เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?
(ตอนที่หนึ่ง)
ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
หมวดที่ 3
ข้อยกเว้น ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ว่า
“ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
1. ความเสียหาย อันเกิดจาก
…………………..
1.13 การยุบตัว การโก่งตัว
หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน”
คำว่า “การเคลื่อนตัวของพื้นดิน” กับ “การเคลื่อนตัวของดิน”
มีความหมายเช่นไร? และทั้งสองคำให้ความหมายแตกต่างกันหรือไม่?
เนื่องจากมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้ง
ทำให้จำต้องนึกจินตนาการเอาเองว่า หมายความถึงกรณีดังนี้หรือเปล่า?
การทรุดตัวของดิน
การโก่งตัวของดิน
ดินถล่ม
แผ่นดินไหว
ฯลฯ
หากเทียบเคียงกับข้อยกเว้นทำนองนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยของประเทศอเมริกา
คือ ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน
และถอดความออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า
“หมายความถึง
การยุบตัวลง การยกตัวขึ้น การเบี่ยงเบน การขยายตัว หรือการหดตัวของดิน
ไม่ว่าจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม
การเคลื่อนตัวของดินรวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ดินถล่ม การกัดกร่อน และการทรุดตัวลง
(subsidence) แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการพังทะลายของหลุมยุบ
อนึ่ง หากว่า เกิดความเสียหายทางกายภาพโดยอุบัติเหตุเนื่องจากไฟไหม้
ระเบิดที่มิใช่การระเบิดของภูเขาไฟ ผลจากการลักทรัพย์ หรือการแตกของกระจก
บริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ให้สำหรับความเสียหายที่เป็นผลจากกรณีดังกล่าว”
แม้ข้อยกเว้นดังกล่าวของเขาจะมีคำนิยามชัดเจนเช่นนั้น
ก็ยังเกิดเป็นคดีพิพาทขึ้นมาว่า ได้หมายความรวมถึงการที่มีผู้รับเหมาก่อสร้างมาขุดดินเพื่อทำการก่อสร้างโครงการข้างเคียงด้วยหรือไม่?
เรามาพิจารณาเรื่องนี้กันครับ
ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นเจ้าของอาคารคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยแห่งหนึ่งได้ทำประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับตัวอาคารและทรัพย์สินของตนเอาไว้
ต่อมา สังเกตเห็นร่องรอยแตกร้าวที่ตัวอาคารหลายแห่ง
เมื่อเรียกวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ ก็พบและลงความเห็นว่า เป็นผลมาจากการที่ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างข้างเคียงได้ขุดดินจนส่งผลกระทบต่อฐานรากกับโครงสร้างของอาคารคอนโดมิเนียมดังกล่าว
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน
แต่กลับถูกอ้างว่า ไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เพราะเหตุการณ์นี้ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน
(Earth
Movement) ดังมีใจความข้างต้น ทั้งยังตกอยู่ในข้อยกเว้นอีกข้อที่ระบุไม่คุ้มครอง
“การเลื่อนข้าง (settling) การแตกร้าว การหดตัว การโป่งนูน หรือการขยายตัว เว้นแต่มีสาเหตุโดยตรงจากภัยที่คุ้มครองจนทำให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมา
หรือเป็นผลทำให้เกิดการแตกของกระจก”
โดยที่การเคลื่อนตัวของดินนั้นเองทำให้เกิดการเลื่อนข้าง
การแตกร้าวโดยตรงต่อตัวอาคารดังกล่าวด้วย วิศกรผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันเช่นนั้น
เมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ประเด็นที่ศาลจำต้องพิจารณา คือ
ข้อยกเว้นดังกล่าวอ้างมีความกำกวม หรือไม่ชัดเจนใช่หรือไม่? หากไม่ชัดเจน โดยหลักกฎหมาย
การตีความข้อยกเว้นเช่นนั้น ให้ตีความเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินมีความกำกวม ไม่ชัดเจน
คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจเสมือนหนึ่งเน้นยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินที่มีสาเหตุจากภัยธรรมชาติเท่านั้น
เนื่องจากตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาทั้งในกรณีแผ่นดินไหว ดินถล่ม การกัดกร่อน
และการทรุดตัวลงล้วนสื่อออกไปในกรณีจากภัยเช่นนั้น ส่วนการขุดดินเป็นการกระทำของมนุษย์
จึงไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว
หากบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้รวมถึงการกระทำของมนุษย์ด้วย
ก็จะต้องระบุลงไปให้ชัดเจน เพื่อที่จะเข้าใจได้ตรงกัน
เช่นเดียวกับกับข้อยกเว้นอีกข้อ คนทั่วไปอ่านแล้วคงนึกไม่ได้เองว่า
จะมิได้รวมถึงอุบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากการขุดดินโดยจงใจของผู้รับเหมาก่อสร้างด้วย
ศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว
เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวมีความกำกวม ไม่ชัดเจนจริง จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
บริษัทประกันภัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามศาลชั้นต้น
(อ้างอิงจากคดี Pioneer
Tower Owners Ass’n v. State Farm Fire & Cas. Co., 12 N.Y.3d 302 (2009))
ถัดมา ได้เกิดกรณีลักษณะคล้ายกันเช่นนี้ขึ้นอีก คือ
การขุดดินของโครงการก่อสร้างข้างเคียงทำให้อาคารที่เอาประกันภัยแตกร้าว เมื่อผู้เอาประกันภัยเจ้าของอาคารที่เสียหายไปเรียกร้องค่าสินไหนทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนซึ่งให้ความคุ้มครองตัวอาคารนี้อยู่
ก็ได้ถูกปฏิเสธโดยอ้างถึงข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินนี้เช่นกัน
ผู้เอาประกันภัยรายที่สองนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้บริษัทประกันภัยของตนรับผิดชอบ
คุณคิดว่า ฝ่ายใดจะชนะคดีครับ?
ท่านใดที่ทายฝ่ายผู้เอาประกันภัย ก็จำต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
เพราะในคดีที่สองนี้ ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ล้วนตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีครับ
เพราะอะไร? ทำไมไม่เหมือนกับคดีแรก? มีอะไรแตกต่างกันบ้าง?
คำเฉลย คือ ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินในคดีที่สองเขียนไม่เหมือนกับคดีแรกครับ
เนื่องจากมีข้อความต่อท้ายเพิ่มเติมอีกว่า “ไม่ว่า (การเคลื่อนตัวของดิน) จะเกิดขึ้นจากสาเหตุทางธรรมชาติ
หรือเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ หรือกระทั่งสาเหตุอื่นใดก็ตาม”
เมื่อปรากฏถ้อยคำที่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของบริษัทประกันภัยที่ประสงค์จะไม่คุ้มครองถึงการเคลื่อนตัวของดินทุกสาเหตุโดยเด็ดขาด
ศาลจำต้องตีความไปตามเจตนารมณ์เช่นนั้น โดยศาลคดีที่สองก็เน้นย้ำว่า มิได้ตัดสินขัดแย้งกับแนวทางคำพิพากษาคดีแรกแต่ประการใด
(อ้างอิงจากคดี Bentoria
Holdings, Inc. v. Travelers Indem. Co., 2012 WL 5256119 (N.Y. Oct. 25, 2012))
เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดคดีที่สามในลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีก จะลองทายต่อไหมครับว่า
ฝ่ายใดจะชนะคดีกันแน่คราวนี้?
รับรองว่า
คุณจะต้องอึ้ง ทึ่งแน่ ๆ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น