วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563



เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?

(ตอนที่สี่)

ตอนนี้มาถึงคดีศึกษาเหตุเกิด ณ ศูนย์การค้ากันบ้าง

ช่วงคืนก่อนวันคริสต์มาส นายบีได้ขับรถคันหรูของตัวเองเข้าไปจอดยังศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งโชคดีที่จังหวะเหมาะมีที่จอดรถว่างอยู่ช่องหนึ่ง มิฉะนั้น อาจจำต้องไปวนอีกหลายรอบ เพราะวันนั้นมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายซื้อของกันมากทีเดียว 

พอจอดรถเสร็จ กำลังจะลง นายบีก็ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดผ่านมาด้านกระจกหน้าที่ลดลงเล็กน้อยฝั่งขวามือด้านผู้โดยสารข้างคนขับว่า “พอได้แล้ว ไอ้เสือ รู้หรือเปล่าป่านนี้เวลาอะไร” พอหันไปมองก็เห็นปลายกระบอกปืนเล็งมาที่ตนเอง จากนั้นปืนก็ลั่นออกมาดังปัง นายบีตกใจมากรีบกระโจนเผ่นออกมาจากรถ และวิ่งหนีอย่างรวดเร็วพ้นจากตัวรถไปได้ประมาณสิบห้าก้าว ขณะหันกลับมามองคนร้าย ตนก็ถูกคนร้ายยิงใส่บริเวณหน้าอก แต่ทันได้เห็นคนร้ายสองคนเข้าไปในรถและขับหนีออกไปทันที โชคดีของนายบีที่กระสุนแฉลบไป ไม่ได้รับบาดเจ็บมากมายนัก

ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปไม่นาน นายบีได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศูนย์การค้าแห่งนั้นพร้อมกับบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความบาดเจ็บของตน อันเป็นผลสืบเนื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ (foreseeable) จากความประมาทเลินเล่อของศูนย์การค้าที่มิได้จัดมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเหมาะสม

ศูนย์การค้ากับบริษัทบริษัทรักษาความปลอดภัยในฐานะจำเลยในคดีนี้ได้ต่อสู้ว่า มิได้กระทำประมาทเลินเล่อใด ๆ อันเป็นสาเหตุสืบเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อความบาดเจ็บของโจทก์ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ด้วย 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วตัดสินให้ยกฟ้องโจทก์ โดยมิได้ชี้แจงเหตุผลเอาไว้

นายบี โจทก์ยื่นอุทธณ์สู่ชั้นศาลอุทธณ์ โดยอ้างว่า

1) การที่ตนถูกจี้ชิงรถและถูกยิงเป็นสิ่งที่จำเลยสามารถคาดการณ์ได้อยู่แล้ว โดยพิจารณาจากข้อมูลอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์การค้าช่วงระยะเวลา 30 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้มาจากสำนักงานตำรวจ แต่ปราศจากการรับรองหรือการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย 

ประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์มิอาจรับฟังได้ หากแม้นพอรับฟังได้ แต่ยังขาดน้ำหนัก เพราะโจทก์เองกลับมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยได้รับรู้ข้อมูลนี้แล้ว และเพิกเฉย  

ข้อมูลการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ที่พอรับฟังได้ซึ่งเกิดขึ้น ณ สถานที่จอดรถแห่งนี้ และจำเลยได้รับทราบแล้ว คือ ช่วงปีที่ผ่านมามี เคยมีการลักขโมยรถสามคดีกับลักสิ่งของในรถห้าคดี และคนร้ายทำให้รถเสียหายสองคดี ทั้งหมดได้เกิดขึ้นระหว่างลูกค้ากำลังจับจ่ายซื้อสินค้าอยู่ในศูนย์การค้า

แต่ไม่มีคดีใดที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้เลย ดังนั้น ข้อมูลอาชญากรรมดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาพิจารณาเชื่อมโยงให้เห็นถึงความละเลยของจำเลยในคดีนี้ได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง 

2) โจทก์ในฐานะลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการของศูนย์การค้า อันมีความสัมพันธ์พิเศษซึ่งจะต้องได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างดีอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องแสดงให้เห็นก็ได้ว่าเป็นสิ่งที่พอคาดการณ์ได้หรือไม่?

ประเด็นข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็มิได้เห็นโจทก์แสดงให้รับฟังได้เช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำการอย่างประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ลูกค้าของตนอย่างไรบ้าง?

เมื่อการก่ออาชญากรรมนี้ต่อโจทก์เป็นสิ่งที่มิอาจคาดการณ์ได้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ในการป้องกันได้ อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว บุคคลหนึ่งมิได้มีหน้าที่ปกป้องหรือป้องกันบุคคลอีกคนหนึ่งจากการกระทำของผู้อื่น นอกจากเสียจากจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า บุคคลนั้นมีหน้าที่ถึงขนาดนั้นจริง ซึ่งจำต้องอาศัยพิจารณาจากข้อความจริงแต่ละกรณีเป็นสำคัญ มิฉะนั้นแล้ว อาจทำให้หลักกฎหมายเรื่องละเมิดต้องผิดเพี้ยนไปได้ 

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Baker v. Simon Property Group - 273 Ga. App. 406, 614 S.E.2d 793.)

ตอนหน้าติดตามคดีศึกษาความรับผิดของศูนย์การค้าที่ประเทศออสเตรเลียอีกคดีเปรียบเทียบกันนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น