เรื่องที่ 114: ธนาคาร
หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?
(ตอนที่ห้า)
สี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง ณ
ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีลานจอดรถขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า
ระบบไฟส่องสว่างที่ถูกตั้งเวลาให้ปิดโดยอัตโนมัติได้ดับลงตามปกติ อันสอดคล้องกับเวลาปิดทำการท้ายสุดของร้านให้เช่าวิดีโอซึ่งตั้งอยู่
ณ ที่แห่งนั้น แต่วันนั้น กว่าผู้จัดการร้านจะเคลียร์งานเสร็จก็เป็นเวลาปาไปสี่ทุ่มครึ่งแล้ว
ทำให้ตัวเขาเองจำต้องมะงุมมะงาหราฝ่าความมืดมิดตรงไปรถของตัวเองที่จอดอยู่ใกล้หน้าร้าน
แล้วเขาก็ถูกคนร้ายสามคนที่ซุ่มอยู่เข้ามาทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส
ตัวผู้จัดการร้านได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ทางศูนย์การค้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยอ้างว่า ตามสัญญาเช่าร้านค้ากับศูนย์การค้ามีข้อตกลงที่ทางศูนย์การค้าจะต้องให้บริการอำนวยความสะดวกต่าง
ๆ อย่างเพียงพอแก่ผู้เช่า ซึ่งรวมถึงระบบไฟส่องสว่างด้วย
ประกอบกับที่ศูนย์การค้านั้นมีตู้เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) ให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ดังนั้น
การกำหนดเวลาปิดไฟส่องสว่างโดยอัตโนมัติเพียงแค่เวลาสี่ทุ่มทุกวันนั้น
ถือเป็นการละเลยในการทำหน้าที่ที่ดีพอในการดูแลลูกค้ารวมถึงผู้เช่า
(ลูกจ้างของผู้เช่าด้วย)
ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการเกิดเหตุร้ายขึ้นมาได้ง่ายจากการที่ไม่มีระบบไฟส่องสว่างทำงานอยู่ตลอดเวลา
เพราะอาจมีคนเข้ามาใช้บริการตู้เอทีเอ็มได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว และในที่สุดก็ได้เกิดเหตุร้ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของร้านค้าผู้เช่าดังกล่าว
อันสืบเนื่องจากการไม่มีระบบไฟส่องสว่างจนทำให้คนร้ายฉวยโอกาสเข้ามาก่อเหตุขึ้นมา
ศูนย์การค้าในฐานะจำเลยได้ต่อสู้ว่า เดิมทีได้มีข้อตกลงกับผู้จัดการร้านคนเก่าให้ตั้งเวลาปิดไฟส่องสว่างถึงเวลาห้าทุ่มช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
หลังจากนั้นก็จะปิดไฟเวลาสี่ทุ่มตามปกติ หรือช่วงเวลาสุดสัปดาห์อาจเผื่อเวลาล่าช้าออกไปสิบห้านาทีบ้าง
ดังนั้น
ทางร้านของโจทก์ควรต้องกำหนดเวลาปิดทำการให้เร็วขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาเคลียร์งานได้ทันก่อนไฟฟ้าจะดับ
เรื่องนี้จึงถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างของโจทก์มากกว่าในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างของตน
มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลย
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
ลานจอดรถของศูนย์การค้าได้เปิดโอกาสให้ใครเข้ามาใช้บริการจอดรถก็ได้ ฉะนั้น
ศูนย์การค้าจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ทุกคนที่นำรถเข้ามาจอดตลอดเวลา และไม่จำกัดเพียงลูกค้าของศูนย์การค้าเท่านั้น
ลูกจ้างของร้านค้าเช่าถือเป็นผู้เข้ามาใช้บริการที่ควรได้รับการดูแลไม่แตกต่างกัน
และหากมีคนเข้ามาใช้บริการตู้เอทีเอ็มช่วงกลางดึก ก็อาจมีความเสี่ยงภัยที่พอคาดการณ์จากคนร้ายได้เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่า
จำเลยมีความผิดละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวของตนอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถป้องกันได้อย่างง่ายเพียงแค่ปรับเวลาปิดไฟส่องสว่างให้ยืดยาวออกไปเท่านั้น
จำเลยจำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า
หน้าที่ของศูนย์การค้าในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้านั้น หมายถึง
การจัดการดูแลในสิ่งที่ตนสามารถควบคุมได้ และสามารถคาดคะเนได้ มิใช่ต้องจัดการดูแลอย่างกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขตเลย
มิฉะนั้น จะสร้างภาระสูงจนเกินไปอย่างมากให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น ความรับผิดที่จะมีขึ้นได้นั้นถือเป็นเรื่องส่วนตน
มิใช่เป็นการไปรับผิดแทนคนอื่นทุกเรื่องราว
เว้นเสียแต่กรณีที่มีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน เป็นต้นว่า พ่อแม่กับลูก
นายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายจะบัญญัติให้รับผิดแทนกันได้ เพราะถือว่า
พ่อแม่สามารถควบคุมลูกของตนได้ เช่นเดียวกับนายจ้างกับลูกจ้าง
ขณะที่กรณีการกระทำของคนร้ายนั้น ไม่สามารถควบคุมได้
และคาดคะเนได้ลำบาก ถึงแม้อาจเคยมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาพอเทียบเคียงได้ก็ตาม
แต่จะต้องมีความชัดเจนเพียงที่จะพิสูจน์ให้ศาลรับฟังด้วยเหตุและผลได้
ในคดีนี้ การที่โจทก์อ้างว่า
เหตุที่ปราศจากไฟส่องสว่างเป็นผลทำให้ตนเองถูกคนร้ายกระทำร้ายนั้น ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจนเช่นนั้นจริง
เพราะคนร้ายอาจเข้ามากระทำความผิดขณะที่ยังมีไฟส่องสว่างก็ได้เช่นกัน
ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า
กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้เพียงพอว่า จำเลยละเลยหน้าที่ของตนดังกล่าวอ้าง
ทั้งสาเหตุกับผลที่เกิดขึ้นยังไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจน ฉะนั้น
จำเลยไม่มีความรับผิดในคดีนี้
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Modbury
Triangle Shopping Centre Pty Ltd v Anzil [2000] HCA 61)
ตอนหน้าจะเป็นบทสรุปของเรื่องนี้
โดยยกตัวอย่างคดีศึกษาความรับผิดของบ้านเรามาเทียบเคียง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น