วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 101: แล้วถ้าหากยาจากกัญชาและต้นกัญชาที่ไ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 101: แล้วถ้าหากยาจากกัญชาและต้นกัญชาที่ไ...: เรื่องที่ 101: แล้วถ้าหากยาจากกัญชาและต้นกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ถือครอง ถูกคนร้ายขโมยไป จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ไหม? ...
เรื่องที่ 101: แล้วถ้าหากยาจากกัญชาและต้นกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ถือครอง ถูกคนร้ายขโมยไป จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ไหม?


คดีตัวอย่างนี้อาจมีเงื่อนไขข้อกำหนดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างจากชุดกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านของบ้านเราอยู่บ้าง แต่เห็นว่า มีบางประเด็นที่น่าสนใจควรนำมาเล่าสู่กันฟัง

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศแคนาดา ผู้เอาประกันภัยรายนี้ซึ่งประสบอุบัติเหตุทางถนนจนร่างกายทุพพลภาพได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐให้ถือครองยาจากกัญชา และปลูกต้นกัญชาภายในบ้านเพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาพยาบาลของตนเองได้ 

ประมาณเดือนกันยายน ค.ศ. 2009 ได้มีคนร้ายเข้าไปขโมยถอนต้นกัญชาหกต้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านไป ถัดมาอีกสองปีในเดือนเดียวกัน ต้นกัญชาที่ปลูกไว้อีกห้าต้นก็ถูกขโมยไปอีก

เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้พิจารณาเงื่อนไขข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านของตน ซึ่งระบุความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องเอาไว้ ดังนี้

1. หมวดความคุ้มครอง ข – ทรัพย์สินส่วนบุคคล (Personal Property)
    คุ้มครองสิ่งของต่าง ๆ ภายในสถานที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นใดซึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ สวมใส่ หรือใช้อยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัยตามปกติวิสัยเพื่อการอยู่อาศัย

2. การขยายความคุ้มครองถึงต้นไม้ ไม้พุ่ม และพรรณพืชต่าง ๆ
    ขยายความคุ้มครองถึงต้นไม้ ไม้พุ่ม และพรรณพืชต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสวน (landscaping) ภายในสถานที่เอาประกันภัย ในเงินคุ้มครองรวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งหมด โดยมีจำนวนเงินคุ้มครองย่อยสูงสุดต่อต้น 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้งการขนย้ายซากด้วย อันมีสาเหตุจากภัยที่กำหนดไว้ รวมถึงการลักขโมยด้วย

ผู้เอาประกันภัยจึงได้ยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยของตนทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

บริษัทประกันภัยตกลงยินดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับต้นกัญชาทั้งหมดสิบเอ็ดต้นที่ถูกขโมยไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,000 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ได้รับการโต้แย้งจากผู้เอาประกันภัยรายนี้ว่า (เนื่องจากมูลค่าของต้นกัญชาแต่ละต้นสูงกว่าวงเงินที่กำหนดไว้) ตนเห็นว่า ต้นกัญชานั้นควรถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองหลักมากกว่าที่จะอยู่ในส่วนของการขยายความคุ้มครองดังกล่าวข้างต้น เพราะคำว่า “การจัดสวน (landscaping)” มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างภูมิทัศน์ ขณะที่การปลูกต้นกัญชานั้นกระทำเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ 

ฉะนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของต้นกัญชาเหล่านั้น รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ตลอดจนความเสียหายทางด้านจิตใจ และความเจ็บปวดทางร่างกายอีกด้วย ซึ่งคำนวณแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 360,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (ไม่รวมค่าต้นกัญชา)

แน่นอนครับ เรื่องนี้จำต้องให้ศาลท่านเป็นผู้พิจารณาเสียแล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับบริษัทประกันภัยซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีนี้ว่า ต้นกัญชาจัดอยู่ในส่วนของการขยายความคุ้มครอง มิใช่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัยแต่ประการใด 

โจทก์ คือ ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ในหมวดความคุ้มครอง ข ชัดเจนอยู่แล้วว่า คุ้มครองสิ่งของต่าง ๆ ภายในสถานที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นใด ....” 

