เรื่องที่ 65: ผู้โดยสารติดเชื้อโรคจากในรถ ถือเป็นอุบัติเหตุ
อันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์หรือไม่?
(ตอนที่สอง)
คดีนี้
บริษัทประกันภัยรายนี้ยอมรับว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุเป็นรถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้
และการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis
Infection) ก็เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามคำนิยาม “ความบาดเจ็บทางร่างกาย” ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งรวมถึงความเจ็บป่วย
หรือโรคภัยด้วย ทั้งยังเห็นว่า การติดเชื้อวัณโรคนั้นถือเป็น “อุบัติเหตุ”
ตามคำนิยามด้วย คือ เหตุแห่งความเสี่ยงภัยจากสภาวะเดียวกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หรือซ้ำ ๆ กันจนเป็นเหตุให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย
อย่างไรก็ดี ได้โต้แย้งว่า “ความบาดเจ็บทางร่างกาย”
นั้น อันมีสาเหตุมาจาก “อุบัติเหตุ” ดังกล่าวมิได้เป็นผลจากการ
“ใช้ (Use)”
รถบัสคันนั้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แต่ประการใด
เพียงเป็นผลจากการที่มีคนขับ ซึ่งเจ็บป่วยไม่สบายเท่านั้น หรืออาจมาจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้
จึงมิใช่ “อุบัติเหตุ” ตามเจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับนี้
ซึ่งมิได้มีจุดมุ่งหมายให้ครอบคลุมรวมไปถึงการติดเชื้อโรคที่ติดต่อถึงกันได้ด้วย
ฝ่ายผู้เสียหายกับเจ้าของรถบัสในฐานะผู้เอาประกันภัยที่จะต้องรับผิดร่วมกันต่อสู้ว่า
ผู้โดยสารที่เจ็บป่วยคราวนี้ได้เกิดขึ้นขณะอยู่ในรถคันนั้น
และรถคันนั้นก็ได้ถูกใช้ในการขนส่งผู้โดยสารจากต้นทางไปถึงจุดหมายตั้งแต่ต้นจนจบการเดินทาง
คำว่า “การใช้” นั้นมิได้มีความหมายจำกัดเพียงแค่การที่รถชนกัน หรือรถพลิกคว่ำเท่านั้น
แต่มีความหมายกว้างกว่านั้น โดยรวมถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ
ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถด้วย ยกตัวอย่างเช่น
กรณีลืมเด็กไว้ในรถที่ปิดประตูหน้าต่างนานหลายชั่วโมง ทำให้เด็กรายนั้นขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต
ศาลเคยวินิจฉัยว่า เป็นอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถมาแล้ว
ในกรณีนี้ เกิดจากตัวผู้ขับขี่ที่ป่วยเป็นโรคร้าย ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ทางลมหายใจ
รถคันนี้มีโครงสร้างปิด มีระบบแอร์ทำความเย็นและระบบระบายอากาศ แม้จะมีหน้าต่าง
แต่มิได้เปิดออกเพื่อรับลมจากภายนอกเลย การถ่ายเทอากาศจะหมุนเวียนอยู่แต่ภายในเท่านั้น
โดยที่ผู้ขับขี่จะเป็นผู้สามารถควบคุมระบบแอร์ทำความเย็นกับระบบระบายอากาศเพียงผู้เดียว
ดังนั้น อากาศที่อยู่ภายในรถจึงเป็นมวลอากาศเดียวกันที่ใช้สำหรับหายใจของทั้งผู้ขับขี่กับผู้โดยสาร
การติดเชื้อวัณโรคจึงเกิดขึ้นภายในรถ จากการ “ใช้” ระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถ ส่วนที่ผู้โดยสารบางรายไม่ติดเชื้อวัณโรคก็เพราะมีภูมิคุ้มกันนั่นเอง
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องว่า
เป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าของรถบัสในฐานะนายจ้างของผู้ขับขี่รถคันนั้น
มีความผิดฐานละเมิด
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำต้องเข้ามาร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแทน
บริษัทประกันภัยรายนี้จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินของศาลชั้นต้น
โดยโต้แย้งว่า การแพร่กระจายเชื้อโรคเป็นเรื่องระหว่างคนต่อคน
สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ภายในรถ
หรือนอกรถ ตัวรถมิได้ทำให้เกิดการแพร่กระจาย นอกจากนี้
ผู้โดยสารบางรายยังให้การต่อศาลว่า ระหว่างที่รถจอด หรือในบริเวณโรงแรมที่พัก
ผู้ขับขี่ยังไอใส่ตอนอยู่นอกรถอีกด้วย และระหว่างการเปิดประตูรถขึ้นลงนั้น
อากาศจากภายนอกอาจเข้ามาภายในรถก็ได้
ทั้งฝ่ายผู้เสียหายมิได้มีพยานหลักฐานยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาเดินทาง
ผู้ขับขี่มิได้เผลอกดปุ่มเปิดให้อากาศจากภายนอกเข้ามาได้ ฉะนั้น
จึงไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ขับขี่กับรถคันนี้เป็นผู้เผยแพร่กระจายเชื้อโรคโดยตรง
ซึ่งต่างจากคดีเด็กที่เสียชีวิตอยู่ในรถ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ
เพราะเด็กอาจจะไม่เสียชีวิต ถ้าอยู่นอกรถ แต่คดีนี้ การติดเชื้อวัณโรคอาจเกิดขึ้นภายในรถ
หรือภายนอกรถก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น
ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้ศาลชั้นต้นย้อนคดีกลับไปค้นหาพยานหลักฐานให้ชัดแจ้งอีกครั้ง
เมื่อบริษัทประกันภัยรายนี้ฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ศาลฎีกาจึงทำการวินิจฉัยว่า ตราบใดยังไม่มีพยานหลักฐานแสดงอย่างสิ้นสงสัยว่า
ผู้เสียหายได้ติดเชื้อโรคนี้ภายในรถจริง
ศาลฎีกาจำต้องกลับคำตัดสินให้บริษัทประกันภัย
ตลอดจนเจ้าของรถบัสพ้นผิดตามข้อกล่าวหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น