วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 73: แค่คนขับรถคันหนึ่งโบกมือให้แก่คนขับอีกคันหนึ่ง ต้องรับผิดเนื่องจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถ (Use or Operation of Vehicle) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ด้วยหรือ?


นอกจากการใช้สัญญาณไฟเวลาขับรถแล้ว บางครั้ง คนขับอาจให้สัญญาณมือแก่คนขับรถอีกคันหนึ่ง หรือกระทั่งคนเดินถนนก็เป็นได้ แล้วถ้าการกระทำเช่นนั้นส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คุณคิดว่า คนขับที่ให้สัญญาณมือดังกล่าวจำต้องรับผิดโดยตรง หรือมีส่วนร่วมรับผิดด้วยหรือไม่? และการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ใช่ไหม? ถ้าใช่ บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองจะต้องทำหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายหรือเปล่า?

เรามาดูตัวอย่างเหตุการณ์นี้กันครับว่า เกิดอะไรขึ้น

ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 แม่ลูกคู่หนึ่งเดินทางไปกับเพื่อนด้วยรถยนต์สองคัน แม่ขับรถคันหนึ่งนำหน้าไปกับเพื่อน ส่วนลูกสาวขับรถอีกคันตามหลังไปเนื่องจากไม่คุ้นทาง และได้เกิดหลุดทิ้งช่วงห่างกันไป โดยแม่ได้กลับรถไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน กลัวว่าลูกจะหลง จึงได้จอดรถติดเครื่องอยู่ริมทางเพื่อดักรอ ซึ่งตัวแม่จำไม่ได้เหมือนกันว่า ตนเข้าเกียร์จอดไว้หรือเปล่า? 

ครั้นเห็นรถลูกสาววิ่งผ่านมาอย่างช้า ๆ ตนจึงลดกระจกลง แล้วโบกมือให้ลูกเห็นว่า ตนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน พอลูกสาวเห็นดังนั้น ได้รีบเปลี่ยนเลนเพื่อจะเลี้ยวกลับรถ จึงเป็นเหตุให้รถมอเตอร์ไซต์ที่ตามหลังมาเบรคไม่ทัน พุ่งชนท้ายรถของลูกสาว และทำให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซต์เสียชีวิตคาที่

ฝั่งรถเก๋งทั้งสองคันทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทประกันภัยเจ้าที่หนึ่ง ส่วนฝั่งรถมอเตอร์ไซต์ก็มีประกันภัยอยู่กับบริษัทประกันภัยเจ้าที่สอง และภายหลังจากที่ได้ชดใช้ให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตไปแล้ว บริษัทประกันภัยเจ้าที่สองได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับบริษัทประกันภัยเจ้าแรก โดยกล่าวหาว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่รถเก๋งทั้งสองคัน ซึ่งความผิดของคนขับขี่รถเก๋งคันที่สองค่อนข้างชัดเจน แต่คนขับขี่รถเก๋งคันแรกยังมีข้อถกเถียงกันอยู่

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ในส่วนของคนขับรถเก๋งคันแรก แยกเป็นประเด็น ดังนี้

1) การโบกมือของคนขับรถเก๋งคันแรกเป็นเพียงแค่การบอกตำแหน่งของตน หรือเป็นการให้สัญญาณมือว่า ปลอดภัยที่จะกลับรถได้
2) การกระทำในข้อแรกทั้งสองกรณีถือว่า เกิดจากความประมาทเลินเล่อ และเป็นสาเหตุใกล้ชิดของอุบัติเหตุนี้หรือไม่?
3) การกระทำเช่นนั้น ถือว่าอยู่ในเงื่อนไขการใช้รถ หรือการใช้งานรถ (Use or Operation of Vehicle) ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หรือไม่?

ผลจากการพิจารณา ศาลชั้นต้นเชื่อว่า การโบกมือดังกล่าวเป็นการให้สัญญาณกลับรถได้ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้นมา คนขับรถคันแรกจึงต้องร่วมรับผิดกับคนขับรถคันที่สองในอัตราส่วนร้อยละยี่สิบ

บริษัทประกันภัยเจ้าแรกไม่ยอมรับผลการตัดสิน ได้สู้คดีต่อจนถึงชั้นศาลสูง ซึ่งได้วิเคราะห์ว่า คำว่า “การใช้รถ” ศาลเองมีการตีความแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว ให้ความหมายกว้างกว่าการเพียงแค่ขับขี่รถ โดยรวมไปถึงการกระทำการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้นว่า การขึ้น หรือการลงจากรถ โดยที่อุบัติเหตุจากการใช้รถจะต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถโดยทั่วไปด้วย กล่าวคือ มิใช่เพียงแค่รถคันนั้นมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่ตัวรถเองจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาโดยตรง 