ฉะนั้น ต้นกัญชาถือเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะบุคคล เข้าข่ายอยู่ในความหมายของทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความคุ้มครองหมวดนี้ยังกำหนดเงื่อนไขต่ออีกว่า จะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ใช้ตามปกติวิสัยเพื่อการอยู่อาศัย (usual to …… of a dwelling) เท่านั้น อนึ่ง ในเวลาที่พิจารณาคดีนี้ ปรากฏมีผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกต้นกัญชาได้ไม่ถึงร้อยละหนึ่งของจำนวนประชากรของประเทศเลย

แม้ศาลอุทธรณ์จะเห็นต่างจากศาลชั้นต้นเรื่องรายการของทรัพย์สินที่คุ้มครอง แต่ก็เห็นพ้องกันตรงที่ต้นกัญชาไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ของหมวดความคุ้มครอง ข ดังเหตุผลที่อ้างนั้น และตัดสินว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Stewart v. TD General Insurance Company, 2014 ONSC 854 (CanLII))

เทียบเคียงกับถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งชุดกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านของบ้านเราใช้อ้างอิงถึงเป็นต้นแบบ ก็มีระบุถ้อยคำที่คล้ายคลึงตรงคำจำกัดความของทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างว่า “....... และทรัพย์สินอื่น ๆ (ที่มิได้ระบุอยู่ในข้อยกเว้นทั่วไป 5.3 ข้อ 5.3.8 ต้นไม้ การจัดแต่งสวน สนามหญ้า) เพื่อการอยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัยหรือบุคคล ซึ่งตามปกติพักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย 

เคยมีประเด็นปัญหาการตีความว่า ทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัยนั้น หมายความเช่นไรกันแน่? ถึงขนาดจะต้องอาศัยจำนวนประชากรของประเทศมาคำนวณประกอบการพิจารณาดังเช่นคดีศึกษานี้หรือเปล่า?

ส่วนตัวที่หยิบยกคดีศึกษาเกี่ยวกับกัญชามาเพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างความรู้ และได้เขียนเพิ่มเติมในบทความ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว อีก เพราะไม่แน่ใจว่า การผ่อนผันให้ถือครองกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ของเราจะถูกดำเนินการเร็วขนาดไหน แต่กระแสเรียกร้องดูมากเหมือนกัน เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ธุรกิจประกันภัยควรเตรียมการรองรับไว้บ้างน่าจะดี

เรื่องต่อไป: เป็นกรณีคดีศึกษาของการประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance) ส่วนจะเป็นประเด็นใดนั้น โปรดติดตามครับ)
บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 100: ผู้เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuan...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 100: ผู้เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuan...: เรื่องที่ 100: ผู้ เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuana/Cannabis) ภายในอาคารที่เช่า เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่อาคารนั้น ผู้ให้เช...
เรื่องที่ 100: ผู้เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuana/Cannabis) ภายในอาคารที่เช่า เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่อาคารนั้น ผู้ให้เช่าอาคารนั้นสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินของตนรับผิดได้หรือไม่?


เรื่องการอนุญาตให้ถือครองกัญชาได้ในต่างประเทศอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตเพียงระดับมลรัฐ (State Law) เท่านั้น และทยอยดำเนินการไปตามแต่ละรัฐที่มีความพร้อม ส่วนระดับของประเทศยังมิได้ออกกฎหมายรองรับ (Federal Law) กันเลย สร้างความปวดหัวให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก

ฉะนั้น จะส่งผลอย่างไรกับการประกันภัยบ้าง? มาดูคดีศึกษานี้กันครับ

ผู้เอาประกันภัยมีอาคารพาณิชย์ให้เช่าโดยจำกัดเพียงเพื่อให้เปิดเป็นสำนักงาน หรือธุรกิจที่เสี่ยงภัยต่ำเท่านั้น และได้ทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารเอาไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่า ได้นำกำลังเข้าไปตรวจค้นอาคารที่ให้เช่าของผู้เอาประกันภัย เนื่องจากมีเบาะแสว่า ผู้เช่าของผู้เอาประกันภัยนั้นได้ดัดแปลงอาคารที่เช่าเพื่อใช้ปลูกกัญชาแทน ขอเชิญเข้าไปร่วมตรวจดูสภาพด้วย 

เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเห็นสภาพอาคารของตนเองแล้ว แทบจะหน้ามืดเป็นลม เพราะตัวอาคารนั้นถูกรื้อผนังออก เจาะรูตรงหลังคา พร้อมมีการติดตั้งท่อระบายอากาศกับท่อแก๊สเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการปลูกกัญชาดังกล่าว ประมินราคาค่าเสียหายต่อตัวอาคารนั้นแล้วคิดเป็นเงินประมาณ 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
 
ผู้เอาประกันภัยจึงยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน โดยให้การว่า ตนมิได้รับรู้ หรือเห็นชอบให้ผู้เช่าดำเนินการดังกล่าวแต่ประการใด แต่ต้องผิดหวัง เพราะถูกปฏิเสธ จึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามเงื่อนไขข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นด้วย

บริษัทประกันภัยรายนี้อ้างว่า เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้กำหนดข้อยกเว้นของสาเหตุของความเสียหายที่ไม่คุ้มครองเอาไว้ว่า

การกระทำอันมีลักษณะฉ้อโกงหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้เอาประกันภัยหรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

เนื่องจากผู้เอาประกันภัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเช่าอย่างชัดแจ้งตั้งแต่ต้นแล้วว่า ให้เพื่อทำเป็นสำนักงานหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงภัยต่ำเท่านั้น ฉะนั้น การรื้อดัดแปลงอาคารที่เช่านั้นของผู้เช่าโดยพลการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้เอาประกันภัยดังที่ได้กำหนดไว้ในข้อยกเว้นข้างต้น

ศาลพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย และกล่าวเสริมเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ถึงแม้ตามกฎหมายของมลรัฐจะสามารถให้ดำเนินการปลูกกัญชาได้ แต่ยังถือเป็นการกระทำผิดของกฎหมายระดับประเทศ (Federal Law) อยู่ดี 

ครั้นเมื่อผู้เอาประกันภัยนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน แม้ผู้เอาประกันภัยพยายามต่อสู้ว่า การกระทำของผู้เช่านั้นถือเป็นการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็เห็นสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า การกระทำของผู้เช่านั้นเข้าข่ายเป็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อทรัพย์สินที่เช่าซึ่งผู้เช่าได้รับมอบจากผู้ให้เช่าให้ครอบครองดูแล ซึ่งแตกต่างจากการกระทำป่าเถื่อนโดยบุคคลอื่นใด

ส่วนประเด็นข้อขัดแย้งทางด้านกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณา จึงตัดสินยืนให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ 

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี K.V.G. Properties, Inc. v. Westfield Insurance Company, No. 17-2421 (Aug. 21, 2018))

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานบ้านเราก็มีข้อยกเว้นข้อนี้เช่นกันนะครับ

เรื่องต่อไป: แล้วถ้าหากยาจากกัญชาและต้นกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ถือครอง ถูกคนร้ายขโมยไป จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ไหม?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99/2: รถบรรทุกชนรถไฟขนส่งสินค้าตกรางทั้ง...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99/2: รถบรรทุกชนรถไฟขนส่งสินค้าตกรางทั้ง...: เรื่องที่ 99/2: รถบรรทุกชนรถไฟขนส่งสินค้าตกรางทั้งขบวนมีผู้เสียหายจำนวนมากเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของรถบรรทุกรับผิดชอบแยกผู้เสียหายแต่ล...
เรื่องที่ 99/2: รถบรรทุกชนรถไฟขนส่งสินค้าตกรางทั้งขบวนมีผู้เสียหายจำนวนมากเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของรถบรรทุกรับผิดชอบแยกผู้เสียหายแต่ละรายเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) ? 


(ตอนที่สาม)

เนื่องจากเป็นคนละเหตุการณ์คนละคดีจึงขอกำหนดเป็นหัวข้อย่อยที่ 99/2 แทน

คดีนี้การรถไฟกับเจ้าของสินค้าจำนวนสิบสี่รายและผู้ขนส่งสินค้าอีกหลายรายร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของรถบรรทุกกับบริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถบรรทุกคันนั้นเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

โดยบรรยายคำฟ้องว่า ผู้ขับขี่ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่หนึ่งได้ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าของโจทก์อันประกอบด้วยหัวรถจักรกับตู้รถสินค้าจำนวนสิบหกตู้ซึ่งกำลังแล่นอยู่บนรางรถไฟจนตกรางทั้งขบวน ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ ดังนี้

