เรื่องที่ 67:ค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up
Costs) นอกสถานที่เอาประกันภัยถือเป็นความเสียหายที่กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกจำต้องรับผิดหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ศาลในคดีนี้วิเคราะห์ข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
(Public
Liability Insurance Policy) ฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า “จะคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย
ด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย (Damages) สำหรับความบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุต่อบุคคลภายนอก
ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และการก่อความเดือดร้อนรำคาญ
การบุกรุกที่ดิน หรือการล่วงละเมิดทรัพย์ หรือการขัดขวางสิทธิภาระจำยอมใด ๆ ในการใช้ทางอากาศ
การได้รับแสงสว่าง การใช้น้ำ หรือการใช้เส้นทาง”
เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดคำนิยาม “ค่าเสียหาย
(Damages)” เอาไว้ ศาลจึงตีความว่า หมายความถึง ค่าชดเชย หรือค่าสินไหมทดแทนที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
เพื่อให้ผู้กระทำผิดจำต้องชดใช้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งผู้ได้รับความเสียหายเป็นค่าเสียหายของบุคคลนั้นเอง
คือ จะต้องมีผู้กระทำผิด และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดนั้น อันเป็นเรื่องการกระทำละเมิดระหว่างบุคคลกับบุคคล
ขณะที่ค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up Costs) เป็นบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ต้องควบคุม
กำจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ทำเอง ก็ให้สิทธิแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการ
และเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวคืนจากผู้ก่อมลพิษนั้นเอง ทั้งนี้
เพื่อปกป้องสาธารณชนจากภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
จึงมีลักษณะเป็นเรื่องระหว่างบุคคลผู้กระทำผิดกับภาครัฐ
ด้วยเหตุผลนี้ ศาลได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
เฉพาะสำหรับค่าทำความสะอาดมลพิษดังกล่าว
(อ้างอิงจากคดี Bartoline Ltd v. v Royal & Sun
Alliance Insplc [2007]
Lloyd's Rep IR 423 (MDR))
คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างคดีหนึ่งของประเทศอังกฤษ
แต่เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของประเทศอังกฤษมิได้จัดทำเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัทประกันภัย
บางฉบับอาจจะมีข้อกำหนดขยายค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up Costs) ลงไว้อย่างชัดแจ้งก็ได้ ถ้าเช่นนั้น
ถือเป็นการตกลงกันไว้ให้ครอบคลุมถึงเป็นพิเศษ ส่วนฉบับที่มิได้ขยายไว้
คนกลางประกันภัยควรจะต้องแนะนำชี้ช่องให้ผู้ขอเอาประกันภัยตระหนักตั้งแต่ต้น
มิฉะนั้น อาจจำต้องรับผิดแก่ผู้เอาประกันภัยเป็นการเฉพาะก็ได้
ควรระมัดระวังด้วยนะครับ
เมื่อพิจารณากรณีนี้เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
(Public
Liability Insurance Policy) ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย
ซึ่งมีต้นแบบมาจากของประเทศอังกฤษ ส่วนตัวเห็นว่า ก็น่าจะให้ผลไม่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลสามประการ
ดังนี้
1) เพราะในข้อตกลงคุ้มครองได้ระบุว่า
“.... บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย
สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันเกิดแก่บุคคลภายนอก
ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายอันสืบเนื่อง หรือเป็นผลมาจากอุบัติเหตุจากการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เอาประกันภัย
ภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัย ในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ
อาณาเขตความคุ้มครองซึ่งระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับ
1. ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย
การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก
2. ความสูญเสีย
หรือเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก”
อันเป็นเรื่องการประกันภัยค้ำจุนที่เป็นความรับผิดระหว่างบุคคลกับบุคคล
2) ประกอบกับข้อยกเว้นที่ระบุว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง
…….
12. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เป็นเงินตราเพียงอย่างเดียว
โดยไม่มีความเสียหายต่อ ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย หรือ ทรัพย์สินอื่นของบุคคลภายนอกเกิดขึ้นก่อน
หรือไม่ได้เป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อ ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย หรือทรัพย์สินอื่นของบุคคลภายนอก” (ถึงแม้ได้มีการขยายข้อยกเว้นที่ 5. ความรับผิดจากมลภาวะไว้แล้วก็ตาม)
3) ทั้งในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เอง
ยังได้กำหนดไว้ในข้อที่ 5. หน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการจัดการป้องกัน ซึ่งกำหนดว่า
“ผู้เอาประกันภัยต้องป้องกันหรือจัดให้มีการป้องกันตามสมควร
เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ
และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อบังคับของเจ้าหน้าที่ราชการ ซึ่งบริษัทจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้”
โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของไทยมิได้เปิดช่องให้สามารถขยายเพียงเฉพาะค่าใช้จ่ายในการกำจัดมลพิษได้
คู่สัญญาประกันภัยจึงอาจต้องอาศัยข้อตกลงเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายไป
นี่คือ คดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นของประเทศอังกฤษ
มีคดีลักษณะอย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย
ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติม ดังนี้
1) คราวนี้ เจ้าของโรงงานฟ้องหน่วยงานดับเพลิงที่เข้าไปช่วยดับเพลิงเผื่อไว้เลยว่า
ดำเนินการไม่ดีพอ จนทำให้เกิดมลพิษขึ้นมา ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ
หน่วยงานดับเพลิงนั้นต้องร่วมรับผิดด้วย
2) ค่ากำจัดซากมลพิษที่อยู่ในตกค้างอยู่ภายในโรงงานแห่งนั้น
จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษการขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) ได้หรือไม่?
คงต้องต่อกันตอนที่สามอีกตอนแล้วล่ะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น