วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 68: ค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up Costs) ที่เกิดขึ้นในและนอกสถานที่เอาประกันภัย ถือเป็นความเสียหายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)
เนื่องด้วยเป็นต่างคดี ต่างเขตอำนาจศาล และมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน จึงขอตั้งเรื่องขึ้นใหม่กับตอนใหม่แทนก็แล้วกันนะครับ ขออภัยหากเกิดความสับสน
เรื่องนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้ประกอบการรายหนึ่งไปเช่าโรงงานแห่งหนึ่ง เพื่อดำเนินกิจการโรงงานผลิตสารเคมี และได้มอบหมายให้บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยนำตัวอาคารโรงงานที่เช่ากับทรัพย์สินอื่น ๆ ของตนไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินประเภทสรรพภัย (ความเสี่ยงภัยทุกชนิด) และกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกกับบริษัทประกันภัย
วันหนึ่งได้เกิดไฟไหม้ลุกลามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หน่วยงานดับเพลิงที่ได้รับแจ้งจึงรีบตอบสนองเข้าไปทำการดับเพลิงทันที ด้วยการใช้ฉีดน้ำจำนวนมากเข้าทำการดับเพลิงซึ่งกำลังลุกโหมอย่างรุนแรง เมื่อน้ำผสมเข้ากับสารเคมี ก็ก่อให้เกิดของเหลวที่ปนเปื้อน (Contaminated Fluid) เอ่อล้นแผ่กระจายเป็นวงกว้างไปยังพื้นที่หลายแห่งของโรงงาน และไหลแทรกซึมลงในพื้นดิน ตัวคอนกรีต และแหล่งน้ำใต้ดินในท้ายที่สุด
ภายหลังไฟได้สงบลง ทางหน่วยงานควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมของรัฐได้เข้าไปตรวจสอบสภาพของโรงงานแห่งนั้น และได้ออกคำสั่งให้เจ้าของที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างทำการขจัดซากสารปนเปื้อนอันตรายในพื้นที่ดังกล่าวออกไปให้หมด ซึ่งค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up Costs) นั้นมีจำนวนสูงมากคิดเป็นเงินไทยหลายร้อยล้านบาท (เกินกว่าราคาที่ดินด้วยซ้ำ)
ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้
1) หน่วยงานดับเพลิงที่เข้าทำการดับเพลิงให้รับผิดชอบค่าทำความสะอาดมลพิษนั้นแทน โทษฐานที่มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดับเพลิงให้ดี กล่าวคือ ใช้น้ำแทนที่จะเป็นโฟมดับเพลิง หรือควรใช้วิธีจำกัดควบคุมการลุกลามของไฟ และปล่อยให้ไฟมอดดับไปเองจะดีกว่า ทั้งยังใช้น้ำจำนวนมากเกินไปจนทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีแพร่กระจายทั่วบริเวณจนก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่สูงมากดังกล่าว
2) ให้บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยรับผิดแทน สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิด โทษฐานที่รู้ หรือควรรู้ว่า โรงงานนี้มิใช่เป็นของผู้เอาประกันภัย แต่เช่ามา ดังนั้น จึงควรระบุให้ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วยทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน หรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกของผู้เอาประกันภัยดังกล่าว เพื่อจะได้สามารถได้รับความคุ้มครองสำหรับค่าทำความสะอาดมลพิษ ภายใต้ค่าขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) ของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน หรือไม่ก็ภายใต้ค่าเสียหาย (Damages) ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับดังกล่าว แล้วแต่กรณี
คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็น ดังนี้
1) แม้ศาลรับฟังจากพยานผู้เชี่ยวชาญแล้ว เห็นพ้องว่า หน่วยงานดับเพลิงนั้นอาจมีความประมาทเลินเล่อร่วมอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการปกป้องจากกฎหมายพิเศษว่าด้วยการบริการให้ความช่วยเหลือและการดับเพลิง (Fire and Rescue Service Act) ให้ไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้หน่วยงานดับเพลิงนั้นพ้นผิด
2) สำหรับบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยนั้น แม้ได้รับรู้แล้วว่า โรงงานกับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นสถานที่เช่า แต่เนื่องด้วยมิได้มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ให้เช่า อีกทั้งในส่วนของความคุ้มครองเอง ก็มิอาจได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ด้วยเหตุผลดังนี้
(1) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ขยายความคุ้มครองถึงค่าขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) นั้น ซากทรัพย์หมายความถึงเพียงเศษซากของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น เนื่องด้วยที่ดินตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยทรัพย์สินที่ไม่คุ้มครอง สารปนเปื้อนบนที่ดินจึงมิได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน ส่วนสารปนเปื้อนบนคอนกรีต แม้คอนกรีตเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัย แต่สิ่งปนเปื้อนนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อนึ่ง ถังบรรจุพร้อมกับสารเคมีที่อยู่ภายในอาจเป็นสต็อกที่เอาประกันภัยได้ เมื่อรั่วไหลออกมาถือเป็นเศษซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้ การพิจารณาที่จะให้ชดใช้จำต้องจำแนกค่าทำความสะอาดมลพิษแยกออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนเสียก่อน
(2) ขณะที่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ศาลก็เห็นว่า ความคุ้มครองจำกัดเฉพาะเรื่องการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาได้รวมถึงค่าทำความสะอาดมลพิษตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐบาลไม่  
ดังนั้น การที่จะให้ขยายรวมผู้ให้เช่าเข้าไปเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย ก็มิได้ส่งผลทำให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ดี จึงตัดสินให้บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้เช่นกัน
อ้างอิงจากคดี Hamcor Pty Ltd & Anor v State of Queensland & Ors [2014] QSC 224   
เรื่องต่อไป ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น