(ตอนที่สอง)
เมื่อบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้เช่ากับบุตรเป็นจำเลย โทษฐานร่วมกันกระทำละเมิดทำให้เกิดไฟไหม้แก่บ้านเช่า
ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี
ฝ่ายจำเลยจึงนำเรื่องสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ฝ่ายจำเลยชนะคดี
ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาลได้พินิจพิเคราะห์จากพยานหลักฐานและข้อความจริงต่าง ๆ แล้ว มองว่า
ผู้เช่านั้นเปรียบเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยร่วม (implied co-insured)
ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคีภัยของผู้ให้เช่าเอง
เพราะทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่าต่างก็มีส่วนได้เสียอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนั้น
กล่าวคือ ผู้ให้เช่ามีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์
ส่วนผู้เช่าก็มีส่วนได้เสียในฐานะผู้ครอบครอง เมื่อผู้ให้เช่าได้จัดทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้น
ได้นำเอาเบี้ยประกันภัยมาคิดคำนวณรวมอยู่ในค่าเช่าบ้านด้วย ส่งผลทำให้ผู้เช่าเป็นผู้มีส่วนชำระค่าเบี้ยประกันภัย
สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยดังกล่าวด้วย ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น
จะระบุเพียงชื่อผู้ให้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงรายเดียวเท่านั้น เพราะผู้เช่าโดยทั่วไปก็คาดหวังว่า
ผู้ให้เช่าคงจัดทำประกันภัยคุ้มครองสถานที่เช่าเองอยู่แล้ว
นอกเสียจากในสัญญาเช่าจะระบุเอาไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยนั้นคุ้มครองแทน
หรือต่างฝ่ายต่างซื้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อนกัน
เทียบเคียงได้กับผู้ให้เช่ากับผู้เช่ารถยนต์ แม้ผู้เช่าจะเป็นคนทำให้รถยนต์เสียหายโดยประมาทเลินเล่อ
บริษัทประกันภัยรถยนต์ของผู้ให้เช่า ภายหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าไปแล้ว
ก็มิได้มาสวมสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าแต่อย่างใด
ทั้งอาจยังก่อให้เกิดคดีฟ้องร้องไล่เบี้ยกันไปมาระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า
ซึ่งต่างฝ่ายอาจเป็นฝ่ายกระทำละเมิดระหว่างกันขึ้นมาได้ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาก็ได้เช่นกัน
ตราบเท่าที่สัญญาเช่าบ้านในคดีนี้ มิได้ข้อกำหนดอย่างชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นดังกล่าว
จึงพิจารณาผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับนี้
ดังนั้น ผู้เช่ามิใช่เป็นบุคคลภายนอก อันจะทำให้บริษัทประกันภัยรายนี้สามารถรับช่วงสิทธมาไล่เบี้ยได้ตามกฎหมายดังกล่าว
(อ้างอิงจากคดี Sutton
v. Jondahl, 532 P.2d 478, 482 (Ct. App. Okla. 1975))
ถึงคดีนี้จะยุติลงเพียงชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ก็ก่อให้เกิดเป็นแนวทางที่ถูกใช้อ้างอิงที่เรียกว่า
“ทฤษฏีซัตตัน (Sutton Rule)” แก่ศาลต่าง ๆ รวมถึงศาลสูง (ที่ขอเรียกว่า “ศาลฎีกา”)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดาอย่างกว้างขวาง
แต่มิใช่ทุกศาลในแต่ละรัฐจะเห็นด้วยกับทฤษฏีนี้ทั้งหมด บางศาลเห็นว่า
ควรใช้กับสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเท่านั้น มิควรนำไปใช้กับสัญญาเช่าเพื่อการพาณิชย์
ซึ่งจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขการเช่าที่ซับซ้อนกว่า บางศาลก็เห็นต่างออกไปว่า การตีความเช่นนี้
น่าจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้เช่าที่มิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างสัญญาเช่านั้นมากไปหรือเปล่า?