(1) ค่าเสียหายต่อหัวรถจักรกับตู้รถไฟกับทรัพย์สินอื่นของการรถไฟ 
     และค่าเสียหายของเจ้าของตู้สินค้าอีกสิบสี่รายรวมกันเป็นจำนวน
     เงินทั้งสิ้น 41,371.31 ดอลล่าร์สหรัฐ
(2) ค่าเสียหายของผู้ขนส่งหลายรายรวมกันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น
     7,638.91 ดอลล่าร์สหรัฐ
(3) ค่าเสียหายต่อพื้นถนนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9,000.00 
     ดอลล่าร์สหรัฐ

จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย

ในชั้นศาลชั้นต้น บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยที่สองให้การต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่ให้ความคุ้มครองแก่รถบรรทุกคันที่ก่อเหตุระบุวงเงินจำกัดความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกออกเป็นหมวดความคุ้มครองต่าง ๆ ดังนี้

หมวด ก. ความรับผิดสำหรับความบาดเจ็บทางร่างกาย (รวมทั้งความ
             รับผิดเนื่องจากรถยนต์)

             100,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อคน
             300,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
                              แต่ละครั้ง

หมวด ข. ความรับผิดเฉพาะเนื่องมาจากรถยนต์ สำหรับความเสียหาย
             ต่อทรัพย์สิน
                5,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

หมวด ค. ความรับผิดอื่น ๆ นอกเหนือจากรถยนต์ สำหรับความเสีย
             หายต่อทรัพย์สิน
             …………………………………..

ฉะนั้น ความรับผิดของบริษัทประกันภัยในกรณีนี้จำกัดอยู่เพียงแค่ 5,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเพียงหนึ่งอุบัติเหตุเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้เสียหายอยู่กี่ราย

ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า  จากแนวคำพิพากษาที่ผ่านมาระบุให้ตีความคำว่า “อุบัติเหตุ” ของการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายด้วยการพิจารณาจากมุมมองของบุคคลภายนอกผู้เสียหายเป็นเกณฑ์ ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามวงเงินดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละรายซึ่งได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นแยกจากกันไปในแต่ละราย

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ และได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดให้แก่ฝ่ายโจทก์แยกแต่ละราย

บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งประเด็นการตีความหมายของคำว่า “ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง (each accident)” ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว มีความเห็นว่า

คงปฏิเสธลำบากเมื่อคนทั่วไปเอ่ยถึงคำว่า “อุบัติเหตุ” มักจะมองความหมายไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง อันเป็นการพูดถึง “อุบัติเหตุ” ในแง่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะคำนึงถึงว่า จะมีบุคคลกี่คนเข้ามาเกี่ยวข้อง?

ครั้นมาพิจารณาในหมวดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า

หมวด ก. เรื่องความบาดเจ็บทางร่างกายจำแนกออกเป็นวงเงินต่อคนกับวงเงินต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ถ้ามีผู้บาดเจ็บหลายรายจะรับผิดชอบรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์

ขณะที่หมวด ข. กำหนดเพียงวงเงินต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งเท่านั้น โดยมิได้เอ่ยถึงกรณีหากมีผู้เสียหายหลายรายดังเช่นในหมวด ก. เลย
 อีกทั้งข้อกำหนดในหมวด ข. นี้ยังเขียนไว้ว่า “บริษัทตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความรับผิดตามกฎหมายต่อความวินาศ หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุประกอบกับข้อความที่ระบุว่า “จำนวนเงินจำกัดความรับผิดของบริษัท” ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของบริษัทประกันภัยที่ไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองโดยไม่มีวงเงินจำกัดความรับผิด อันเป็นการมองไปที่สาเหตุ (Cause) ที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์ ในที่นี้ คือ ความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่นั่นเอง มากกว่าจะมองไปที่ผลลัพธ์ (Effect/Result) ของความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายแต่ละราย 

อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่คำนวณจากวงเงินความรับผิดที่กำหนดจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นต่อระยะเวลาเอาประกันภัย ยิ่งแสดงอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวของบริษัทประกันภัย

ฉะนั้น เพียงอาศัยข้อความดังระบุไว้ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีความชัดเจนดีแล้วโดยไม่จำต้องไปพิจารณาถึงแนวทางการตีความของคำพิพากษาคดีอื่นอีก จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดต่อฝ่ายโจทก์ทุกรายรวมกันแล้วเพียง 5,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Saint Paul-Mercury Indemnity Company v. Calvin T. Rutland, Doing Business as Rutland Contracting Company, 225 F.2d 689 (5th Cir. 1955))  

แนวทางการตีความคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” ของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่จะมองไปที่สาเหตุ (Cause) ที่เกิดขึ้นมากกว่า มีจำนวนน้อยที่จะมองไปที่ผลลัพธ์ (Effect/Result) ของความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี คงขึ้นอยู่กับข้อความจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละคดีประกอบกับถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ และดุลพินิจของศาลท่านอีกด้วย

เชื่อว่า อย่างน้อยคงพอเสริมสร้างมุมมองให้แก่ผู้อ่านที่สนใจได้บ้างนะครับ เพราะข้อถกเถียงคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” กับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) คงไม่น่าจะจบง่าย ๆ เช่นนี้

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐานของบ้านเราซึ่งได้กำหนดคำนิยามศัพท์ไว้ว่า

    อุบัติเหตุแต่ละครั้งหมายถึง เหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องกัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน
    (“Each Accident” means an incident or series of incidents arising from one event;)

คงพอทำให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยคลายกังวลลงไปได้ระดับหนึ่ง

อนึ่ง แนวทางการตีความตามตัวอย่างคดีศึกษาเหล่านี้มิได้จำกัดเพียงการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของรถยนต์เท่านั้น สามารถใช้กับการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ได้เช่นกัน ลองจินตนาการเกิดเหตุที่โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าก็ได้ครับ

เรื่องต่อไป: ผู้เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuana/Cannabis) ภายในอาคารที่เช่า เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่อาคารนั้น ผู้ให้เช่าอาคารนั้นสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินของตนรับผิดได้หรือไม่

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ...: เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน...
เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน่


(ตอนที่สอง)

จากคำถามที่ทิ้งท้ายเอาไว้สัปดาห์ที่แล้ว ขอยกตัวอย่างคดีต้นแบบของประเทศอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งศาลต่างประเทศหลายแห่งนิยมใช้อ้างอิงจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้อาจจะเก่าไปบ้าง แทนบอกคำเฉลยก็แล้วกันนะครับ 

ค่ำคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 รถรางคันหนึ่งขณะแล่นรับผู้โดยสารเต็มคันรถไปตามถนนสาธารณะ ได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 40 ราย ทันทีที่ทราบเรื่อง บริษัทผู้ประกอบกิจการรถรางคันนี้ได้แจ้งเหตุต่อบริษัทประกันภัยของตนสองบริษัทซึ่งต่างให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายสำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายและความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการใช้รถรางนั้น โดยมีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 250 ปอนด์ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident) แยกกันคนละฉบับ โดยมีระยะเวลาความคุ้มครอง ดังนี้

บริษัทประกันภัยแห่งแรก (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บริษัท A) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต่ออายุปีที่สอง คุ้มครองหนึ่งปี จาก (From) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ถึง (To) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889

บริษัทประกันภัยแห่งที่สอง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บริษัท B) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทำใหม่ปีแรก คุ้มครองหนึ่งปี จาก (From) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ถึง (To) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889 

แต่ได้เกิดประเด็นข้อถกเถียงกันขึ้นมาระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยทั้งสองแห่ง ถึงความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ได้แก่

1) ความหมายของ “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” หมายถึงเช่นใดกันแน่? 

ในส่วนของผู้เอาประกันภัยแปลความว่า หมายความถึง เมื่อมีผู้บาดเจ็บรวม 40 ราย ถือเป็น 40 อุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

ในมุมมองของบริษัทประกันภัยแปลความว่า เมื่อมีรถคันเดียวเกิดอุบัติเหตุ ต้องถือเป็นเพียงหนึ่งอุบัติเหตุเท่านั้น

2) ระยะเวลาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับซ้ำซ้อนกันหรือไม่?

เนื่องจากบริษัท B ตีความว่า ตนจะต้องเริ่มต้นคุ้มครองในวันถัดจากวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 เพราะคำว่า “จาก (From)” นั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ด้วย ดังนั้น ตนไม่จำต้องร่วมรับผิดกับบริษัท A สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันแรกคุ้มครองดังกล่าว

เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลให้วินิจฉัย

ศาลชั้นต้นคดีนี้ได้พิเคราะห์จากพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นว่า

1) ความหมายของ “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)

เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับมิได้กำหนดคำนิยาม “อุบัติเหตุ” เอาไว้ เมื่อพิจารณาถึงคำว่า “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” ที่กำหนดไว้นั้น สามารถตีความออกได้เป็นสองนัย กล่าวคือ 