ส่วน “การใช้งานรถ” หมายถึง การควบคุมการใช้งานรถให้เคลื่อนไหว หรือหยุดอยู่กับที่ 

โดยที่ทั้งการใช้รถ หรือการใช้งานรถมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนรถ หรือใกล้กับรถก็มิได้หมายความว่า จะต้องเกิดจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถเสมอไป จำต้องพิจารณาข้อความจริงในแต่ละกรณีประกอบกับหลักเกณฑ์ที่ว่า จะต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถโดยทั่วไป และตัวรถเองจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาโดยตรงด้วย

การใช้สัญญาณมือเวลาขับขี่รถอาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อได้ ดังเช่น คนขับรถส่งนักเรียนยกมือให้สัญญาณเพื่อเตือนอย่าเพิ่งข้ามถนน เพราะกำลังมีรถวิ่งมา แต่นักเรียนเข้าใจผิดว่า ให้ข้ามถนนไปได้ และถูกรถชนในท้ายที่สุด หรือกระทั่งคนขับรถคันหนึ่งยกมือห้ามคนขับอีกคันที่กำลังจะกลับรถให้รอก่อน แต่ถูกเข้าใจผิดว่า ปลอดภัยกลับรถได้เลย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ จากคำให้การของลูกสาวที่ขับรถคันที่ก่อเหตุยังค่อนข้างสับสนว่า ตนเองเห็นแม่โบกมือให้นั้น หมายถึง เพื่อให้เห็นว่าอยู่ตรงจุดนี้ หรือปลอดภัยให้กลับรถได้ ถึงกระนั้น ศาลยังไม่เห็นว่า การโบกมือดังกล่าวจะเกี่ยวเนื่องจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถ แม้ได้กระทำระหว่างนั่งอยู่ในตำแห่งคนขับรถที่กำลังติดเครื่องอยู่ก็ตาม เพราะคนขับอาจจะลงจากรถมาโบกมือก็ได้เช่นกัน ฉะนั้น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับการให้สัญญาณมือของคนขับรถคันแรกแต่ประการใด ตัดสินให้คนขับรถคันที่สองต้องรับผิดจากความประมาทเลินเล่อของตนเองแต่ผู้เดียว

กรณีนี้เทียบเคียงมาจากคดี Nationwide Mut. Fire Ins. Co. v Oster 2018 NY Slip Op 51018(U) ซึ่งต่อสู้กันมายาวนานร่วมเจ็ดปีระหว่างบริษัทประกันภัยสองรายกว่าที่ศาลสูงแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะมีคำพิพากษาออกมากลางปีนี้เอง

เรื่องต่อไป: หลังคาอาคารพังถล่มลงมาสองจุดโดยทิ้งช่วงห่างกันไม่กี่วัน ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งเดียว หรือสองครั้ง?

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 72:สายเคเบิ้ลที่อยู่นอกสถานที่ของบริษัทที่ให้บริการภาพและเสียงตามสายจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?


โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ไม่ว่าแบบระบุภัย หรือแบบสรรพภัย ตลอดจนกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินดังกล่าว มักจำกัดขอบเขตความคุ้มครองให้อยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัย อันเป็นสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง 

ดังนั้น การกำหนดทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมีความสำคัญมาก มิฉะนั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันดังเช่นในคดีพิพาทนี้ก็ได้

ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นบริษัทเคเบิ้ลทีวี ซึ่งให้บริการภาพและเสียงตามสายแก่สมาชิกภายในเมืองแห่งหนึ่งได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองอาคารสิ่งก่อสร้างของตนเอง ภายใต้กรมธรรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยผ่านตัวแทนประกันภัยอิสระรายหนึ่ง (บ้านเราจะเรียกว่า นายหน้าประกันภัยประเภทบุคคล)

ต่อมา ได้มีพายุเฮอริเคนลูกหนึ่งได้พัดผ่านเมืองแห่งนั้นสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ประชาชนที่พักอยู่อาศัย รวมถึงธุรกิจของผู้เอาประกันภัยรายนี้ด้วย ซึ่งประกอบด้วยความเสียหายต่อตัวอาคารสำนักงาน อาคารสถานีส่งสัญญาณ (Headend Building) และระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลที่เชื่อมต่อถึงลูกค้าในรัศมี 49 ไมล์จนใช้การไม่ได้