เพราะจะทำให้คนกระทำผิดสามารถลอยนวลได้ อันผิดจากเจตนารมณ์ของหลักการรับช่วงสิทธิ บางศาลบอกว่า
คงต้องพิจารณาตามข้อความจริงในแต่ละคดีไป
ตอนต่อไป เราจะข้ามไปพิจารณาผลทางคดีลักษณะนี้ทางฝั่งประเทศอังกฤษกันบ้างนะครับว่า
ศาลท่านมีความเห็นแตกต่างกันบ้างหรือเปล่า? แล้วค่อยสรุปเรื่องราวนี้กันท้ายที่สุดอีกครั้ง
เรียน คุณvivatchai amornkul
ตอบลบหากกรมธรรม์อัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย ระบุสถานที่เอาประกันภัย "ที่อยู่อาศัย"
ผู้เอาประกันภัย ได้ใช้สถานที่เอาประกันภัยภัยเป็นบ้านเช่า ต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้สถานที่เอาประกันภัย เมื่อเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานชี้มูลว่า สาเหตุความเสียหายได้เกิดขึ้นจากการลัดวงจรภายในบ้าน ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์ของตนได้หรือไม่ครับ
ขอบคุณครับ
ขอแสดงความนับถือ
ผมอ่านแล้วเข้าใจว่า ผู้เอาประกันภัยตามคำถามนี้ หมายถึง เจ้าของบ้านเช่า หรือผู้ให้เช่านะครับ ซึ่งได้กำหนดตัวบ้านหลังนั้นเป็นสถานที่เอาประกันภัย เพื่อการอยู่อาศัย และเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นครับ ถึงแม้ตัวผู้เช่าจะเป็นผู้กระทำประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นมาเองก็ตาม
ตอบลบแต่ถ้าตัวผู้เช่าบ้านหลังนั้นจะเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ก็มีส่วนได้เสียตามกฎหมายที่จะทำประกันภัยก็ได้ครับ แต่ควรระบุบ้านเช่าหลังนั้นเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครอง ควบคุม ดูแลของผู้เอาประกันภัยด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน และกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วม หรือผู้รับประโยชน์ก็ได้ หรือมิฉะนั้น ก็ขอแนบเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยผู้มีส่วนได้เสียอื่นไว้ก็ได้เช่นกันครับ
หากจะมีอะไรให้เพิ่มเติมอีก ก็ยินดีนะครับ
ขอบคุณครับ
เรียนคุณ vivatchai amornkul
ลบขอบคุณมากครับที่ให้ความรู้ที่มีประโยชน์ครับ
โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะเขียนผู้รับผลประโยชน์/ผู้เอาประกันภัยเป็นตนเอง/ครอบครัวของตนครับ หรือไม่ก็กู้ธนาคาร ธนาคารก็ใส่ตนเองเป็นผู้รับผลประโยชน์ครับ น้อยรายที่ผมเจอจักระบุผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย หรือผลยังไม่มีประสบการณ์มากพอจึงไม่เจอ ครับ
ขอแสดงความนับถือ
เรียน คุณเฟ
ตอบลบผมเองทำงานประกันภัยมาค่อนชีวิต เพิ่งได้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากการค้นคว้าหาเรื่องมาเขียนบทความหลายเรื่องเหมือนกันครับ
บทความเรื่องที่ ๓๖ ในเดือนมกราคมปีที่ผ่านมา ผมได้ความรู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวอาจมีผู้เอาประกันภัยหลายรายก็ได้ มีโอกาสลองกลับไปอ่านดูครับ แต่อย่างที่ให้แง่คิดไปว่า มีแนวทางอื่น ๆ อีกให้เลือกพิจารณาแทนการระบุชื่อผู้เอาประกันภัยหลายราย แนวทางไหนจะเป็นประโยชน์มากที่สุด ก็ลองพิจารณาดูครับ
ฉะนั้น ถือว่า คุณเฟก็ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ไปพร้อมกับผมเหมือนกันครับ อย่าวิตกไปเลย
ขอบคุณครับ
วิวัฒน์ชัย