วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 86:กรรมการบริษัทได้รับบาดเจ็บจากการทำงานสามารถฟ้องบริษัทของตนเองกับบริษัทประกันภัยให้รับผิดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของเจ้าหน้าที่บริหารกับกรรมการ (Director & Officer Liability Insurance Policy) ได้หรือไม่? 
   

มุมมองของผม การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่บริหารกับกรรมการ (Director & Officer Liability Insurance Policy) นั้นมีความคล้ายคลึงกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของนายจ้าง (Employer’s Liability Insurance Policy) แต่ให้ขอบเขตความคุ้มครองที่กว้างกว่ามาก เพราะกรมธรรม์ประกันภัยฉบับหลังมุ่งเน้นไปเฉพาะตัวลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการทำงานเท่านั้น ขณะที่ฉบับแรกจะรวมไปถึงบุคคลอื่นซึ่งได้รับความเสียหายจากกระทำผิดของเจ้าหน้าที่บริหารกับกรรมการด้วย ปัจจุบัน ไม่ใคร่พบเห็นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับหลังในตลาดประกันภัยบ้านเราแล้ว

การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่บริหารกับกรรมการในบ้านเรา มักนิยมทำกันในธุรกิจ หรือองค์การขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจ หรือองค์การขนาดย่อมลงมาทำกันน้อยมาก อาจด้วยยังไม่เห็นความจำเป็นมากนัก 

ที่ต่างประเทศกังวลเรื่องความเสี่ยงภัยจากการถูกฟ้องร้อง เนื่องจากมูลค่าความรับผิดตามกฎหมายนั้นค่อนข้างสูงมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงภัยนี้ให้ดี การโอนความเสี่ยงภัยนี้ไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบแทนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีแก่ธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

อย่างในคดีที่เกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ

บริษัทแห่งหนึ่งได้จัดทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่บริหารกับกรรมการไว้เพื่อลดความเสี่ยงภัยดังกล่าว ต่อมา ปรากฏลูกจ้างรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส จึงได้มาเรียกร้องให้บริษัทนายจ้างของตน และบริษัทประกันภัยให้ร่วมกันรับผิดชอบ

ดูเผิน ๆ ไม่น่าจะมีประเด็นซับซ้อนยุ่งยากอะไร? แต่เรื่องนี้กลับมีปัญหา เพราะบังเอิญทั้งกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้น และลูกจ้างผู้บาดเจ็บล้วนคือ คน ๆ เดียวกัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนี้ สวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของบริษัท เป็นทั้งกรรมการ และเป็นลูกจ้างซะเองรวมอยู่ในบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง

ทีนี้เมื่อกลับมามองข้อความจริง คนเดียวทำหน้าที่หลายบทบาทเช่นนี้ ในแง่กฎหมายตีความอย่างไร?

แน่นอนครับ บริษัทประกันภัยบอกทันทีว่า ไม่คุ้มครอง เพราะผู้เอาประกันภัยมิใช่บุคคลอื่นอันจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

เรื่องนี้จึงเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

ผู้บาดเจ็บเป็นโจทก์ให้การว่า แรกเริ่ม บริษัทนี้มีกรรมการสองคน ต่อมา กรรมการคนหนึ่งได้ลาออกไป จึงเหลือกรรมการอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งคือ ผู้บาดเจ็บรายนี้ และมีลูกจ้างทำงานให้อยู่เพียงคนเดียว ตนเองที่เป็นกรรมการปกติจะทำหน้าที่บริหารจัดการเท่านั้น วันเกิดเหตุเพียงแค่เข้าไปช่วยลูกจ้างทำงานจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นมา ตนไม่ทราบว่า ต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขอนามัยและความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างตามกฎระเบียบของกฎหมาย เข้าใจว่า เป็นหน้าที่ของลูกจ้างที่จะต้องจัดการดูแลเอง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ศาลไม่คำนึงว่า สถานะนิติบุคคลของบริษัทจะแยกออกจากกับสถานะของบุคคลได้ แต่นิติบุคคลจะกระทำการได้ต้องกระทำผ่านกรรมการผู้รับมอบอำนาจ เมื่อกรรมการนั้นทำผิดเสียเองด้วยการละเว้นปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย บริษัทก็จำต้องรับผิดด้วยเช่นกัน ตัดสินยกฟ้องโจทก์ 

โจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า แม้กฎหมายเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจะมีผลบังคับต่อบริษัทมิใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่คดีนี้ ปรากฏว่า ทั้ง(เจ้าของ) บริษัท กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และลูกจ้างผู้เสียหายล้วนเป็นบุคคลเดียวกัน โดยหลักกฎหมายแล้ว บุคคลไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำผิดของตนเองได้ จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องอุทธรณ์นั้น

(อ้างอิงจากคดี Peter Brumder v (1) Motornet Service & Repairs Ltd & (2) Aviva Insurance Ltd [2013] EWCA Civ 195)   
เทียบเคียงกับหลักกฎหมายไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับข้อความจริง และอำนาจการบังคับบัญชามากกว่าเรื่องตำแหน่งหน้าที่ และค่าจ้างตอบแทน

กรรมการสามารถมีสถานะเช่นลูกจ้างได้เหมือนกัน หากข้อความจริงได้กระทำเสมือนเป็นลูกจ้างด้วย ดังตัวอย่างนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4471/2530 โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลย มีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่การที่คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยกำหนดให้โจทก์ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อและจ่ายยา ให้ทำหน้าที่เป็นแพทย์เวรโดยได้รับค่าจ้าง และโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ดังนี้ถือว่าโจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอีกฐานะหนึ่ง

น่าเชื่อว่า ผลทางคดีนี้ถ้ามาเกิดขึ้นในบ้านเรา คงไม่แตกต่างกัน

เรื่องต่อไป: แนวคำพิพากษาศาลเรื่องเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อจำกัดและข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตร (Sanction Limitation and Exclusion Endorsement)

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น