แม้ตัวอาคารที่เอาประกันภัยมิได้รับความเสียหายมากนัก สามารถกลับมาปฏิบัติการได้โดยฉับพลัน แต่ก็ไม่อาจทำการแพร่สัญญาณให้ลูกค้าได้ดังเดิม เนื่องจากระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลชำรุดเสียหาย ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงสอบถามยังตัวแทนประกันภัยของตนว่า สายเคเบิ้ลอยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยใช่ไหม? ซึ่งตัวแทนประกันภัยรับรองว่าใช่ ผู้เอาประกันภัยจึงรีบติดต่อว่าจ้างบริษัทสายเคเบิ้ลมาทำการซ่อมแซมแก้ไข และสามารถกลับมาทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้ลูกค้าตามปกติได้ภายใน 30 วัน

ระหว่างที่ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยได้หยุดชะงักไป บริษัทประกันภัยได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (Increase in Cost of Working) หรือที่พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดปี พ.ศ. 2560 เรียกว่า “การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย คือ ในการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เมื่อมีเหตุที่เอาประกันภัยไว้เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการลง ในบางครั้งผู้เอาประกันภัยอาจจะต้องดำเนินการให้ธุรกิจนั้นดำเนินต่อไป ค่าใช้จ่ายในการนี้จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ด้วย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปใช้สอยก่อนเบื้องต้นเป็นจำนวน 15,000 เหรียญ

ต่อมา ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมต่อบริษัทประกันภัย สำหรับค่าซ่อมแซมสายเคเบิ้ล และความสูญเสียทางการเงินที่ได้รับในระหว่างนั้นด้วย  

บริษัทประกันภัยปฏิเสธ พร้อมกับโต้แย้งว่า ตนได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกินจากค่าใช้จ่ายตามสมควรไปตั้ง 7,000 เหรียญด้วยซ้ำไป

ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดี ด้วยเหตุผลว่า ระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลมิได้อยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อการนี้จึงไม่ตกอยู่ในความคุ้มครอง

เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ ได้มีการวิเคราะห์ถ้อยคำในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งระบุได้เอาประกันภัยเพียงรายการอาคารสิ่งก่อสร้าง (Building) เท่านั้น 

โดยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้คำนิยามว่า “หมายความถึง อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และรวมถึง
(1) ส่วนต่อเติม (Completed additions)
(2) สิ่งติดตั้งตรึงตรา รวมทั้งสิ่งติดตั้งตรึงตราที่อยู่กลางแจ้ง (Fixtures, including outdoor fixtures)
(3) สิ่งติดตั้งถาวร (Permanently installed)
อันได้แก่ (ก) เครื่องจักร และ (ข) อุปกรณ์

เนื่องจากคำว่า “สิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fixtures)” มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ ศาลจำต้องอาศัยถ้อยคำของกฎหมาย ซึ่งให้ความหมายถึง สิ่งที่นำมาติดตั้ง หรือประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์แล้ว ได้กลายมาเป็นส่วนควบ (Component Part) ของอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยที่คำว่า “ส่วนควบ (Component Part)” นั้นหมายความถึง สิ่งที่ติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแยกจากกันได้ เว้นแต่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อตัวมันเอง หรืออาคารสิ่งก่อสร้างนั้น

ดังนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยให้การว่า ระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลถือเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในส่วนของ “สิ่งติดตั้งตรึงตราที่อยู่กลางแจ้ง (Outdoor Fixtures)” หรือ “อุปกรณ์ที่ติดตั้งถาวร (Permanently Installed Equipment)” เนื่องจากสายเคเบิ้ลได้เชื่อมต่ออย่างถาวรกับอาคารสถานีส่งสัญญาณ หากขาดต่อจากกันแล้วจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่ออาคารสถานีกับสายเคเบิ้ลเอง ตลอดจนลูกค้าผู้ใช้บริการด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อนึ่ง การที่บริษัทประกันภัยได้ทำการทดรองจ่ายบางส่วนมาให้เพื่อทุเลาความเสียหาย ถือเป็นการยอมรับโดยปริยายแล้วว่า ความคุ้มครองมิได้จำกัดอยู่เพียงภายในสถานที่ทำการของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการขาดความเชื่อมต่อระหว่างอาคารสถานีกับระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลเพียงส่งผลทำให้อาคารสถานี “ทำงานไม่ได้” แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่ออาคารสถานีแต่ประการใด 

ส่วนประเด็นเรื่องการสละสิทธิข้อโต้แย้ง หรือการยอมรับโดยปริยายของบริษัทประกันภัยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นประเด็นที่ต้องว่ากันในศาลชั้นต้นมากกว่า จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชนะคดีนี้

(อ้างอิงจากคดี Service One Cable T.V., Inc. v. Scottsdale Ins. Co., 2011-1469 (La. App. 1st Cir. February 10, 2012))

เสียดายนะครับที่ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวแทนประกันภัยที่ไปตอบกับผู้เอาประกันภัยว่า เครือข่ายสายเคเบิ้ลรวมอยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว?

