เรื่องที่ 66: โรงงานได้รับความเสียหาย เนื่องจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร
แล้วทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover)
จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยของตนหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ต้องขออภัยที่ต้องทิ้งช่วงไปพักนึง
งั้นเรามาคุยต่อกันดีกว่านะครับ
คดีนี้
ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องกับคำปฏิเสธของบริษัทประกันภัย
และตัดสินให้ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย
บริษัทประกันภัยอุทธรณ์
โดยยืนคำอ้างว่า
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นมิได้มีสาเหตุมาจากไฟไหม้
แต่เกิดจากการหยุดชะงักของกระแสไฟฟ้าเนื่องจากการลัดวงจรที่ตู้สวิทช์บอร์ด
จนส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลัน (Thermal Shock) ถึงขนาดสร้างความเสียหายแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้ในท้ายที่สุด ฉะนั้น
เมื่อมิได้มีไฟไหม้
อันเป็นภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เกิดขึ้นมาเลยตั้งแต่ต้น
สาเหตุใกล้ชิดอื่น ๆ จึงมิอาจได้รับความคุ้มครองตามไปด้วย
ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น
บริษัทประกันภัยไม่ยอมแพ้ และได้ยื่นฎีกาต่อไป
ศาลฎีกาจึงพินิจพิเคราะห์ประเด็นว่า ได้มีไฟไหม้เกิดขึ้นในคดีนี้หรือไม่?
ฝ่ายบริษัทประกันภัยยอมรับว่า ไฟฟ้าลัดวงจรที่ตู้สวิทช์บอร์ดได้ทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover)
ขึ้นมา
โดยผู้สำรวจความเสียหายของบริษัทประกันภัยกล่าวในรายงานของตนว่า “การวาบไฟ (Flashover)
หมายความถึง ปรากฏการณ์ของการพัฒนาการเกิดไฟไหม้
ด้วยการเกิดเปลวเพลิงแผ่รังสีความร้อนไปสู่พื้นผิวของผนังกับด้านบนของตู้นั้น
จนสีของตู้นั้นไหม้เกรียม
เนื่องจากการวาปไฟนั้นเอง
ซึ่งแผ่รังสีความร้อนสูงถึงระดับทำให้เกิดการหลอมละลายดังกล่าว”
ผู้สำรวจภัยอีกรายให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เปลวไฟที่ลุกวูบขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งจากการที่ไฟฟ้าลัดวงจรนั้น
มิได้ถือเป็นการเกิดไฟลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง (Sustained
Fire) ตามความหมายที่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย”
ความเห็นเช่นนั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่า
ช่วงระยะเวลาการเกิดไฟนั้นมิใช่ประเด็นปัญหา เมื่อเกิดไฟขึ้นมาสร้างความเสียหาย
หน้าที่ของบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามสัญญาประกันภัย
ถึงแม้ไฟนั้นจะลุกไหม้ขึ้นมาเพียงแค่ช่วงเสี้ยววินาทีเดียว ทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยเอง
ก็มิได้กำหนดคำนิยามของไฟไหม้เอาไว้ด้วย
การที่บริษัทประกันภัยจะเพิ่มเติมถ้อยคำเองว่า ไฟจะต้องเกิดการลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง
(Sustained
Fire) ขึ้นมาด้วยนั้น
ศาลคงมิอาจรับฟังได้ เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยเองเพียงใช้คำว่า “ไฟไหม้ (Fire)” เท่านั้น
ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุไม่คุ้มครอง
“ความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ
เครื่องใช้ที่ใช้ไฟฟ้าใด ๆ (รวมทั้งพัดลมไฟฟ้า
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการอยู่อาศัยทั้งหลาย ตลอดจนอุปกรณ์ไร้สาย โทรทัศน์
และวิทยุ) หรือต่อส่วนใดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งขึ้นมาใด ๆ
อันเกิดขึ้นจาก หรือเป็นเหตุจากการเดินเครื่องเกินกำลัง
หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง หรือไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดความร้อนขึ้นในตัวเอง หรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า
ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมถึงเนื่องจากฟ้าผ่าด้วย) ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า
ข้อยกเว้นนี้เพียงมีผลใช้บังคับเฉพาะกับเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ไฟฟ้าใด
ๆ หรือต่อส่วนใดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งขึ้นมาใด
ๆ ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น มิใช่แก่เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ไฟฟ้าอื่นใด หรือต่อส่วนใดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งขึ้นมาอื่นใด
ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือความวินาศจากไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้น”
ศาลพิจารณา และเข้าใจว่า ไม่คุ้มครองเฉพาะเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ
เครื่องใช้ที่ใช้ไฟฟ้าใด ๆ หรือต่อส่วนใดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งขึ้นมาใด
ๆ ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุ และได้รับความเสียหายจากสาเหตุดังกล่าว เป็นต้นว่า
ไฟฟ้าลัดวงจร แม้จะเกิดไฟไหม้ตามมาก็ตาม
แต่ถ้าความเสียหายที่เกิดไฟไหม้นั้นเองได้ลุกลามต่อไปยังเครื่องจักร อุปกรณ์
เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ไฟฟ้าอื่น หรือต่อส่วนใดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งขึ้นมาอื่น
ก็จะได้รับความคุ้มครอง หากได้ระบุเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ด้วย
ประเด็นหลักที่จำต้องวิเคราะห์
คือ การวาบไฟกับไฟไหม้เป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายนี้หรือไม่?
