เรื่องที่ 99/2: รถบรรทุกชนรถไฟขนส่งสินค้าตกรางทั้งขบวนมีผู้เสียหายจำนวนมากเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของรถบรรทุกรับผิดชอบแยกผู้เสียหายแต่ละรายเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ
(Accident) ?
(ตอนที่สาม)
เนื่องจากเป็นคนละเหตุการณ์คนละคดีจึงขอกำหนดเป็นหัวข้อย่อยที่
99/2 แทน
คดีนี้การรถไฟกับเจ้าของสินค้าจำนวนสิบสี่รายและผู้ขนส่งสินค้าอีกหลายรายร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของรถบรรทุกกับบริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถบรรทุกคันนั้นเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
โดยบรรยายคำฟ้องว่า ผู้ขับขี่ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่หนึ่งได้ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าของโจทก์อันประกอบด้วยหัวรถจักรกับตู้รถสินค้าจำนวนสิบหกตู้ซึ่งกำลังแล่นอยู่บนรางรถไฟจนตกรางทั้งขบวน
ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์
ดังนี้
(1) ค่าเสียหายต่อหัวรถจักรกับตู้รถไฟกับทรัพย์สินอื่นของการรถไฟ
และค่าเสียหายของเจ้าของตู้สินค้าอีกสิบสี่รายรวมกันเป็นจำนวน
เงินทั้งสิ้น 41,371.31 ดอลล่าร์สหรัฐ
(2) ค่าเสียหายของผู้ขนส่งหลายรายรวมกันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น
7,638.91 ดอลล่าร์สหรัฐ
(3) ค่าเสียหายต่อพื้นถนนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น
9,000.00
ดอลล่าร์สหรัฐ
จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
ในชั้นศาลชั้นต้น
บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยที่สองให้การต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่ให้ความคุ้มครองแก่รถบรรทุกคันที่ก่อเหตุระบุวงเงินจำกัดความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกออกเป็นหมวดความคุ้มครองต่าง ๆ
ดังนี้
หมวด
ก. ความรับผิดสำหรับความบาดเจ็บทางร่างกาย (รวมทั้งความ
รับผิดเนื่องจากรถยนต์)
100,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อคน
300,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ละครั้ง
หมวด
ข. ความรับผิดเฉพาะเนื่องมาจากรถยนต์ สำหรับความเสียหาย
ต่อทรัพย์สิน
5,000.00 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
หมวด
ค. ความรับผิดอื่น ๆ นอกเหนือจากรถยนต์ สำหรับความเสีย
หายต่อทรัพย์สิน
…………………………………..
ฉะนั้น
ความรับผิดของบริษัทประกันภัยในกรณีนี้จำกัดอยู่เพียงแค่ 5,000.00
ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น
เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเพียงหนึ่งอุบัติเหตุเท่านั้น
โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้เสียหายอยู่กี่ราย
ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า จากแนวคำพิพากษาที่ผ่านมาระบุให้ตีความคำว่า “อุบัติเหตุ”
ของการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายด้วยการพิจารณาจากมุมมองของบุคคลภายนอกผู้เสียหายเป็นเกณฑ์
ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามวงเงินดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละรายซึ่งได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นแยกจากกันไปในแต่ละราย
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์
และได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดให้แก่ฝ่ายโจทก์แยกแต่ละราย
บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งประเด็นการตีความหมายของคำว่า
“ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง (each accident)” ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว มีความเห็นว่า
คงปฏิเสธลำบากเมื่อคนทั่วไปเอ่ยถึงคำว่า “อุบัติเหตุ”
มักจะมองความหมายไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง
อันเป็นการพูดถึง “อุบัติเหตุ” ในแง่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะคำนึงถึงว่า
จะมีบุคคลกี่คนเข้ามาเกี่ยวข้อง?
ครั้นมาพิจารณาในหมวดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
จะเห็นได้ว่า
หมวด ก. เรื่องความบาดเจ็บทางร่างกายจำแนกออกเป็นวงเงินต่อคนกับวงเงินต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ถ้ามีผู้บาดเจ็บหลายรายจะรับผิดชอบรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์
ขณะที่หมวด
ข. กำหนดเพียงวงเงินต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งเท่านั้น โดยมิได้เอ่ยถึงกรณีหากมีผู้เสียหายหลายรายดังเช่นในหมวด
ก. เลย
อีกทั้งข้อกำหนดในหมวด ข. นี้ยังเขียนไว้ว่า “บริษัทตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความรับผิดตามกฎหมายต่อความวินาศ
หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ” ประกอบกับข้อความที่ระบุว่า “จำนวนเงินจำกัดความรับผิดของบริษัท”
ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของบริษัทประกันภัยที่ไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองโดยไม่มีวงเงินจำกัดความรับผิด
อันเป็นการมองไปที่สาเหตุ (Cause) ที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์ ในที่นี้ คือ
ความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่นั่นเอง มากกว่าจะมองไปที่ผลลัพธ์ (Effect/Result)
ของความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายแต่ละราย
อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่คำนวณจากวงเงินความรับผิดที่กำหนดจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นต่อระยะเวลาเอาประกันภัย
ยิ่งแสดงอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวของบริษัทประกันภัย
ฉะนั้น เพียงอาศัยข้อความดังระบุไว้ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า
มีความชัดเจนดีแล้วโดยไม่จำต้องไปพิจารณาถึงแนวทางการตีความของคำพิพากษาคดีอื่นอีก
จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดต่อฝ่ายโจทก์ทุกรายรวมกันแล้วเพียง 5,000.00
ดอลล่าร์สหรัฐต่อหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี
Saint
Paul-Mercury Indemnity Company v. Calvin T. Rutland,
Doing Business as Rutland Contracting Company, 225 F.2d
689 (5th Cir. 1955))
แนวทางการตีความคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” ของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่จะมองไปที่สาเหตุ (Cause)
ที่เกิดขึ้นมากกว่า มีจำนวนน้อยที่จะมองไปที่ผลลัพธ์ (Effect/Result)
ของความเสียหายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี
คงขึ้นอยู่กับข้อความจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละคดีประกอบกับถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ
และดุลพินิจของศาลท่านอีกด้วย
เชื่อว่า
อย่างน้อยคงพอเสริมสร้างมุมมองให้แก่ผู้อ่านที่สนใจได้บ้างนะครับ
เพราะข้อถกเถียงคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” กับ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” คงไม่น่าจะจบง่าย ๆ เช่นนี้
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐานของบ้านเราซึ่งได้กำหนดคำนิยามศัพท์ไว้ว่า
“อุบัติเหตุแต่ละครั้ง”
หมายถึง เหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องกัน
ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน
(“Each
Accident” means an incident or series of incidents arising from one event;)”
คงพอทำให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยคลายกังวลลงไปได้ระดับหนึ่ง
อนึ่ง แนวทางการตีความตามตัวอย่างคดีศึกษาเหล่านี้มิได้จำกัดเพียงการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของรถยนต์เท่านั้น
สามารถใช้กับการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ลองจินตนาการเกิดเหตุที่โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าก็ได้ครับ
เรื่องต่อไป: ผู้เช่าแอบลักลอบปลูกกัญชา (Marijuana/Cannabis) ภายในอาคารที่เช่า เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่อาคารนั้น
ผู้ให้เช่าอาคารนั้นสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินของตนรับผิดได้หรือไม่?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง
http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น