(ก) นัยแรก 
หากเกิดเหตุรถเก๋งชนกับรถบรรทุกส่งผลทำให้มีผู้บาดเจ็บอยู่ห้าราย อาจกล่าวได้ว่า ทั้งห้ารายนั้นได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งเดียวกัน เพราะผู้เห็นเหตุการณ์มองภาพไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ทั้งรถเก๋งกับรถบรรทุกได้ประสบอุบัติเหตุคราวเดียวกัน หรืออุบัติเหตุที่เกิดแก่รถไฟ หรือรถยนต์ลำพังคันเดียว หรือสะพานแห่งเดียว อันเป็นการมองไปที่สาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ (The Cause Theory) ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทประกันภัยมากกว่า เพราะกรณีนี้ ความรับผิดของบริษัทประกันภัยทั้งสองรายรวมกันแล้วไม่เกิน 250 ปอนด์ หรือ

(ข) นัยที่สอง 
อาจกล่าวได้อีกมุมหนึ่งได้ว่า ผู้บาดเจ็บรวมห้าราย ต่างคนต่างได้ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้แยกกันไปแต่ละราย เช่น บางคนหัวแตก บางคนแขนหัก บางคนขาหัก เป็นต้น อันเป็นการมองไปที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ (The Effect/Result Theory) ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันภัย และ/หรือบุคคลภายนอกผู้เสียหายมากกว่า เนื่องจากกรณีนี้ ความรับผิดของบริษัทประกันภัยทั้งสองรายรวมกันแล้วเท่ากับ 250 ปอนด์ คูณจำนวนผู้บาดเจ็บ 40 ราย

ครั้นพิจารณาถึงวัตถุที่เอาประกันภัย คือ ความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอกผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ผู้บาดเจ็บแต่ละรายล้วนต่างมาเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบสำหรับความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่ตนเองเป็นราย ๆ ไป 

ด้วยเหตุผลนี้ ศาลชั้นต้นเห็นสมควรว่า “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” นั้น หมายความถึง อุบัติเหตุใดที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เสียหายรายหนึ่งรายใด ซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการตีความจากมุมมองของผู้เสียหายเป็นเกณฑ์ เช่นนี้ น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้และสมเหตุสมผลมากกว่า

2) ระยะเวลาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับซ้ำซ้อนกันหรือไม่?

แม้บริษัท B ตีความว่า ตนควรต้องเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 เป็นต้นไป เพราะคำว่า “จาก (From)” นั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ด้วย โดยอ้างอิงคำพิพากษาอีกคดีหนึ่งก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่า คำว่า “จาก (From)” นั้น มีความหมายรวมถึงวันเริ่มต้นเข้าไปด้วยต่างหาก (24th inclusive)

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งตัดสินให้บริษัทประกันภัยทั้งสองบริษัทร่วมกันรับผิดสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ผู้บาดเจ็บแต่ละราย ด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวงเงินความคุ้มครองให้แก่ผู้บาดเจ็บเป็นราย ๆ ไป

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Southern Staffordshire Tramways Co., Ltd., v. Sickness Accident Assur. Assn., Ltd., 60 L.J.Q.B. 47, 63 L.T. 807 (1891), 1 Q.B. 402, 55 J.P. 168)

แนวทางการตีความเช่นนี้ ฝั่งผู้เอาประกันภัย/ผู้เสียหายน่าจะชอบใจ แต่ฝั่งบริษัทประกันภัยอาจไม่ใคร่พอใจอยู่บ้าง แต่ยังพอรับได้ด้วยมิใช่ความเสียหายจำนวนมากนัก

งั้นมาดูคดีนี้กัน

มีรถบรรทุกคันหนึ่งแล่นไปด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจนทำให้หัวรถจักรกับตู้รถสินค้าจำนวนสิบหกตู้ตกรางทั้งขบวน การรถไฟพร้อมกับเจ้าของสินค้าอีกสิบสี่ราย และผู้ขนส่งอีกหลายรายรวมตัวกันมาเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของรถคันนั้นกับบริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายให้แก่รถคันนั้นร่วมกันรับผิด

ผลทางคดีจะออกมาเช่นใด? จะนับเป็นกี่อุบัติเหตุ? ใครจะหน้ามืดบ้าง? สัปดาห์หน้ารู้กันครับ 

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99:รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำม...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 99:รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำม...: เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน...
เรื่องที่ 99:รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน่


(ตอนที่หนึ่ง)

หลายท่านอาจมีคำถามในใจ ต้องสนใจทำไมว่า จะเกิดอุบัติเหตุกี่ครั้ง? 

