วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 89:ท่านใดชอบทานไวน์ สะสมไวน์ จะซื้อไวน์ไปฝากใคร ขอให้ลองอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างก็ดีครับ?


ไวน์ หรือภาษาไทยเรียกว่า “เหล้าองุ่น” นั้น นอกจากถือเป็นเครื่องดื่มมีระดับที่นิยมดื่มกันแล้ว ยังเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการลงทุนเก็บสะสมไวน์ชั้นดี เพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินอย่างดีเยี่ยมตลอดระยะเวลาที่ถือครอง เพราะไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพนั้น ยิ่งเก่าเก็บนานเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งถีบตัวเพิ่มสูงตามไปด้วยหลายเท่าตัว 

นักลงทุนสะสมไวน์จึงจำต้องมีความรู้เรื่องไวน์เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการมีเงินทุนที่พอเพียงแล้ว ยิ่งปัจจุบัน มีข้อมูลข่าวสารเรื่องไวน์ให้ศึกษาเรียนรู้อย่างมากมายจากทางอินเตอร์เน็ต หรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ 

อย่างไรก็ตาม สุภาษิตไทยที่ว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้งสามารถนำมาใช้เป็นอุทธาหรณ์ได้สำหรับคดีศึกษาเรื่องนี้

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับนักสะสมไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพรายหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้ลงทุนเก็บสะสมไวน์หายากระดับโลกไว้มากมายในห้องเก็บไวน์ชั้นเยี่ยม เพื่อลดความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ เขาได้ทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองไวน์หายากเหล่านั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิเศษสำหรับสิ่งของสะสมที่มีมูลค่าสูง (Valuable Possessions Insurance Policy) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยกำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุดเผื่อไว้ถึง 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 แลได้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นเรื่อยมาทุกปีเป็นเวลานับแปดปีแล้ว

ตลอดเวลาแปดปีดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ลงทุนซื้อไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพมาสะสมรวมมูลค่าเกือบ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตัวแทนจำหน่ายผู้เชี่ยวชาญไวน์ระดับนี้เจ้าหนึ่งด้วยความไว้วางใจเรื่อยมา

ต่อมา ผู้เชี่ยวชาญไวน์นั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมด้วยข้อหาฉ้อโกง โดยทำการปลอมแปลงไวน์ที่ตนจำหน่าย ด้วยการนำไวน์หลายชนิดมาผสมกัน และปลอมฉลากป้ายยี่ห้อไวน์ด้วย เขาถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตามข้อกล่าวหาเป็นเวลาสิบปีในปี ค.ศ. 2013  

เมื่อเป็นเช่นนั้น ในปี ค.ศ. 2014 ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงยื่นเรื่องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตน เนื่องจากการฉ้อโกงมิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้

บริษัทประกันภัยรายนั้นพิจารณาแล้ว ได้ตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า มิได้เกิดความเสียหาย (Loss) ขึ้นมาแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวนั้นเลย

ปี ค.ศ. 2015 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยรายนั้นต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาให้บริษัทประกันภัยจำเลยพ้นผิด

ผู้เอาประกันภัยที่เป็นโจทก์จึงยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อไป

ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้

1) เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุว่า “บริษัทตกลงคุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรง และโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ได้เอาประกันภัย (Occurrence) ไว้

เหตุการณ์ที่ได้เอาประกันภัย (Occurrence) ไว้” ได้กำหนดคำนิยามว่า หมายความถึง “ความเสียหาย (Loss) ที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย และมีสาเหตุมาจากภัยที่คุ้มครองภัยหนึ่ง หรือหลายภัย” แต่สำหรับคำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นกลับมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ด้วย

ส่วนข้อยกเว้นทั่วไปที่เกี่ยวข้องได้ระบุว่า ไม่คุ้มครองถึงการสึกหรอ การเสื่อมสภาพทีละน้อย ความชำรุดบกพร่องแฝง การเสื่อมสภาพในตัวเอง และยังมีข้อยกเว้นเฉพาะสำหรับไวน์ที่เอาประกันภัยอีกว่า การขาดการดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จัดเก็บให้คงอยู่ในสภาพที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดเวลา การจัดการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง การใช้บริโภค หรือการขาดหาย การรั่วไหล การกระฉอก การระเหย การเสียสภาพ หรือการเสื่อมสภาพที่เป็นไปตามสภาวะปกติของไวน์นั้นเอง

แม้ผู้เอาประกันภัยโจทก์จะอ้างว่า เมื่อคำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ จึงตีความให้หมายความรวมถึงความเสียหายใดก็ได้ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย คำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นมีความหมายถึงการขยายคำว่า “ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

อนึ่ง การที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีมูลค่าลดลงไปนั้น การลดลงของมูลค่าที่โจทก์อ้างว่า เป็นภัยคุ้มครองที่มิได้ถูกระบุยกเว้นไว้อย่างชัดแจ้งนั้น ศาลกลับเห็นว่า มิใช่หมายถึงภัย แต่เป็นมาตรการคำนวณมูลค่าความเสียหายต่างหาก แม้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะมิได้เขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า คุ้มครองถึงความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่เนื่องจากการประกันภัยทรัพย์สินมีประวัติศาสตร์มายาวนาน และเป็นที่รับรู้เข้าใจทั่วไปอยู่แล้ว หมายถึง คุ้มครองความเสียหายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง เป็นต้นว่า จากไฟไหม้ ลมพายุ น้ำท่วม การทำให้เสียทรัพย์ซึ่งสามารถมองเห็นได้ หรือพิสูจน์ได้ อันมิใช่คุ้มครองถึงเฉพาะความเสียหายทางการเงินอย่างเดียวที่จับต้องมิได้ โดยที่โจทก์เองน่าจะตระหนักรับรู้ดีอยู่แล้วเวลาที่เอาประกันภัย แม้จะมิได้เขียนคำว่า “กายภาพ (Physical)” กำกับไว้ก็ตาม 

2) ส่วนข้ออ้างที่โจทก์กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้ระบุยกเว้นการฉ้อโกง (Fraud) เอาไว้เลย โจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนตามข้อกล่าวอ้าง เพื่อให้จำเลยสามารถโต้แย้งได้ กระนั้นก็ตาม เนื่องจากตัวไวน์ที่เอาประกันภัยนั้นเป็นของปลอม และปราศจากมูลค่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจวบจนปัจจุบัน โดยยังคงสภาพเช่นนั้นตลอดมา มิได้ปรากฏความเสียหายทางกายภาพแต่ประการใด ข้ออ้างดังกล่าวก็มิได้ส่งผลแก่เงื่อนไขความคุ้มครองที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนนั้นเลย

แม้ศาลจะตระหนักในความโชคร้ายของโจทก์ แต่ก็เห็นว่า จำเลยผู้รับประกันภัยไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ จึงตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

(อ้างอิงจากคดี Doyle v. Fireman's Fund Ins. Co., 229 Cal. Rptr. 3d 840 (Ct. App. 2018)

คดีนี้ได้ต่อสู้กันมาหลายปีจนกระทั่งมีคำพิพากษาที่น่าจะถึงที่สุดแล้วออกมาในปีนี้ หวังอย่างยิ่งว่า ขบวนการปลอมแปลงไวน์น่าจะถูกขจัดไปแล้ว อย่าให้มีหลงเหลือหลุดลอดออกมาได้อีกเลย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองเวลานี้

เรื่องต่อไป คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น