เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?
(ตอนที่สอง)
ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกามักจะมีข้อพิพาทเรื่องความหมายของข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินอยู่บ่อยครั้ง
ถึงแม้จะได้มีการกำหนดคำนิยามไว้แล้วก็ตาม
เนื่องจากการตีความถ้อยคำอาจทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันขึ้นมาได้
ประกอบกับข้อความจริงของแต่ละเหตุการณ์ที่ผันแปรไป ยิ่งส่งผลทำให้ไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่า
จะต้องตีความออกมาในแนวทางหนึ่งแนวทางใดเสมอไป
ดังในคดีที่สามของบทความชุดนี้
เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องเดิม ๆ
เช่นเดียวกับสองคดีแรก
ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของอาคารอะพาร์ตเมนต์ (คำทับศัพท์ที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถาน)
หลังหนึ่งได้รับความเสียหายอย่างมากจากการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการข้างเคียงทำการขุดดินเพื่อก่อสร้างที่จอดรถใต้ดิน
แรกเริ่มที่ปรากฏความเสียหาย
ผู้เอาประกันภัยรายนี้พยายามแจ้งต่อทั้งเจ้าของโครงการข้างเคียงกับผู้รับเหมาให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
แต่มิได้รับความใส่ใจ จนความเสียหายเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จำต้องไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
โดยได้มีคำสั่งให้หยุดทำการก่อสร้างออกมาหลายฉบับ
ก็ยังไม่ยอมหยุดดำเนินการแต่ประการใด
สุดท้ายผู้เอาประกันภัยรายนี้ต้องไปพึ่งศาลให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว
เนื่องจากสภาพความเสียหายทวีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขนาดไม่น่ามีความปลอดภัยเพียงพอแก่การพักอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์หลังนั้นได้อีกต่อไป
น่าแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา และทั้งที่เกิดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์ก
จะมีเหตุไม่ใส่ใจกฎหมายได้ขนาดนี้ คือ ทั้งเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างต่างยังคงเพิกเฉยกับคำสั่งศาลที่ออกมา
และดำเนินการก่อสร้างต่อไปโดยไม่ใส่ใจอะไรทั้งสิ้น
มองในแง่ดีอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า เจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวอาจทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา
(Contract
Works Insurance) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “การประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมา
(Constractor’s All Risks Insurance)”
ซึ่งได้ขยายเงื่อนไขพิเศษความคุ้มครองถึงการสั่นสะเทือน การเคลื่อนตัว
หรือการอ่อนตัวของสิ่งค้ำยัน (Vibration or Removal or Weakening of Support
Clause) เอาไว้ แต่อาจเห็นว่า
เงื่อนไขดังกล่าวมิได้คุ้มครองถึงการแตกร้าว เลยทำงานต่อไปให้ถึงขนาดเกิดการพังทลายทั้งหมดและบางส่วนของอาคารข้างเคียงจะได้เข้าเงื่อนไขดังกล่าวหรือเปล่า?
ไม่แน่ใจเหมือนกัน
ถ้าคุณเป็นเจ้าของอะพาร์ตเมนต์หลังนี้ คุณหวังจะไปพึ่งใครต่อดีครับ?
เมื่อตนเองมีประกันภัยแบบระบุภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตน
คือ ตัวอาคารหลังนี้อยู่ ก็เรียกให้บริษัทประกันภัยของตนมารับผิดชอบแทนไปก่อน และค่อยให้สวมสิทธิของตนเองไปไล่เบี้ยเอากับคู่กรณีภายหลังน่าจะดีกว่า
คิดได้ดังนั้น จึงดำเนินการไป แต่ผลออกมาเป็นเช่นเดียวกับสองคดีแรกครับ
บริษัทประกันภัยรายนี้ได้หยิบยกข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) มาอ้างปฏิเสธความรับผิด ซึ่งกำหนดคำนิยามไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า
ไม่คุ้มครองทั้งกรณีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติกับด้วยน้ำมือมนุษย์
เอาไงดีล่ะทีนี้
ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันภัยกับกฎหมายดีกว่า
และได้รับคำแนะนำให้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยตั้งประเด็นข้อต่อสู้ใหม่ว่า
ขอให้บริษัทประกันภัยรับผิดภายใต้ภัยการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) ซึ่งให้ความคุ้มครองอยู่แทน
บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยก็โต้แย้งทันทีว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เข้าข่ายภัยการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) ซึ่งกำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการกระทำอย่างจงใจ
หรืออย่างมุ่งร้ายโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏเลยว่า
คู่กรณีได้กระทำเช่นนั้นต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย
ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลย
ครั้นเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์
ได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้สองประเด็น คือ
(1) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อน
(Vandalism) หรือไม่?
