(ตอนที่หนึ่ง)
คำว่า “อุบัติเหตุ” นั้น ถ้าพูดลอย ๆ มันดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่าย
ไม่ซับซ้อนอะไร? แต่พอเราลองมานึกยกตัวอย่างกันแล้ว มันดูไม่ง่ายเลยนะครับ ยิ่งเรื่องราวของประกันภัยเป็นเรื่องที่ให้ความคุ้มครองถึงกรณีของอุบัติเหตุเท่านั้น
ถึงแม้จะได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้โดยเฉพาะในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม
ยังจำต้องตีความกันอยู่ดี อันที่จริง ได้หยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาหลายคดีมาให้พิจารณาเป็นแนวทางบ้างแล้ว
แต่ยังมีอีกหลายคดีที่อ่านแล้วน่าสนใจ เอาไว้จะค่อย ๆ นำมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะต่อไป
เหมือนอย่างเรื่องที่ 57 ที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งได้ขอให้ท่านผู้อ่านลองแสดงความคิดเห็นเข้ามา
เอาไว้ผมจะสรุปความเห็นตอนท้ายบทความเรื่องนี้ ก็แล้วกัน เพราะมีประเด็นที่โยงถึงกันอยู่
เรื่องนี้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันถึงความหมายของอุบัติเหตุว่า
เหตุการณ์เช่นนี้เป็นอุบัติเหตุหรือไม่?
วัยรุ่นสองคน ไม่สู้ชอบขี้หน้ากันนัก วันหนึ่งไปพบเจอกันโดยบังเอิญในงานปาร์ตี้ที่คฤหาสน์หรูของเพื่อน
ตามประสาวัยรุ่นเลือดร้อน เมื่อเจอกัน ก็มีการพูดจาโต้ตอบกันไปมา
ฝ่ายหนึ่งตัวเล็กกว่าที่ขอเรียกว่า “นายตัวเล็ก”
พยายามเดินหลบมาที่บริเวณสระว่ายน้ำ อีกฝ่ายที่ตัวใหญ่กว่าที่ขอเรียกว่า “นายตัวใหญ่”
ไม่ยอมลดละตามมาจะเอาเรื่องให้ได้ แม้เพื่อน ๆ จะคอยห้ามปรามก็ตาม สุดท้าย นายตัวใหญ่ก็คว้าจับตัวนายตัวเล็กยกขึ้น
โดยตั้งใจเพื่อจะโยนลงสระว่ายน้ำ แต่พลาด ร่างของนายตัวเล็กกลับลงไปนอนกองที่พื้นคอนกรีตริมสระแทน
ผลคือนายตัวเล็กได้รับบาดเจ็บถึงขนาดกระดูกไหปลาร้าหัก ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสี่วัน
นายตัวเล็กจึงฟ้องเรียกร้องให้นายตัวใหญ่
และบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดส่วนบุคคล (Personal
Liability Insurance Policy) ของนายตัวใหญ่รับผิดร่วมกัน
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
บริษัทประกันภัยนั้นปฏิเสธ โดยอ้างเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า
“คุ้มครองความเสียหายต่าง ๆ สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก .... อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
(Occurrence)” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) มีคำนิยามว่า “หมายความถึงอุบัติเหตุ
ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก”
ประกอบกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ไม่คุ้มครองถึง “ความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก
... (1) ซึ่งผู้เอาประกันภัยเจตนา
หรือมุ่งหวังได้ หรือ (2) ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำโดยจงใจ
หรือด้วยเจตนาร้ายของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง” ดังนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ของนายตัวใหญ่ผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่อุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
และยังตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยนี้อีกด้วย
ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทหลักของคดีนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุบัติเหตุ
อันกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะต้องให้ความคุ้มครองหรือไม่?
ก่อนรับฟังผลคำพิพากษาคดีนี้ในสัปดาห์หน้า คุณคิดเห็นว่า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดบ้างไหมครับ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น