วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 108: เมื่อเกิดความเสียหายต่อสต็อก (Stock) ที่เอาประกันภัยพร้อมกับความสูญเสียต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่? แล้วค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณเช่นไร?


(ตอนที่หนึ่ง)

โดยทั่วไป เมื่อร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง สต็อกสินค้า ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งหมดเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Accidental Damage (Property) Insurance Policy) ฉบับหนึ่งแล้ว มักจะจัดทำประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินต่อผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ของตนพร้อมกันไปด้วยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ครอบคลุมโอกาสความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในด้านทรัพย์สินกับด้านการเงิน

ต่อมา ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา สร้างความเสียหายแก่สต็อกสินค้าเสื้อผ้าทั้งหมด 

หากปรากฏข้อมูลว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มี

ยอดขายประจำปีประมาณ                           8,000,000 บาทต่อปี
อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
สต็อกสินค้าเสื้อผ้าคงคลังก่อนเกิดเหตุอยู่ที่
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                                 4,000,000 บาท
(ราคาต้นทุนซื้อ)                                           2,000,000 บาท
ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า  
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                                 4,000,000 บาท
ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด             12 เดือน 

งั้นจะพิจารณาคำนวณค่าสินไหมทดแทนออกมายังไง?

ผู้เอาประกันภัยรายนี้นำเสนอวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนดังต่อไปนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ทุนประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า 
(ราคาขายบวกกำไรแล้ว)                          =     4,000,000 บาท
สต็อกสินค้าเสียหายทั้งหมด 
ให้ชดใช้เต็มทุนประกันภัย                         =     4,000,000 บาท

                                                                 ======

2) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด  =         12 เดือน 
ยอดขายประจำปีที่สูญเสียไป                     =     8,000,000 บาท
อัตราผลกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50%
ค่าสินไหมทดแทน (8,000,000 x 50%)      =     4,000,000 บาท

                                                                 ======

รวมค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับทั้ง 1) + 2) =  8,000,000 บาท

โดยผู้เอาประกันภัยรายนี้ให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยตนได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกความคุ้มครองคนละฉบับ ทุนประกันภัยแยกต่างหากจากกัน และชำระค่าเบี้ยประกันภัยแยกฉบับละจำนวนเงิน ประกอบกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับต่างมิได้กำหนดข้อห้ามเรื่องความคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนกันเลย ฉะนั้น ตนจึงควรที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเต็มที่ตามจำนวนเงินความคุ้มครองจากทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

คุณเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยรายนี้ไหมครับ?

ผลลัพธ์จะออกมาเช่นใด? อดใจรอติดตามตอนหน้าครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น