(2) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจ
หรืออย่างมุ่งร้ายหรือไม่?
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว มีความเห็นดังนี้
(1)
การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อน
(Vandalism) หรือไม่?
โดยทั่วไป การกระทำโดยป่าเถื่อนหมายความถึง
การกระทำด้วยความคึกคะนอง นึกสนุก มิได้มีเจตนามุ่งร้าย
หรือทำให้เกิดอันตรายโดยตรง เพียงแต่ไม่ใส่ใจว่า
การกระทำของตนเองจะส่งผลอย่างใดต่อผู้ใดเท่านั้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์มองว่า การกระทำโดยป่าเถื่อนไม่ควรตีความอย่างแคบว่า
จำกัดเพียงแค่เป็นการกระทำโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น
แม้จะมิได้กระทำโดยตรง แต่อาจส่งผลสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ก็ควรพิจารณาเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อนได้เหมือนกัน
(2)
การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจ
หรืออย่างมุ่งร้ายหรือไม่?
การกระทำโดยตั้งใจ
และไม่ใส่ใจต่อผลแห่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นนั้น ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า
แทบจะไม่แตกต่างจากการกระทำอย่างจงใจ หรืออย่างมุ่งร้ายเลย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดีนี้
(อ้างอิงจากคดี Georgitsi Realty,
LLC v. Penn-Star Ins. Co., 2013-06731 (N.Y. 10/17/2013))
คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้ไหมครับ?
ตอนแรกที่ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้อย่างผิวเผิน
ไม่ใคร่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะยิ่งมาเทียบเคียงกับบทความที่ตนเองเขียนไว้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว เรื่องที่ 2 ซึ่งพูดเปรียบเทียบระหว่างความหมายของภัยการกระทำอย่างป่าเถื่อน
(Vandalism) กับภัยการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) โดยในบ้านเรา ภัยการกระทำอย่างป่าเถื่อน (Vandalism)
ได้ถูกยุบลงไป คงเหลือเพียงภัยการกระทำอันมีเจตนาร้ายเท่านั้น ซึ่งภายใต้ภัยเพิ่มเติม
อค. 1.51 ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า
“ความเสียหายโดยตรงจากการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) หมายถึง
การกระทำอย่างจงใจเพื่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการก่อกวนความสงบสุขแห่งสาธารณชนหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งนี้ไม่รวมความเสียหายใด ๆ ต่อกระจก
(เว้นแต่เป็นกระจกบล็อกที่ใช้ในการก่อสร้าง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร”
ฉะนั้น การตีความภัยการกระทำอันมีเจตนาร้ายข้างต้นจะต้องตีความในแนวทางนั้นด้วยหรือเปล่า?
จะขัดแย้งกับถ้อยคำที่เขียนไว้ชัดเจนนั้นหรือไม่?
แต่เมื่ออ่านทบทวนคำพิพากษาคดีดังกล่าวหลายครั้ง กอปรกับบทความที่เขียนไว้เมื่อกลางปี
พ.ศ. 2559
เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly
Caused) หมายถึงอะไร? เรื่องที่
27 : อะไร คือ
ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรง (Direct Loss or Damage)? ก็ช่วยทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
และเห็นด้วยกับคำพิพากษาคดีนี้ ดังเช่นคำถามที่ผมเคยตั้งกับผู้รับฟังการบรรยายว่า
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองไฟไหม้ จำเป็นไหม? จะต้องเกิดไฟไหม้บ้านผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
ถึงจะได้รับความคุ้มครอง ลองไปค้นหาอ่านทำความเข้าใจกันนะครับ
เคยรับฟังว่า
มีข้อพิพาทเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเราเกี่ยวกับการตีความข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ซึ่งมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้
แต่โชคดีที่ยังไม่มีใครตีความให้ยกเว้นถึงภัยแผ่นดินไหวเข้าไปด้วย แต่เมื่อมาพิจารณาถึงถ้อยคำภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับ
กลับเขียนไว้ ดังนี้
“1.13 subsidence,
ground heave or landslip
1.13 การยุบตัว การโก่งตัว หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน”
เทียบเคียงกันแล้ว
เห็นว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ยกเว้นกว้างถึงขนาดนั้นเลย
หากท่านใดมีปัญหาการตีความข้อยกเว้นนี้
จะลองอาศัยแนวทางการต่อสู้คดีที่หนึ่ง หรือที่สามดูบ้างก็ได้ ได้ผลยังไง? ส่งข่าวมาให้รับทราบกันบ้างก็ดีนะครับ
เรื่องต่อไป ท่านใดชอบทานไวน์ สะสมไวน์ จะซื้อไวน์ไปฝากใคร
ขอให้ลองอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างก็ดีครับ?
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น