วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 107: เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ?


ในบทความเรื่องที่ 82: ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่? ซึ่งเขียนไว้เมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับข้อพิพาทของการตีความหมายของ “อุบัติเหตุ” ที่มิได้ถูกกำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว จำต้องอาศัยการอ้างอิงจากความหมายทั่วไป ซึ่งมักให้ความหมายถึง เหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นโดยมิได้เจตนาและมุ่งหวัง อันก่อให้เกิดความบาดเจ็บหรือความเสียหาย โดยพยายามจำแนกระหว่างสาเหตุกับผลลัพธ์ ถ้าไม่ทราบถึงสาเหตุ ก็จะเรียกว่า เป็นอุบัติเหตุ

คดีศึกษาตัวอย่างนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า แม้ภรรยาของผู้เอาประกันภัยอ้างว่า ถึงผู้เอาประกันภัยนั้นเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว แต่อาการวูบสิ้นสติจนกระทั่งเสียชีวิตไปนั้นมิได้เกิดขึ้นโดยเจตนาและมุ่งหวัง ควรตีความเป็นอุบัติเหตุอันจะทำให้สามารถได้รับความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุได้ แต่การที่ผู้เอาประกันภัยมีประวัติอาการโรคหลอดเลือดแข็งตัวอย่างรุนแรง (Severe Coronary Atherosclerosis) มาก่อน โอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการฉีกขาดของเส้นเลือดของผู้เอาประกันภัยมีค่อนข้างสูง และท้ายที่สุดได้มาเกิดขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย โดยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีสิ่งอื่นใดมากระทำต่อตัวผู้เอาประกันภัยเลย ฉะนั้น การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยจึงเป็นผลมาจากสภาพภาวะความเจ็บป่วย (Sickness) ทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งมิใช่อุบัติเหตุดังที่กล่าวอ้างแต่ประการใด

หลายท่านที่ได้อ่านแล้ว อาจมีคำถามต่อภายในใจว่า สมมุติถ้ามีสิ่งอื่นที่เป็นปัจจัยภายนอกมากระทำแล้ว จะทำให้อาการโรคหัวใจวายสามารถถือเป็นอุบัติเหตุได้กระนั้นหรือ?

เรามาลองดูคดีศึกษาเรื่องนี้เทียบเคียงกันนะครับ

ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยและมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย เมื่อได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้บนเนินเขา จึงได้รีบรุดเดินขึ้นเนินเขาสูง เพื่อไปช่วยทำการดับไฟ แต่ไม่สามารถขึ้นไปถึงจุดหมาย ได้ล้มหมดสติระหว่างทาง และเสียชีวิตระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาล 

ผลการตรวจพิสูจน์ แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพลงความเห็นว่า สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องมาจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischaemic Heart Disease) ซึ่งผู้ตายเคยมีประวัติอาการหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่แล้ว โดยมีชนวนเหตุจากการออกแรงเดินขึ้นเขาอย่างเร่งรีบ ประกอบกับปัจจัยเรื่องความร้อน ควันไฟ และความตื่นเต้นกังวลมาเป็นแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจนส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าวท้ายที่สุด มิฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยยังคงสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก

ภรรยาของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้อ้างความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กำหนดว่า

อุบัติเหตุ หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายอันมีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจากปัจจัยภายนอกโดยอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมองเห็นได้อย่างชัดเจน 

การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ หมายความถึง การเสียชีวิตที่มีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะมาจากอุบัติเหตุดังที่กำหนดไว้ ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเอง

การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยล้วนตกอยู่ในความหมายดังกล่าวทั้งสิ้น

แต่บริษัทประกันภัยยืนยันว่า สาเหตุการตายแท้จริงนั้นมาจากอาการโรคหัวใจที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

เมื่อคดีมีการต่อสู้กันมาจนกระทั่งขึ้นสู่ชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้

1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังที่กำหนดไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว โจทก์ก็จำต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัยได้ว่า เปลวไฟ ไอความร้อน และควันจากไฟไหม้ การออกกำลังอย่างเร่งรีบของผู้เอาประกันภัยในการเดินขึ้นเชิงเขา ตลอดจนความวิตกกังวลจากเหตุไฟไหม้ หน้าที่ที่ต้องกระทำ และความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย อันประกอบกันจนเกิดเป็นอุบัติเหตุดังที่กล่าวอ้างนั้น ล้วนได้เป็นสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่ผู้เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ ทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจถึงขนาดตีบตันขึ้นมา และนำไปสู่อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนเสียชีวิตในท้ายที่สุด

2) จากพยานหลักฐานที่นำเสนอ แม้ในเรื่องหน้าที่ ความรับผิดชอบแล้ว ศาลไม่มีข้อสงสัยอยู่ก็ตาม แต่ครั้นพิจารณาถึงการกระทำของผู้เอาประกันภัยแล้ว ได้เกิดด้วยความตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยดับไฟ และได้ขับรถไปจอดด้านล่าง และได้ลงมาออกแรงเดินขึ้นสู่เชิงเขาอย่างเร่งรีบนั้น ก็เกิดขึ้นโดยเจตนา มิใช่โดยอุบัติเหตุ จนนำไปสู่การเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดดังกล่าว โดยปราศจากเหตุสอดแทรกอื่นใดที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ตั้งใจ เป็นต้นว่า การลื่นหกล้ม หรือการถูกกระแทกอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย 

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยมีสาเหตุโดยตรงและโดยจำเพาะจากอุบัติเหตุดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และตัดสินให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Dennis v City Mutual Life Assurance Society Ltd, Supreme Court of Victoria, 30 October 1978)
 
คำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลบ้านเรา ซึ่งระบุว่า

อุบัติเหตุหมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกายและทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง” 

เมื่อเทียบเคียงคำว่า อุบัติเหตุของต่างประเทศกับของบ้านเรา สังเกตไหมครับว่า ของเขาเสมือนเน้นไปที่สาเหตุ (cause) ขณะที่ของบ้านเราเสมือนเน้นไปที่ผลลัพธ์ (effect) หากนำของบ้านเราไปปรับใช้กับคดีศึกษานี้ คุณคิดว่า จะให้ผลทางคดีแตกต่างกันบ้างไหม?

เรื่องต่อไป เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่? แล้วค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณเช่นไร? 

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น