โดยหลักการสากลของการประกันภัยแล้ว จะให้ความคุ้มครองเพียงสิ่งที่เรียกว่า “อุบัติเหตุ” ตามความหมายของการประกันภัยเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัตถุที่เอาประกันภัย ซึ่งอาจเป็นชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน และความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยก็ได้

อุบัติเหตุ หรือภัย (Peril) จึงมีความสำคัญในแง่ความหมายที่ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองได้

ปกติในกรมธรรม์ประกันภัยจะกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือจำนวนเงินจำกัดความรับผิดซึ่งบริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่ผู้เอาประกันภัยตลอดระยะเวลาประกันภัย 

อุบัติเหตุในกรณีนี้มีความหมายถึงวงเงินที่ให้ความคุ้มครอง อาจกำหนดเป็นวงเงินต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง แต่ละเหตุการณ์ (Occurrence/Event) หรือหลายอุบัติเหตุ (Series) รวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือหลายอุบัติเหตุ/เหตุการณ์รวมกันตลอดระยะเวลาประกันภัยก็ได้ 

เช่น วงเงินความคุ้มครอง 50,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งและทุกครั้ง และโดยรวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาทตลอดระยะเวลาประกันภัย

บางครั้ง บริษัทประกันภัยอาจประสงค์ให้ผู้เอาประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมรับผิด (Excess) กับความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือในทางกลับกัน ผู้เอาประกันภัยยินยอมรับผิดชอบเอง (Deductible) สำหรับวงเงินความเสียหายระดับเล็กน้อย หรือปานกลางเพื่อแลกกับการได้ชำระเบี้ยประกันภัยลดน้อยลง  

อุบัติเหตุในความหมายนี้ คือ จำนวนครั้งที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องมีส่วนรับผิดชอบดังกล่าว เนื่องจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยอาจกำหนดวงเงินรับผิดชอบเองของผู้เอาประกันภัยเป็นต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และทุกครั้ง

เช่น วงเงินความเสียหายส่วนแรก 5,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งและทุกครั้ง

การที่ได้ทราบว่า เกิดอุบัติเหตุขึ้นมากี่ครั้ง? ภายในระยะเวลาประกันภัยจึงมีความสำคัญดังกล่าว

กรณีการประกันภัยที่มีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นทรัพย์สิน เมื่อเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือภัยที่คุ้มครองขึ้นมา การตีความหมายของ “อุบัติเหตุ” จะตีความจากมุมมองของผู้เอาประกันภัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นเกณฑ์ 

เป็นต้นว่า บ้านของผู้เอาประกันภัยเกิดไฟไหม้เนื่องจากเผลอเรอลืมดับธูปเทียนที่จุดไหว้พระไว้ นับได้ว่า เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาหนึ่งครั้ง 

สำหรับกรณีการประกันภัยที่มีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นชีวิตร่างกาย เมื่อเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือภัยที่คุ้มครองขึ้นมา การตีความหมายของ “อุบัติเหตุ” ก็จะตีความจากมุมมองของผู้เอาประกันภัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นเกณฑ์เช่นเดียวกัน 

เป็นต้นว่า ผู้เอาประกันภัยถูกคนร้ายตีศรีษะเพื่อแย่งชิงทรัพย์ไป นับได้ว่า ได้รับความบาดเจ็บจากอุบัติเหตุถูกทำร้ายร่างกายหนึ่งครั้ง

ส่วนกรณีการประกันภัยที่มีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เมื่อเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือภัยที่คุ้มครองขึ้นมา การตีความหมายของ “อุบัติเหตุ” จะตีความจากมุมมองของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย หรือจากมุมมองของผู้ที่ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำเป็นเกณฑ์เหมือนกันด้วยหรือเปล่า?

ดังตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมา รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ?
ก) หนึ่งอุบัติเหตุ
ข) สองอุบัติเหตุ
ค) สี่อุบัติเหตุ
ง) ห้าอุบัติเหตุ

คุณจะเลือกข้อใดเป็นคำตอบถูกต้องที่สุดครับ?

รอบหน้าพิจารณาคำเฉลยกันนะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/