เรื่องที่ 114: ธนาคาร
หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?
(ตอนที่สาม)
เดี๋ยวนี้ การฝาก-ถอนเงินมิได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป
เพียงแค่มีบัตรเอทีเอ็ม หรือเรียกชื่อเป็นทางการว่า “บัตรสำหรับเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ” ใบเดียวก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวได้ที่ตู้เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ ณ
เวลาใดและสถานที่แห่งใดก็ได้ที่มีตู้นี้ตั้งอยู่ บางธนาคารยิ่งก้าวหน้าถึงขนาดไม่ต้องใช้บัตรดังกล่าวด้วยซ้ำไป
ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เช่นกัน จะสะดวกอะไรปานนั้น
เมื่อสิ่งใดที่ง่ายสะดวกมาก
โอกาสความเสี่ยงภัยที่เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่คอยหาจังหวะเวลาและสถานที่เหมาะ ๆ
ในการกระทำความผิดก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
บางท่านอาจนึกสงสัยว่า หากตกเป็นเหยื่อของคนร้ายระหว่างทำการฝาก-ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม
ธนาคารเจ้าของตู้นั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อนั้นหรือไม่?
เรามาดูคดีศึกษาเรื่องนี้ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกากันนะครับ
พอคล้อยเวลาเที่ยงคืนไปเล็กน้อย
ระหว่างที่สุภาพสตรีเจ้าของบัตรเอทีเอ็มรายหนึ่งกำลังถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มอยู่ในห้องกระจก
จู่ ๆ มีคนร้ายถือมีดเข้ามาจี้ชิงเงินพร้อมกับลงมือทำร้ายเธอด้วยก่อนที่จะหลบหนีไป
เธอจึงฟ้องเรียกร้องให้ธนาคารในสถานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ตั้งตู้เอทีเอ็มแห่งนั้นให้รับผิดตามกฎหมาย
ภายหลังจากที่เธอได้พยายามเจรจาให้ทางธนาคารรับผิดชอบแล้ว แต่ถูกปฏิเสธกลับมา
คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงชั้นอุทธรณ์
ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพยานหลักฐานประกอบคำให้การของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว
โดยที่ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า
ธนาคารจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการป้องกันและดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ของตนตามสมควร
โดยเฉพาะหากได้รู้ หรือควรรับรู้ได้ถึงโอกาสความเสี่ยงภัยที่จะมีคนร้ายเข้าทำอันตรายแก่ผู้ใช้บริการสถานที่แห่งนั้น
เนื่องจากตู้เอทีเอ็มเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนร้ายเข้ามาก่ออาชญากรรมได้
ทั้งสถานที่ตั้งดังกล่าวเคยมีประวัติการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง แต่ธนาคารก็ประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบระบบปิดล็อกห้องกระจกที่เข้าไปสู่ตู้เอทีเอ็มแห่งนั้น
ขณะที่ธนาคารให้การต่อสู้ว่า
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเพื่อแสดงว่า สถานที่แห่งนั้นมีประวัติการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง
จึงเป็นการกล่าวอ้างเท่านั้น ทั้งธนาคารก็ไม่เคยได้ยินรายงานดังว่านั้นเลย
ธนาคารได้ติดตั้งระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดีแล้ว ประกอบด้วยระบบปิดล็อกห้องกระจกที่เข้าไปสู่ตู้เอทีเอ็มแห่งนั้นจะต้องใช้บัตรเอทีเอ็มเปิดเข้าไป
ทั้งได้ตรวจสอบระบบล็อกแล้วไม่พบปัญหาขัดข้องใด ๆ เช่นเดียวกับระบบกล้องวงจรปิด
ทั้งระบบไฟก็ให้แสงสว่างเพียงพอ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า
การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เหตุการณ์ที่ตนถูกคนร้ายทำร้ายนั้นได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และโดยเจตนาของคนร้ายนั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้
(Foreseeable) แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนด้วยเลย ดังนั้น
การเพียงกล่าวอ้างว่า ผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มมีโอกาสถูกจี้ชิงทรัพย์ได้นั้นถือเป็นแค่ความรู้สึกนึกคิด
ยังไม่ถึงขนาดเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ เพราะการที่จะให้ธนาคารจำเลยรับผิดได้นั้นต้องถึงขนาดยอมรับโดยสิ้นข้อสงสัย
อนึ่ง ถึงแม้อาจรับฟังว่าเคยมีเหตุการณ์จี้ชิงทรัพย์เกิดขึ้นมาหนึ่งครั้งในช่วงระยะเวลาสองปีก่อนหน้านั้น
ก็ยังไม่อาจพิจารณาได้ว่า เป็นสิ่งที่คาดหมายได้แล้ว เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่มิใช่ถือเป็นผู้รับรองความปลอดภัยแก่ผู้เข้ามาใช้บริการสถานที่แห่งนั้น
จึงยังไม่ถือว่ามีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัย เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์โดยชัดแจ้งว่า
เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นได้รู้ หรือควรรับรู้ตามสมควรจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า
น่าจะมีโอกาสที่คนร้ายจะเข้าประกอบอาชญากรรมในสถานที่แห่งนั้นได้อย่างชัดเจน
หรือเชื่อมั่นได้เช่นนั้น
ด้วยเหตุที่การจี้ชิงทรัพย์ดังกล่าวมิใช่สิ่งที่พึงคาดหมายได้อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของธนาคารจำเลย
ฉะนั้น ความประมาทเลินเล่อดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นสาเหตุใกล้ชิดในความบาดเจ็บทางร่างกายและการสูญเสียทรัพย์ของโจทก์
จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี
Williams v. Citibank, N. A., 247
A.D.2d 49, 677 N.Y.S.2d 318 (1998))
คดีศึกษาเรื่องต่อไป: คนร้ายเข้าไปก่อเหตุในศูนย์การค้า ถือเป็นความรับผิดตามกฎหมายของศูนย์การค้าได้หรือไม่?
เขียนไม่ใคร่ออกเลย เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น
เขียนไม่ใคร่ออกเลย เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance
ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น