เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ
มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน่?
(ตอนที่สอง)
ค่ำคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 รถรางคันหนึ่งขณะแล่นรับผู้โดยสารเต็มคันรถไปตามถนนสาธารณะ ได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 40 ราย ทันทีที่ทราบเรื่อง บริษัทผู้ประกอบกิจการรถรางคันนี้ได้แจ้งเหตุต่อบริษัทประกันภัยของตนสองบริษัทซึ่งต่างให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายสำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายและความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการใช้รถรางนั้น โดยมีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 250 ปอนด์ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident) แยกกันคนละฉบับ โดยมีระยะเวลาความคุ้มครอง ดังนี้
บริษัทประกันภัยแห่งแรก (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บริษัท A) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต่ออายุปีที่สอง คุ้มครองหนึ่งปี จาก (From) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ถึง (To) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889
บริษัทประกันภัยแห่งที่สอง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บริษัท B) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทำใหม่ปีแรก คุ้มครองหนึ่งปี จาก (From) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ถึง (To) วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889
แต่ได้เกิดประเด็นข้อถกเถียงกันขึ้นมาระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยทั้งสองแห่ง ถึงความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ได้แก่
1) ความหมายของ “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” หมายถึงเช่นใดกันแน่?
ในส่วนของผู้เอาประกันภัยแปลความว่า หมายความถึง เมื่อมีผู้บาดเจ็บรวม 40 ราย ถือเป็น 40 อุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
ในมุมมองของบริษัทประกันภัยแปลความว่า เมื่อมีรถคันเดียวเกิดอุบัติเหตุ ต้องถือเป็นเพียงหนึ่งอุบัติเหตุเท่านั้น
2) ระยะเวลาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับซ้ำซ้อนกันหรือไม่?
เนื่องจากบริษัท B ตีความว่า ตนจะต้องเริ่มต้นคุ้มครองในวันถัดจากวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 เพราะคำว่า “จาก (From)” นั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ด้วย ดังนั้น ตนไม่จำต้องร่วมรับผิดกับบริษัท A สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันแรกคุ้มครองดังกล่าว
เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลให้วินิจฉัย
ศาลชั้นต้นคดีนี้ได้พิเคราะห์จากพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นว่า
1) ความหมายของ “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)”
เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับมิได้กำหนดคำนิยาม “อุบัติเหตุ” เอาไว้ เมื่อพิจารณาถึงคำว่า “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” ที่กำหนดไว้นั้น สามารถตีความออกได้เป็นสองนัย กล่าวคือ
(ก) นัยแรก
หากเกิดเหตุรถเก๋งชนกับรถบรรทุกส่งผลทำให้มีผู้บาดเจ็บอยู่ห้าราย อาจกล่าวได้ว่า ทั้งห้ารายนั้นได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งเดียวกัน เพราะผู้เห็นเหตุการณ์มองภาพไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ทั้งรถเก๋งกับรถบรรทุกได้ประสบอุบัติเหตุคราวเดียวกัน หรืออุบัติเหตุที่เกิดแก่รถไฟ หรือรถยนต์ลำพังคันเดียว หรือสะพานแห่งเดียว อันเป็นการมองไปที่สาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ (The Cause Theory) ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทประกันภัยมากกว่า เพราะกรณีนี้ ความรับผิดของบริษัทประกันภัยทั้งสองรายรวมกันแล้วไม่เกิน 250 ปอนด์ หรือ
(ข) นัยที่สอง
อาจกล่าวได้อีกมุมหนึ่งได้ว่า ผู้บาดเจ็บรวมห้าราย ต่างคนต่างได้ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้แยกกันไปแต่ละราย เช่น บางคนหัวแตก บางคนแขนหัก บางคนขาหัก เป็นต้น อันเป็นการมองไปที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ (The Effect/Result Theory) ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันภัย และ/หรือบุคคลภายนอกผู้เสียหายมากกว่า เนื่องจากกรณีนี้ ความรับผิดของบริษัทประกันภัยทั้งสองรายรวมกันแล้วเท่ากับ 250 ปอนด์ คูณจำนวนผู้บาดเจ็บ 40 ราย
ครั้นพิจารณาถึงวัตถุที่เอาประกันภัย คือ ความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอกผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ผู้บาดเจ็บแต่ละรายล้วนต่างมาเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบสำหรับความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่ตนเองเป็นราย ๆ ไป
ด้วยเหตุผลนี้ ศาลชั้นต้นเห็นสมควรว่า “อุบัติเหตุแต่ละครั้ง (Any One Accident)” นั้น หมายความถึง อุบัติเหตุใดที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เสียหายรายหนึ่งรายใด ซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการตีความจากมุมมองของผู้เสียหายเป็นเกณฑ์ เช่นนี้ น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้และสมเหตุสมผลมากกว่า
2) ระยะเวลาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับซ้ำซ้อนกันหรือไม่?
แม้บริษัท B ตีความว่า ตนควรต้องเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 เป็นต้นไป เพราะคำว่า “จาก (From)” นั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ด้วย โดยอ้างอิงคำพิพากษาอีกคดีหนึ่งก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่า คำว่า “จาก (From)” นั้น มีความหมายรวมถึงวันเริ่มต้นเข้าไปด้วยต่างหาก (24th inclusive)
ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งตัดสินให้บริษัทประกันภัยทั้งสองบริษัทร่วมกันรับผิดสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ผู้บาดเจ็บแต่ละราย ด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวงเงินความคุ้มครองให้แก่ผู้บาดเจ็บเป็นราย ๆ ไป
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Southern Staffordshire Tramways Co., Ltd., v. Sickness Accident Assur. Assn., Ltd., 60 L.J.Q.B. 47, 63 L.T. 807 (1891), 1 Q.B. 402, 55 J.P. 168)
แนวทางการตีความเช่นนี้ ฝั่งผู้เอาประกันภัย/ผู้เสียหายน่าจะชอบใจ แต่ฝั่งบริษัทประกันภัยอาจไม่ใคร่พอใจอยู่บ้าง แต่ยังพอรับได้ด้วยมิใช่ความเสียหายจำนวนมากนัก
งั้นมาดูคดีนี้กัน
มีรถบรรทุกคันหนึ่งแล่นไปด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจนทำให้หัวรถจักรกับตู้รถสินค้าจำนวนสิบหกตู้ตกรางทั้งขบวน การรถไฟพร้อมกับเจ้าของสินค้าอีกสิบสี่ราย และผู้ขนส่งอีกหลายรายรวมตัวกันมาเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของรถคันนั้นกับบริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายให้แก่รถคันนั้นร่วมกันรับผิด
ผลทางคดีจะออกมาเช่นใด? จะนับเป็นกี่อุบัติเหตุ? ใครจะหน้ามืดบ้าง? สัปดาห์หน้ารู้กันครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น