ส่วนการใช้ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยที่เราแปลมาจากต่างประเทศนั้น หลายคำมิได้มีกฎหมายไทยรองรับ ส่วนตัวค่อนข้างเป็นห่วงว่า เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นศาลไทย ท่านจะว่าเช่นไร? 

ดังในคดีนี้ คำว่า “สิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fixtures)” ซึ่งบ่อยครั้งจะใช้ควบคู่กับ “สิ่งตกแต่ง (Fittings or Furnishings)” นั้น ในต่างประเทศเอง เกิดข้อโต้แย้งกันหลายครั้งในการจำแนกความหมาย ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา เห็นใช้อยู่เพียงคำว่า “ส่วนควบ” กับ “อุปกรณ์” เท่านั้น

ผมจะรวบรวมบทความต่างประเทศที่พูดถึงความแตกต่างระหว่าง “สิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fixtures)” กับ “สิ่งตกแต่ง (Fittings or Furnishings)” มาเขียนเป็นข้อมูลเสริมแยกต่างหากอีกบทความหนึ่งในเร็ววันนี้ครับ


เรื่องต่อไป: นั่งอยู่ในรถยนต์ที่จอดติดเครื่องอยู่ อยู่ในความหมายของการใช้รถ หรือการใช้ทาง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หรือไม่?
 


วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 71: คนเมาแล้วขับขี่ (Drunk Driver) จนเกิดเหตุเสียชีวิต ถือเป็นอุบัติเหตุ อันจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือไม่?


(ตอนที่สอง)


ตอนที่แล้ว เราพูดกันถึงอุบัติเหตุเมาแล้วขับขี่ ซึ่งบริษัทประกันภัยปฏิเสธความคุ้มครองโดยอ้างว่า ขณะบาดเจ็บตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยว่าด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด แต่ถ้อยคำที่เขียนดังกล่าวเปิดโอกาสให้ศาลตีความโดยเคร่งครัดตัดสินให้ทายาทผู้เสียชีวิตได้รับการชดใช้ เพราะขณะเสียชีวิตมิได้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่ได้ระบุยกเว้นเอาไว้

เมื่อบริษัทประกันภัยนี้อาจพลาดในเรื่องถ้อยคำที่ตนเองร่าง ก็มีบริษัทประกันภัยอีกแห่งหนึ่งเลือกที่จะต่อสู้คดีเรื่องเมาแล้วขับขี่ด้วยการเปิดประเด็นขึ้นมาใหม่อีกมุมหนึ่ง เราลองมาดูเทียบเคียงกันว่า ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรกันนะครับ?

คดีนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1995 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานอุบัติเหตุรถยนต์คันหนึ่งเสียหลักพุ่งชนอาคารหลังหนึ่ง ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผลการสืบสวนสอบสวนได้ความว่า ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดทำให้เสียหลัก กอปรกับทั้งยังเมาสุราระหว่างขับขี่ด้วย เพราะผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุไม่นานวัดได้ระดับ 0.22% เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ประมาณสองเท่า ต่อมา ผู้บาดเจ็บรายนี้ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 ด้วยสาเหตุร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงหลายแห่งประกอบกับมีอาการแทรกซ้อนจากภาวะหลอดลมใหญ่และปอดอักเสบ (Bronchopneumonia)  

เนื่องด้วยผู้ขับขี่รายนี้ได้มีกรมธรรม์ประกันชีวิตกับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคุ้มครองอยู่กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ภรรยาของผู้เสียชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับจึงได้ยื่นเรื่องเรียกร้องผลประโยชน์ความคุ้มครองดังกล่าวในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน และภายในหนึ่งสัปดาห์ก็ได้รับค่าชดเชยจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นลำดับแรก ส่วนเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น บริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ขอเวลาพิจารณาตรวจสอบก่อนระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 ผู้รับประโยชน์ก็ได้รับจดหมายตอบปฏิเสธจากบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ ซึ่งระบุว่า การชนที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการขับขี่ทั้งที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ (Accident)” ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เพราะตามหลักกฎหมายแล้ว การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ (Accidental Death) นั้น หมายความว่า เหตุที่เกิดนั้นจะต้องเป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ หรือไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควร นอกจากนี้ยังเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า “ไม่คุ้มครองการทำร้ายร่างกายตนเองโดยเจตนา (Injuring Yourself on Purpose)” อีกด้วย

