วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบ กันแน่ ?   (ตอนที่หนึ่ง) หากท่านใดคอยติดตามเรื่องรถหายในสถานที่จอดรถตามที่...
เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  


(ตอนที่หนึ่ง)

หากท่านใดคอยติดตามเรื่องรถหายในสถานที่จอดรถตามที่ต่าง ๆ จะสังเกตเห็นแนวทางการพิจารณาตัดสินคดีของศาลฎีกาเสมือนหนึ่งมีความแตกต่างจนอาจเกิดความสับสน ชักไม่แน่ใจขึ้นมาได้ ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายหลายท่านได้เขียนบทความชี้แนะไว้บ้างแล้ว แต่ผมก็จะขอนำมาสรุปให้เห็นภาพ โดยเฉพาะเมื่อมองในแง่มุมของนักประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง

เท่าที่ค้นเจอคำพิพากษาศาลฎีกาคดีรถหายย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จนถึงล่าสุดปี พ.ศ. 2561 โดยจะขอลำดับออกเป็นสามช่วง กล่าวคือ

1. ช่วงปี พ.ศ. 2517 – 2525
(ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2517, 2004/2517, 749/2518, 365/2521, 386/2524, 3517/2525, 4235/2541)

เป็นคดีเรื่องการให้บริการรับฝากรถในปั๊มน้ำมัน แล้วเกิดสูญหาย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นกรณีรับฝากทรัพย์ ผู้รับฝากจำต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยมีลักษณะข้อความจริงจำเพาะ สรุปได้ดังนี้

(1) ผู้ฝากมีการส่งมอบรถของตน หรือมอบกุญแจไว้ให้อยู่ภายในความครอบครองดูแลของผู้รับฝาก
(2) ไม่ว่าจะมีการเรียกค่ารับฝากเป็นรายวันหรือรายเดือน หรือไม่เรียกเก็บเลย
(3) ถึงแม้บางคดีจะได้มีการต่อสู้อ้างว่า เป็นการให้เช่าที่จอดรถก็ตาม แต่ได้มีการทิ้งกุญแจรถไว้ให้ด้วย
(4) ค่าเช่าที่จอดรถชำระเป็นรายวัน
(5) แม้มิได้ส่งมอบรถ หรือกุญแจไว้ให้ แต่มีคนคอยอารักขาดูแลอยู่

2. ช่วงปี พ.ศ. 2521 - 2525
(ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2521, 286/2525, 847/2525)

เป็นคดีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นกรณีให้เช่าที่จอดรถ หากรถสูญหายไป เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถต้องรับผิดชอบเอง อันมีลักษณะข้อความจริงจำเพาะ สรุปได้ดังนี้

(1) เจ้าของสถานที่ตกลงกับเจ้าของรถอย่างชัดแจ้งให้เป็นกรณีเช่าสถานที่จอดรถ
(2) ผู้ขับขี่นำรถเข้าไปหาที่จอดเอง นำกุญแจรถกลับไปด้วย และดูแลรับผิดชอบเอง โดยเจ้าของสถานที่มิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย
(3) อาจมีการทิ้งกุญแจอีกดอกหนึ่งให้เพื่อเลื่อนรถ หรือล้างรถให้
(4) ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน

สำหรับช่วงยุคที่สามจะขอยกยอดไปสัปดาห์หน้านะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก(Stock)...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก(Stock)...: เรื่องที่ 108: เมื่อ เกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่...
เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่? แล้วค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณเช่นไร?


(ตอนที่สอง)

แน่นอนครับ บริษัทประกันภัยไม่เห็นด้วยกับวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนและไม่ยอมรับเหตุผลดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย พร้อมแสดงวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำการชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับกรณีนี้ ดังนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                           =     4,000,000 บาท
สต็อกสินค้าเสียหายทั้งหมด
ให้ชดใช้เต็มทุนประกันภัย                          =     4,000,000 บาท
                                                                  ======
2) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด   =         12 เดือน 
ประมาณการยอดขายประจำปี                     =     8,000,000 บาท
ยอดขายที่มีอยู่จริง ณ วันที่เกิดความเสียหาย  =    4,000,000 บาท
(หากมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเสียก่อน)
ประมาณการยอดขายที่ขาดหายไป               =    4,000,000 บาท
                                                                 ======

อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
ค่าสินไหมทดแทน (4,000,000 x 50%)        =    2,000,000 บาท
                                                                  ======

รวมค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับทั้ง 1) + 2)   =  6,000,000 บาท

โดยบริษัทประกันภัยอธิบายว่า ปกติแล้ว สต็อกสินค้าควรจัดทำทุนประกันภัยตามราคาต้นทุนที่ไม่บวกกำไร แต่เมื่อได้มีการตกลงรับประกันภัยด้วยมูลค่ารวมกำไรดังกล่าว ประกอบกับในวันที่เกิดความเสียหายนั้น ปรากฏมีสต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยอยู่จริงรวมทั้งหมดเพียง 4,000,000 บาทเท่านั้นซึ่งได้รับความเสียหาย บริษัทประกันภัยก็จะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินนั้น

ครั้นมาพิจารณาถึงกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะต้องได้รับความเสียหายเสียก่อน อันจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินด้วย กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักถึงจะมีผลใช้บังคับได้

ดูจากสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง โอกาสที่ผู้เอาประกันภัยจะกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิมก่อนเกิดความเสียหายนั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี ฉะนั้น ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (Maximum Indemnity Period) 12 เดือน หรือคำนวณเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยของผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 4,000,000 บาท (ประมาณการยอดขายประจำปี 8,000,000 x อัตราผลกำไรขั้นต้น 50%) น่าจะมีผลคุ้มครองเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัยดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คำนวณยอดขายที่ขาดหายไปได้เท่ากับ 4,000,000 บาท (8,000,000 - 4,000,000) แล้วคูณด้วยอัตราผลกำไรขั้นต้น 50% ผลลัพธ์ที่ได้ คือ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับการชดใช้เท่ากับ 2,000,000 บาท

รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย 6,000,000 บาท

ข้อสังเกต คือ กรณีนี้ ทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยล้วนคำนวณโดยบวกผลกำไรซ้ำซ้อนกัน บริษัทประกันภัยสามารถอ้างสิทธิขอปรับลดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนลงได้ไหม?

เรามาลองตั้งสมมุติฐานอีกเป็นกรณีที่สองเปรียบเทียบกัน

ถ้าผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยสต็อกสินค้าเฉพาะราคาต้นทุนเอาไว้ที่ 2,000,000 บาท ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และนำเอาผลกำไรขั้นต้นไปรวมทำประกันภัยไว้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วยจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ 6,000,000 บาทแทน จะคำนวณออกมาได้ ดังนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า
(ราคาต้นทุนไม่บวกกำไร)                           =    2,000,000 บาท
สต็อกสินค้าเสียหายทั้งหมด
ให้ชดใช้เต็มทุนประกันภัย                           =    2,000,000 บาท
                                                                  ======
2) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด    =         12 เดือน 
ประมาณการยอดขายประจำปี                      =    6,000,000 บาท
ยอดขายที่มีอยู่จริง ณ วันที่เกิดความเสียหาย  =    2,000,000 บาท
(หากมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเสียก่อน)
ประมาณการยอดขายที่ขาดหายไป               =    4,000,000 บาท
                                                                  ======

อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
ค่าสินไหมทดแทน (4,000,000 x 50%)        =    2,000,000 บาท
                                                                  ======

รวมค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับทั้ง 1) + 2)   =  4,000,000 บาท

คุณเห็นควรเลือกทำประกันภัยกรณีใดเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดครับ?

(เรียบเรียงและดัดแปลงมาจากบทความ Business Interruption Loss – The Interaction between Inventory Losses and Business Interruption Claims By Cameron McQuaid, Published in Insurance People – November 2014 issue)

 

เรื่องต่อไป รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก(Stock)...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก(Stock)...: เรื่องที่ 108: เมื่อ เกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่...
เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่? แล้วค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณเช่นไร?


