เรื่องที่ 87:แนวคำพิพากษาศาลเรื่องเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อจำกัดและข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตร
(Sanction Limitation and Exclusion Endorsement)
มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ประกอบด้วยสองรูปแบบ คือ อันแรกจะเกิดจากมติของสหประชาชาติ
ซึ่งจะส่งผลให้ทุกประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามมตินั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
อันหลังจะเกิดจากประกาศเฉพาะของบางประเทศ หรือกลุ่มประเทศร่วมกัน แม้อาจไม่สามารถกำหนดให้ประเทศที่ถือเป็นพันธมิตรยึดถือปฏิบัติได้โดยตรง
แต่ก็อาจมีบทลงโทษเช็คบิลตามหลังได้ หากประเทศใดมิให้ความร่วมมือ
ก่อนหน้านี้
สมัยวาระของประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐคนก่อนร่วมกับกลุ่มประเทศพันธมิตรได้เคยวางมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิหร่านในรูปแบบอันหลัง
เพื่อบีบบังคับให้ทำความตกลงทางด้านนิวเคลียร์จนประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 2015 และได้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวลงให้ประเทศพันธมิตรสามารถติดต่อค้าขายกับประเทศอิหร่านได้ในระดับหนึ่ง
มายุคสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน
ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงทางนิวเคลียร์ดังกล่าว พร้อมได้วางมาตรการคว่ำบาตรใหม่กับประเทศอิหร่านในปีนี้
โดยกำหนดช่วงเวลาผ่อนปรนให้แก่ประเทศพันธมิตรบางประเทศจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน
ค.ศ. 2018 เท่านั้น
เรื่องของการประกันภัยซึ่งเป็นธุรกิจการค้าประเภทหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งในอดีตที่ผ่านมา
และในปัจจุบัน ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงประเภทการประกันภัยทางทะเลและขนส่งเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงประเภทการประกันภัยอื่นด้วย ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำต้องติดเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อจำกัดและข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตร
(Sanction
Limitation and Exclusion Endorsement) แนบกับกรมธรรม์ประกันภัยประเภทที่กำหนดไว้ด้วย
ด้วยความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
(คปภ.) ซึ่งเอกสารแนบท้ายดังกล่าวได้ถูกแปลมาจากต้นฉบับของประเทศอังกฤษ
ใจความที่สำคัญของเอกสารแนบท้ายนี้ถอดความออกมาได้ว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองการเรียกร้อง
ค่าสินไหมทดแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากการให้ความคุ้มครอง
การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการให้ผลประโยชน์เช่นนั้น อาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อมาตรการคว่ำบาตรหรือข้อห้ามหรือข้อจำกัด
(would expose the Company
to any sanction, prohibition or restriction)
ภายใต้มติขององค์การสหประชาชาติหรือการคว่ำบาตรทางการค้าหรือทางเศรษฐกิจ
กฎหมายหรือกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร
หรือประเทศสหรัฐอเมริกา”
พูดง่าย ๆ คือ
บริษัทประกันภัยสงวนสิทธิที่จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หากตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนั่นเอง
นั่นเป็นความเข้าใจในมุมมองของบริษัทประกันภัย
แต่ความเป็นจริงจะมีใครเห็นเช่นนั้นด้วยหรือเปล่า?