ประเด็นหลักในการพิจารณาเมื่อคดีนี้ขึ้นถึงศาล คือ กรณีเมาแล้วขับขี่ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่? โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยเองมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ด้วย

ผู้รับประโยชน์ฝ่ายโจทก์ได้นำเสนอพยานหลักฐานแวดล้อมว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้มีความตั้งใจหรือความมุ่งหวังที่จะทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ หรือกระทั่งเป็นอันตรายถึงชีวิตเลย ตอนที่เกิดเหตุนี้ยังพบคาดเข็มขัดอยู่กับตัว และเป็นการขับรถเพื่อไปเจอกับภรรยา ทั้งยังใช้เส้นทางปกติหลังจากดื่มเหล้า พยานที่เห็นเหตุการณ์ก็ให้การว่า คนขับพยายามหักรถหลบแล้ว แต่ไม่ทันการ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว ผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนา หรือมุ่งหวังจะทำร้ายร่างกายตนเองเลย แม้จะเมาแล้วขับขี่ก็ตาม

บริษัทประกันชีวิตฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า การเมาแล้วขับขี่นั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตหรือร่างกายขึ้นมาได้

ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ว่า เมาแล้วขับขี่ไม่น่าเป็นสิ่งที่คาดหวังจะเกิดเหตุดังกล่าวได้ตามสมควร เพราะผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ขับขี่ผ่านมาได้ระยะทางสามไมล์แล้วโดยมิได้เกิดอะไรขึ้นมานั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย  

ภาวะอันตรายจากการเมาแล้วขับขี่นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรับรู้กันอยู่ และได้มีการประชาสัมพันธ์ตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอและอย่างกว้างขวางถึงความเสี่ยงภัยจากการเมาแล้วขับขี่ ทั้งกฎหมายยังบัญญัติบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเอาไว้อีกด้วย วิญญูชนที่อยู่ในสภาวะและประสบการณ์เช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยรายนี้ล้วนสามารถตระหนักได้ว่า มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตจากการเมาแล้วยังฝืนขับขี่ขึ้นมาได้

ศาลจึงเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลยว่า กรณีเมาแล้วยังฝืนขับขี่ในคดีนี้ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับนี้

(อ้างอิงจากคดี Walker v. Metropolitan Life Insurance Co., 24 F.Supp.2d 775 (E.D. Mich., 1997)

ตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดข้อถกเถียงอย่างมากถึงเรื่องเมาแล้วขับขี่ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?   

แนวทางการตีความของศาลต่างประเทศแบ่งออกเป็นสองแนวทาง กลุ่มแรกที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องกับคำตัดสินที่มิใช่อุบัติเหตุ ส่วนกลุ่มเสียงข้างน้อยกลุ่มที่สองก็คัดค้านว่า ทำไมการขับขี่รถเร็วเกินกำหนด การง่วงแล้วฝืนขับขี่ หรือการทำผิดกฎหมายจราจรอย่างอื่นถึงไม่ตีความทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมองจากสถิติสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขับรถเร็วมากกว่าการเมาแล้วขับขี่ด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเมาแล้วขับขี่ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุแล้ว จะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย เนื่องจากทุกกรมธรรม์ประกันภัยล้วนคุ้มครองอุบัติเหตุทั้งสิ้น เว้นแต่อุบัติเหตุใดที่บริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครอง ก็จะกำหนดไว้ในข้อยกเว้น

หวังว่า ข้อพิพาทเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยนะครับ ขณะนี้บ้านเรา สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะกำหนดข้อยกเว้นอย่างชัดเจนสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับหมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นว่าด้วยการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (หรือเทียบเท่า 0.05% ตามเกณฑ์วัดสากล) เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารแนบท้าย ร.ย. 01 ว่าด้วยการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลกลับมิได้มีข้อยกเว้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ถ้าเกิดตีความว่า มิใช่เป็นอุบัติเหตุขึ้นมาเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จบสิ้นครับ

เรื่องต่อไป สายเคเบิ้ลที่อยู่นอกสถานที่ของบริษัทที่ให้บริการภาพและเสียงตามสายจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความนี้ และบทความใหม่เรื่องอื่น ๆ ได้ที่ Insurance Knowledge by BTA เพจ Facebook อีกแหล่งหนึ่งนะครับ ขอบคุณครับ