(ตอนที่หนึ่ง)

โดยทั่วไป เมื่อร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง สต็อกสินค้า ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งหมดเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Accidental Damage (Property) Insurance Policy) ฉบับหนึ่งแล้ว มักจะจัดทำประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ของตนพร้อมกันไปด้วยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ครอบคลุมโอกาสความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในด้านทรัพย์สินกับด้านการเงิน

ต่อมา ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา สร้างความเสียหายแก่สต็อกสินค้าเสื้อผ้าทั้งหมด 

หากปรากฏข้อมูลว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มี

ยอดขายประจำปีประมาณ                           8,000,000 บาทต่อปี
อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
สต็อกสินค้าเสื้อผ้าคงคลังก่อนเกิดเหตุอยู่ที่
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                                 4,000,000 บาท
(ราคาต้นทุนซื้อ)                                           2,000,000 บาท
ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า  
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                                 4,000,000 บาท
ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด             12 เดือน 

งั้นจะพิจารณาคำนวณค่าสินไหมทดแทนออกมายังไง?

ผู้เอาประกันภัยรายนี้นำเสนอวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนดังต่อไปนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า 
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                          =     4,000,000 บาท
สต็อกสินค้าเสียหายทั้งหมด 
ให้ชดใช้เต็มทุนประกันภัย                         =     4,000,000 บาท

                                                                 ======

2) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด  =         12 เดือน 
ยอดขายประจำปีที่สูญเสียไป                     =     8,000,000 บาท
อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
ค่าสินไหมทดแทน (8,000,000 x 50%)      =     4,000,000 บาท

                                                                 ======

รวมค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับทั้ง 1) + 2) =  8,000,000 บาท

โดยผู้เอาประกันภัยรายนี้ให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยตนได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกความคุ้มครองคนละฉบับ ทุนประกันภัยแยกต่างหากจากกัน และชำระค่าเบี้ยประกันภัยแยกฉบับละจำนวนเงิน ประกอบกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับต่างมิได้กำหนดข้อห้ามเรื่องความคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนกันเลย ฉะนั้น ตนจึงควรที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเต็มที่ตามจำนวนเงินความคุ้มครองจากทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

คุณเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยรายนี้ไหมครับ?

ผลลัพธ์จะออกมาเช่นใด? อดใจรอติดตามตอนหน้าครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 107: เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 107: เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเ...: เรื่องที่ 107: เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ? ในบทความเรื่องที่ 82: ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไ...
เรื่องที่ 107: เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ?


ในบทความเรื่องที่ 82: ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่? ซึ่งเขียนไว้เมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับข้อพิพาทของการตีความหมายของ “อุบัติเหตุ” ที่มิได้ถูกกำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว จำต้องอาศัยการอ้างอิงจากความหมายทั่วไป ซึ่งมักให้ความหมายถึง เหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นโดยมิได้เจตนาและมุ่งหวัง อันก่อให้เกิดความบาดเจ็บหรือความเสียหาย โดยพยายามจำแนกระหว่างสาเหตุกับผลลัพธ์ ถ้าไม่ทราบถึงสาเหตุ ก็จะเรียกว่า เป็นอุบัติเหตุ

คดีศึกษาตัวอย่างนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า แม้ภรรยาของผู้เอาประกันภัยอ้างว่า ถึงผู้เอาประกันภัยนั้นเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว แต่อาการวูบสิ้นสติจนกระทั่งเสียชีวิตไปนั้นมิได้เกิดขึ้นโดยเจตนาและมุ่งหวัง ควรตีความเป็นอุบัติเหตุอันจะทำให้สามารถได้รับความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุได้ แต่การที่ผู้เอาประกันภัยมีประวัติอาการโรคหลอดเลือดแข็งตัวอย่างรุนแรง (Severe Coronary Atherosclerosis) มาก่อน โอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการฉีกขาดของเส้นเลือดของผู้เอาประกันภัยมีค่อนข้างสูง และท้ายที่สุดได้มาเกิดขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย โดยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีสิ่งอื่นใดมากระทำต่อตัวผู้เอาประกันภัยเลย ฉะนั้น การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยจึงเป็นผลมาจากสภาพภาวะความเจ็บป่วย (Sickness) ทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งมิใช่อุบัติเหตุดังที่กล่าวอ้างแต่ประการใด

หลายท่านที่ได้อ่านแล้ว อาจมีคำถามต่อภายในใจว่า สมมุติถ้ามีสิ่งอื่นที่เป็นปัจจัยภายนอกมากระทำแล้ว จะทำให้อาการโรคหัวใจวายสามารถถือเป็นอุบัติเหตุได้กระนั้นหรือ?