ปีนี้เอง ได้มีคำวินิจฉัยของศาลที่ประเทศอังกฤษเกี่ยวกับเอกสารแนบท้ายนี้
โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า
ผู้เอาประกันภัยได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล
(Marine
Cargo Insurance Policy) คุ้มครองสินค้าเหล็กแท่งยาว
(Steel Billets)
ซึ่งขนส่งทางเรือจากรัสเซียมายังอิหร่านช่วงเดือนสิงหาคม
ค.ศ. 2012
ต่อมา สินค้านั้นได้ถูกลักขโมยออกจากท่าเรือปลายทางประมาณช่วงเวลาระหว่างวันที่
22 กันยายน ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 7
ตุลาคมปีเดียวกัน
ผู้เอาประกันภัยได้ทำการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยสามสิบรายที่ร่วมกันรับผิดประมาณวันที่
8 มีนาคม ค.ศ. 2013
สิบเก้ารายยินดีชดใช้ให้ แต่อีกสิบเอ็ดรายกลับอ้างอิงเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อจำกัดและข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรมาปฏิเสธความรับผิด (ซึ่งมีเนื้อความตรงกันกับต้นฉบับที่บ้านเราแปลออกมาด้วย)
เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาล
ได้มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทกัน ดังนี้
ก) ตอนที่รับประกันภัยกับตอนที่เกิดความเสียหาย
ไม่มีมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศอิหร่านใช้บังคับอยู่
ข) เดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 ตอนที่ได้มีการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยได้ปรากฏมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรทั้งของประเทศสหรัฐและสหภาพยุโรปบังคับอยู่
ค) เดือนมกราคม ค.ศ. 2016 มาตรการคว่ำบาตรนั้นได้ถูกยกเลิกไป
ง) วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018
ประเทศสหรัฐได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อประเทศอิหร่านอย่างเต็มที่
แต่ทางสหภาพยุโรปมิได้เข้าร่วมประกาศใช้บังคับด้วย
ฉะนั้น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันที่
4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 สามารถกระทำได้หรือไม่?
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2018
ศาลประเทศอังกฤษได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้
1) ให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับดังกล่าว
2) เนื่องจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ทำให้บริษัทประกันภัยมีความเสี่ยงต่อมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว
หากได้จ่ายไปก่อนวันที่ 4
พฤศจิกายน ค.ศ. 2018
ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน (Wind-down Period) ตามประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อประเทศอิหร่าน
3) ศาลไม่เห็นพ้องกับการตีความของฝ่ายจำเลยที่ว่า
แค่เพียงมีความเสี่ยงภัยที่จะได้รับผลจากมาตรการคว่ำบาตรนั้น (being exposed to a risk
of sanctions) ก็เพียงพอที่จะใช้อ้างอิงปฏิเสธได้แล้ว เพราะถ้อยคำในเอกสารแนบท้ายนั้นมิได้ถูกเขียนไว้เช่นนั้น
แต่กลับระบุว่า “การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือการให้ผลประโยชน์เช่นนั้น อาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อมาตรการคว่ำบาตรหรือข้อห้ามหรือข้อจำกัด
(would expose the Company
to any sanction, prohibition or restriction)” ซึ่งมิได้หมายความถึงได้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นมาแล้วจริง ๆ
4)
แม้ภายหลังจากมาตรการคว่ำบาตรนั้นมีผลใช้บังคับอย่างเต็มที่จนทำให้มิอาจชดใชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อีกต่อไป แต่ถ้อยคำที่เขียนไว้นั้นก็มิได้หมายความว่า
เอกสารแนบท้ายดังกล่าวจะส่งผลทำให้ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย
ความรับผิดของบริษัทประกันภัยยังคงมีอยู่ต่อไปเช่นเดิมจนกว่าความเสี่ยงจากมาตรการคว่ำบาตรนั้นจะหมดสิ้นไปท้ายที่สุด
นี่เป็นตัวอย่างคดีหนึ่งที่การตีความถ้อยคำที่เขียนไว้อาจให้ผลที่แตกต่างกันได้
(อ้างอิงข้อมูลข่าวสารจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, แนวหน้า,
ผู้จัดการ และบีบีซีไทย และจากคดี Mamancochet Mining Limited v Aegis Managing
Agency Limited and Others [2018] EWHC 2643 (Comm) ด้วยความขอบคุณยิ่ง)
เรื่องต่อไปก็เป็นประเด็นการตีความถ้อยคำเหมือนกัน: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไร?
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น