เรื่องที่ 67:ค่าทำความสะอาดมลพิษ (Clean-up
Costs) นอกสถานที่เอาประกันภัยถือเป็นความเสียหายที่กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกจำต้องรับผิดหรือไม่?
(ตอนที่หนึ่ง)
โรงงานผลิตสารเคมีแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษได้เกิดไฟไหม้
เมื่อหน่วยงานดับเพลิงทำการดับเพลิง ส่งผลทำให้โฟมดับเพลิง (Fire-fighting
Foam) และสารเคมีบางส่วนได้รั่วไหลลงไปในแม่น้ำข้างเคียง
ก่อให้เกิดมลภาวะแก่น้ำ ร่องแม่น้ำ และริมตลิ่งของแม่น้ำสองสายที่อยู่บริเวณนั้นอย่างกว้างขวาง
หน่วยงานดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของรัฐจึงใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลรักษาแหล่งน้ำ
เข้าทำการขจัดทำลายมลพิษสิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้นกว่าหกแสนกว่าปอนด์
หรือเทียบเท่าเงินไทยประมาณยี่สิบเจ็ดล้านบาท
หน่วยงานนั้นจึงเรียกให้โรงงานผลิตสารเคมีแห่งนี้ชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืน
พร้อมกับกำหนดให้ทางโรงงานนี้วางมาตรการป้องกัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกร่วมแสนกว่าปอนด์
(หรือเป็นเงินประมาณกว่าหกล้านบาท)
บังเอิญโรงงานแห่งนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดกับความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
(Combined Property All Risks Insurance & Public Liability Insurance
Policy) ผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยเอาไว้กับบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง
จึงส่งเรื่องให้บริษัทประกันภัยพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
สำหรับความเสียหายจากไฟไหม้โรงงาน และค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ (Clean-up Costs) คืนให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เรียกร้องมาดังกล่าว
บริษัทประกันภัยพิจารณาแล้ว
ยินดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากไฟไหม้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด
แต่ปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษดังกล่าวตามตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องทั้งบริษัทประกันภัยกับนายหน้าประกันวินาศภัยของตนให้รับผิด
กล่าวคือ เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองมลภาวะที่เกิดขึ้นฉับพลันและโดยอุบัติเหตุ (Sudden and
Accidental Pollution Extension Clause) เอาไว้แล้วด้วย
แต่ถ้ายังคงได้รับการปฏิเสธ
ก็ให้นายหน้าประกันวินาศภัยในฐานะตัวแทนผู้ชี้ช่องของตนเอง
ให้เข้ามารับผิดแทนบริษัทประกันภัยเป็นลำดับถัดไป โทษฐานที่มิได้ให้คำแนะนำที่ดี
ในข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า
คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอก ในเมื่อมลภาวะดังกล่าวก็เกิดจาก
และเป็นความรับผิดของผู้เอาประกันภัย แม้จะเกิดขึ้นนอกสถานที่เอาประกันภัยก็ตาม
แต่มีต้นเหตุมาจากไฟไหม้ในโรงงานนั่นเอง และการขจัดมลพิษนั้นเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่บัญญัติเอาไว้ด้วย
เหตุใดบริษัทประกันภัยถึงได้มาปฏิเสธความรับผิดได้
เพราะดูแล้วเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองทุกประการ
คุณมีความเห็นเบื้องต้นว่าอย่างไรบ้างครับ?
รอพบคำวินิจฉัยจากศาลในคดีนี้ได้ในสัปดาห์หน้าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น