เรามาลองดูคดีศึกษาเรื่องนี้เทียบเคียงกันนะครับ

ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยและมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย เมื่อได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้บนเนินเขา จึงได้รีบรุดเดินขึ้นเนินเขาสูง เพื่อไปช่วยทำการดับไฟ แต่ไม่สามารถขึ้นไปถึงจุดหมาย ได้ล้มหมดสติระหว่างทาง และเสียชีวิตระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาล 

ผลการตรวจพิสูจน์ แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพลงความเห็นว่า สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องมาจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischaemic Heart Disease) ซึ่งผู้ตายเคยมีประวัติอาการหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่แล้ว โดยมีชนวนเหตุจากการออกแรงเดินขึ้นเขาอย่างเร่งรีบ ประกอบกับปัจจัยเรื่องความร้อน ควันไฟ และความตื่นเต้นกังวลมาเป็นแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจนส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าวท้ายที่สุด มิฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยยังคงสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก

ภรรยาของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้อ้างความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กำหนดว่า

อุบัติเหตุ หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายอันมีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจากปัจจัยภายนอกโดยอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมองเห็นได้อย่างชัดเจน 

การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ หมายความถึง การเสียชีวิตที่มีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะมาจากอุบัติเหตุดังที่กำหนดไว้ ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเอง

การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยล้วนตกอยู่ในความหมายดังกล่าวทั้งสิ้น

แต่บริษัทประกันภัยยืนยันว่า สาเหตุการตายแท้จริงนั้นมาจากอาการโรคหัวใจที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

เมื่อคดีมีการต่อสู้กันมาจนกระทั่งขึ้นสู่ชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้

1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังที่กำหนดไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว โจทก์ก็จำต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัยได้ว่า เปลวไฟ ไอความร้อน และควันจากไฟไหม้ การออกกำลังอย่างเร่งรีบของผู้เอาประกันภัยในการเดินขึ้นเชิงเขา ตลอดจนความวิตกกังวลจากเหตุไฟไหม้ หน้าที่ที่ต้องกระทำ และความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย อันประกอบกันจนเกิดเป็นอุบัติเหตุดังที่กล่าวอ้างนั้น ล้วนได้เป็นสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่ผู้เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ ทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจถึงขนาดตีบตันขึ้นมา และนำไปสู่อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนเสียชีวิตในท้ายที่สุด

2) จากพยานหลักฐานที่นำเสนอ แม้ในเรื่องหน้าที่ ความรับผิดชอบแล้ว ศาลไม่มีข้อสงสัยอยู่ก็ตาม แต่ครั้นพิจารณาถึงการกระทำของผู้เอาประกันภัยแล้ว ได้เกิดด้วยความตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยดับไฟ และได้ขับรถไปจอดด้านล่าง และได้ลงมาออกแรงเดินขึ้นสู่เชิงเขาอย่างเร่งรีบนั้น ก็เกิดขึ้นโดยเจตนา มิใช่โดยอุบัติเหตุ จนนำไปสู่การเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดดังกล่าว โดยปราศจากเหตุสอดแทรกอื่นใดที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ตั้งใจ เป็นต้นว่า การลื่นหกล้ม หรือการถูกกระแทกอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย 

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยมีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจากอุบัติเหตุดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และตัดสินให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Dennis v City Mutual Life Assurance Society Ltd, Supreme Court of Victoria, 30 October 1978)
 
คำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลบ้านเรา ซึ่งระบุว่า

อุบัติเหตุหมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกายและทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง” 

เมื่อเทียบเคียงคำว่า อุบัติเหตุของต่างประเทศกับของบ้านเรา สังเกตไหมครับว่า ของเขาเสมือนเน้นไปที่สาเหตุ (cause) ขณะที่ของบ้านเราเสมือนเน้นไปที่ผลลัพธ์ (effect) หากนำของบ้านเราไปปรับใช้กับคดีศึกษานี้ คุณคิดว่า จะให้ผลทางคดีแตกต่างกันบ้างไหม?

เรื่องต่อไป เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่? แล้วค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณเช่นไร? 

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/