา
ซึ่งการฝึกอบรมได้แนะนำให้ส่งมอบเงินแก่คนร้ายตามที่ร้องขอได้ และให้กดปุ่มสัญญาณได้เมื่อรู้สึกปลอดภัยที่จะกระทำเช่นนั้นได้
พนักงานสาวของธนาคารเข้าใจว่า
ส่วนใหญ่แล้ว คนร้ายจ้องปืนไปยังเพื่อนพนักงานผู้ยื่นเงินให้แก่คนร้าย ครั้นเพื่อนของเธอก้มย่อตัวลงมาเคียงข้างเธอและพ้นจากสายตาคนร้ายแล้ว
เธอจึงได้กดปุ่มสัญญาณดังกล่าว
ทั้งเธอกับเพื่อนจำไม่ได้ว่า
ได้ยินเสียงคนร้ายร้องขู่โจทก์หรือเปล่า? แม้พนักงานธนาคารรายอื่นได้ยินเช่นนั้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม
คดีนี้ซึ่งได้สิ้นสุด ณ ศาลอุทธรณ์ ไม่มีการยื่นฎีกาต่อ โดยที่ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์เห็นพ้องร่วมกันว่า
ธนาคารไม่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่โจทก์ ด้วยเหตุผล ดังนี้
(1) การกระทำของบุคคลอื่นซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลยในการก่อให้เกิดภาวะอันตรายใดได้
โดยเฉพาะการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจคาดเดาได้เลยเช่นนี้
(2) โดยหลักการทั่วไป หากปราศจากความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพิเศษระหว่างกัน
ดั่งเช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ครูกับนักเรียน เป็นต้น กฎหมายจะไม่อาจกำหนดหน้าที่ในการป้องกันภาวะอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคลอื่น
อันเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลอื่น ถึงแม้โอกาสภาวะอันตรายนั้นอาจสามารถคาดการณ์ได้ก็ตาม
(3) ในคดีนี้ โจทก์มิได้แสดงให้เห็นได้ว่า
จำเลยมีอำนาจในการควบคุมการกระทำของคนร้ายโดยตรง แต่กลับไปเชื่อถือว่า
จำเลยมีอำนาจควบคุมพนักงานของตนเองที่จะไปควบคุมคนร้ายอีกทอดหนึ่ง
(4) จำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่โจทก์
เนื่องจากจำเลยมิอาจไปควบคุมคนร้ายที่มีอาวุธโดยทางอ้อมผ่านพนักงานของตนได้เลย
(5) ทั้งพนักงานของจำเลยก็อาจดำเนินการแตกต่างกันไป
และด้วยแนวทางที่คาดเดาไม่ได้ต่อคนร้ายที่มีอาวุธ ถึงแม้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว
เพราะคงไม่มีแนวทางหรือการฝึกอบรมใดที่จะสามารถรับรองความปลอดภัยแก่บุคคลใดที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นได้
(6) ถึงโจทก์ (และลูกค้ารายอื่นของธนาคาร)
จะมีความเสี่ยงภัยจากการกระทำของคนร้ายก็ตาม แต่จำเลยเองมิได้มีความรับผิดชอบใดที่จะปกป้องลูกค้าจากภาวะเช่นนั้น
และมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยใดของจำเลยก็มิใช่เป็นสิ่งที่แสดงว่า
จำเลยจำต้องมีหน้าที่เช่นนั้นต่อโจทก์ด้วย
(7) ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้ามิได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพิเศษในการดูแลรักษาความปลอดภัยสูงกว่าปกติเช่นนั้น
แม้การเข้าไปจี้ชิงทรัพย์อาจคาดการณ์ได้บ้าง แต่ก็มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกวันในธนาคาร
(8) นอกจากนี้ ธนาคารเองก็ไม่มีหน้าที่ในการปกป้องลูกค้าในระดับเช่นเดียวกับที่มีต่อพนักงานของตนเอง
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Roberts v Westpac Banking Corporation [2016] ACTCA 68)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น