วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 66:โรงงานได้รับความเสียหาย เนื่องจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร แล้วทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover) จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยของตนหรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง “ไฟไหม้ หรืออัคคีภัย (Fire)” นั้น คุณเข้าใจ หรือเคยสงสัยบ้างไหมครับว่า คำนั้นมีความหมายอย่างไร?
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยนี้ ไม่ว่าทั้งของไทย หรือต่างประเทศมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ซะด้วย เว้นแต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งได้ระบุว่า “อัคคีภัย หมายความถึง ไฟไหม้ หรือฟ้าผ่า หรือการระเบิดของแก๊สเฉพาะที่ได้กำหนดไว้ว่าได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้” (รวมให้สามภัยเลย)
งั้นคำว่า “ไฟไหม้ ” ที่บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองนั้น มันหมายความถึงอะไรกันแน่? เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่นึกคิดเอาไว้ในใจหรือเปล่า?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามไว้ ดังนี้
ไฟ (Fire) หมายถึง น. ชื่อธาตุอย่างหนึ่งในธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม; ผลจากปฏิกิริยาเคมีซึ่งก่อให้เกิดความร้อน แสงสว่าง และเปลว คือ กลุ่มแก๊สที่กำลังลุกไหม้ ทำให้ไหม้สิ่งต่าง ๆ ได้

ไหม้ (Burn) หมายถึง ก. ติดเชื้อไฟ, ลุก, เผา, (ใช้แก่ไฟหรือความร้อน); ว. ถูกความร้อนจนเกรียมหรือจนเป็นถ่าน เช่น ข้าวไหม้; เกรียม, ดำคลํ้า, (ใช้แก่ผิว)

แล้วถ้าเกิดแต่ “ไฟ” อย่างเดียว หรือ “ไหม้ ” อย่างเดียว จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่? หรือต้องเป็นทั้งสองคำผสมกันเท่านั้น?
นี่มันต้องตีความกันถึงขนาดนี้ด้วยเหรอ?

อยากรู้ ก็มาลองรับฟังเรื่องราวนี้กันดูนะครับ
เรื่องนี้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นในประเทศอินเดีย
มีโรงงานแห่งหนึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยกับประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
กลางดึกคืนหนึ่ง ได้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นที่ตู้สวิทช์บอร์ดที่ควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งติดตั้งอยู่ในสถานีย่อยของโรงงาน และรับกระแสไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าของรัฐ จนส่งผลทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover) และกระแสไฟฟ้าไหลเกิน ความร้อนเพิ่มขึ้นสูงมาก ถึงขนาดที่สีของตู้สวิทช์บอร์ดไหม้เกรียม เกิดควันกับเขม่ากระจายไปทั่ว และส่วนตู้ฟีดเดอร์ (Feeder) ที่อยู่ติดกันเกิดเป็นรูโบ๋ ทั้งควันกับเขม่า รวมทั้งอากาศที่มีประจุ (Ionized Air) แพร่กระจายไปยังส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) จนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าต้องหยุดชะงักลงไป ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการป้อนน้ำกับไอน้ำเข้าสู่หม้อกำเนิดไอน้ำ (Boiler) และทำให้เกิดความเสียหายแก่หม้อกำเนิดไอน้ำในท้ายที่สุด
ผู้เอาประกันภัยได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้ส่วนหนึ่ง และการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไประหว่างนั้นอีกส่วนหนึ่ง
เมื่อบริษัทประกันภัยได้มอบหมายให้ผู้ประเมินวินาศภัยเข้าทำรายงานการสำรวจ และประเมินมูลค่าความเสียหายดังกล่าวแล้ว ก็ตอบปฏิเสธว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น มิได้มีสาเหตุมาจากไฟไหม้ แต่มีสาเหตุมาจากการหยุดชะงักของกระแสไฟฟ้าเนื่องจากการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่ตู้สวิทช์บอร์ดต่างหาก จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองภายใต้ไฟไหม้ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นแต่ประการใด
แล้วไฟไหม้ในความหมายของบริษัทประกันภัยในกรณีนี้ หมายถึงอะไรเอ่ย?
คราวหน้าจะได้รับคำตอบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น