จากพยานหลักฐานประกอบคำให้การของฝ่ายบริษัทประกันภัย
ซึ่งสรุปได้ว่า ไฟฟ้าลัดวงจรส่งผลทำให้เกิดการวาบไฟ และการแผ่รังสีความร้อนจากการที่กระแสไฟฟ้าไหลเกิน
(Over Currents) ได้ส่งผลทำให้เกิดการติดไฟชั่วขณะหนึ่ง
จากนั้นได้เกิดการหยุดชะงักของกระแสไฟฟ้า และทำให้เกิดการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลัน (Thermal Shock) ถึงขนาดสร้างความเสียหายแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้ในท้ายที่สุด
ฉะนั้น เห็นได้ว่า การวาบไฟกับไฟเป็นต้นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดตอน
จนกระทั่งได้สร้างความเสียหายเช่นนั้นขึ้นมา หากปราศจากไฟ
ความเสียหายคงไม่อาจเกิดขึ้นมาได้
ศาลจึงไม่เห็นพ้องกับความเห็นของฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ว่า
ไฟมิได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายนี้ขึ้นมา และวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย
(อ้างอิงมาจากคดี Supreme Court of India: New India
Assurance Company Ltd vs M/S Zuari Indsustries Ltd. & Ors (2009))
ผมขอสรุปเพิ่มเติมว่า
การเกิดไฟ หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาของไฟ” นั้น เท่าที่ได้ศึกษาจากบทความต่าง ๆ ได้มีการจัดแบ่งช่วงเวลาออกหลากหลาย
แต่ผมขอแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ
1) ช่วงติดไฟ (Ignition) เป็นช่วงเริ่มติดไฟขึ้นมา
2) ช่วงลุกไหม้ (Growth) เป็นช่วงมีเปลวไฟลุกโชนขึ้นจากน้อยไปมาก
โดยจุดวาบไฟ (Flashover) จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้
3) ช่วงเผาไหม้ทำลาย (Fully Developed) เป็นช่วงการเผาไหม้ทำลายอย่างเต็มที่
4) ช่วงไฟมอด (Decay) เป็นช่วงที่ไฟเริ่มอ่อนแรงลงจนมอดดับไปในท้ายที่สุด
ถ้าเรานึกภาพการจุดบุหรี่ หรือจุดธูป มันติดไฟ
แต่ลักษณะเพียงเป็นการเผาไหม้ ซึ่งมิได้มีเปลวไฟลุกโชนขึ้นมาเลย
ทำให้เคยเกิดคดีข้อพิพาทว่า
ลักษณะเช่นนี้มิได้อยู่ในความหมายของไฟไหม้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย คดีนี้ก็คล้ายคลึงกัน
แต่ข้อแตกต่าง คือ คดีนี้มีข้อสรุปว่า ได้เกิดเปลวไฟลุกขึ้นมาด้วย
แม้จะเพียงแค่วูบเดียว แต่ก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนแล้ว
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยบ้านเราก็มีข้อยกเว้นคล้ายคลึงกัน
โดยสามารถขยายภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electricl
Injury หรือ Electrical Installation) เพื่อให้คุ้มครองเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวต้นเหตุได้
หากเกิดมีข้อพิพาทประเด็นนี้ ผลทางคดีบ้านเราจะเป็นเช่นใดนั้น
คงต้องคอยดูกันต่อไปนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น