วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 58: ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Air Turbulence) สายการบินต้องรับผิดหรือไม่?



วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1990 ผู้โดยสารสายการบินแห่งหนึ่งเป็นสุภาพสตรีชาวคานาดา อายุ 72 ปี ซึ่งเคยมีประวัติการรักษาโรคกระดูกพรุน (osteoposis) มาก่อน ได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (air turbulence) ระหว่างเส้นทางการบินจากเมืองโตรอนโต ประเทศคานาดา ไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงขนาดทำให้ข้อกระดูกสันหลังสามข้อยุบตัว (compression fracture of three vertebrae) อันเป็นผลมาจากการแรงกระแทกอย่างรุนแรง

เธอจึงฟ้องเรียกร้องให้สายการบินรับผิด แต่สายการบินโต้แย้งว่า เหตุการณ์การตกหลุมอากาศครั้งนี้มิได้อยู่ในความหมายของ “อุบัติเหตุ” ซึ่งสายการบินจะต้องรับผิดตามอนุสัญญาวอร์ซอ ค.ศ. 1929 (Warsaw Convention) ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่โดยอนุสัญญามอนทรีออล ค.ศ. 1996 (Montreal Convention 1966) ว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ยึดถือเป็นมาตรฐานเดียวกันแก่ทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก หรือมิฉะนั้น อาการบาดเจ็บของโจทก์ผู้เสียหายได้เกิดขึ้นภายหลังลงจากเครื่องบินลำนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ศาลได้ทำการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นโดยสรุปได้ดังนี้

จากประวัติส่วนตัวของโจทก์ผู้เสียหาย ซึ่งได้เกษียณอายุแล้ว และตกพุ่มม่าย แม้ในวัยเด็กของเธอเคยมีประวัติเป็นโรคหืดหอบ (asthma) ทำให้จำต้องทานยาต้านทานภูมิแพ้จำพวกคอร์ติโซน (cortisone) เรื่อยมา ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงโรคกระดูกพรุน แต่เธอก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทำงานบ้าน ขับรถเอง เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศประจำทุกปี แบกกระเป๋าเดินทางเอง โดยเฉพาะก่อนขึ้นเครื่องบินลำนี้ เธอก็สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองตามปกติ

พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอที่ร่วมเดินทางไปด้วยให้การว่า ระหว่างการบิน รู้สึกค่อนข้างโคลงบ้างเป็นระยะ ในช่วงเวลาบินสามชั่วโมง จนกระทั่งกัปตันประกาศให้นั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ที่พยานรู้สึกว่า เป็นประสพการณ์ที่รุนแรงในชีวิตที่เพิ่งเจอการตกหลุมอากาศขนาดนี้ ทำให้เสมือนหนึ่งเครื่องบินดิ่งลงมา เสียการทรงตัว เสมือนจะลงกระแทกกับพื้นดิน และผู้โดยสารต่างหวีดร้องตะโกนกันดังไปหมด รถเข็นอาหารพลิกคว่ำตะแคงลงมา หลายคนตัวสั่นเสียขวัญกัน และรู้สึกโล่งอกทันที่เหตุการณ์สงบลง

ครั้นเมื่อเครื่องบินถึงจุดหมายปลายทาง พยานต้องประคองโจทก์ ซึ่งตัวยังคงสั่นเทาไปหมดลงจากเครื่องบิน โดยโจทก์ไม่อยู่ในสภาพที่จะไปเอากระเป๋าเดินทางด้วยตนเองได้ เมื่อขึ้นรถโดยสารรับส่ง (shuttle bus) โจทก์ไม่สามารถนั่งลงได้ เนื่องด้วยรู้สึกตัวแข็งเกร็งเจ็บปวดมาก แต่พยายามฝืนไปพักรักษาอาการที่บ้านเพื่อนก่อน ก็ยังไม่ดีขึ้น จำต้องไปโรงพยาบาลในที่สุด ซึ่งหมอกลับมิได้ตรวจดูรายละเอียดมากนัก เพียงให้ทานยาแก้ปวด และให้กลับบ้าน

ต่อมา โจทก์ได้บินกลับประเทศของตนตามกำหนด และได้ไปแพทย์ประจำตัว จึงตรวจพบข้อกระดูกสันหลังสามข้อยุบตัว (compression fracture of three vertebrae) อันเป็นผลมาจากการแรงกระแทกอย่างรุนแรงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่า คำให้การของพยานนี้ยังไม่ใคร่ชัดเจนนัก เพราะเมื่อพยานนี้ถูกซักค้าน เรื่องสายรัดเข็มขัดตึงหรือไม่ระหว่างที่ตกหลุมอากาศ กลับตอบว่า ไม่รู้สึกเช่นนั้น ประกอบกับพยานผู้โดยสารรายอื่น ให้การขัดกันว่า การตกหลุมอากาศมิได้รู้สึกรุนแรงถึงขนาดเสมือนหนึ่งจะทำให้เครื่องบินตกดังอ้างถึงเลย

ครั้นพิจารณาจากพยานที่เป็นฝ่ายสายการบิน กัปตันให้การว่า ปกติเส้นทางการบินนี้ มักจะเกิดตกหลุมอากาศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้ว การตกหลุมอากาศสามารถจัดแบ่งความรุนแรงออกได้เป็นสี่ระดับ ดังนี้  (สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมมาจาก http://www.aeromet.tmd.go.th/met/story/show_61.htm สำนักอุตุนิยมวิทยาการบิน)

ความรุนแรง
ลักษณะที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน
เล็กน้อย (light)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด สิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินยังคงอยู่นิ่งกับที่
ปานกลาง (moderate)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้ขณะที่รัดเข็มขัดอยู่ สิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินเคลื่อนที่ได้
รุนแรง (severe)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้นักบินไม่สามารถความคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้น-ลง อย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัดและสิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินถูกโยน ลอยขึ้นในอากาศได้
รุนแรงมากที่สุด (extreme)
สภาพความปั่นป่วนในลักษณะนี้พบน้อยมาก เครื่องบินถูกโยนขึ้น-ลงอย่างรุนแรงมาก และนักบินไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาจก่อความเสียหายให้แก่เครื่องบินได้

ซึ่งระดับความรุนแรงปานกลางนั้น ผู้โดยสารควรรู้สึกความตึงของสายรัดเข็มขัดได้บ้าง และการเสริฟ์อาหารของว่างต่าง ๆ ยังคงทำได้ แต่ด้วยความยากลำบาก

ทั้งกัปตัน และลูกเรือมิได้จำต้องจัดทำรายการเหตุการณ์การบินคราวนั้นแต่ประการใด เนื่องจากมิได้มีเหตุการณ์รุนแรงดังที่กล่าวอ้างเกิดขึ้น และตามหลักเกณฑ์คู่มือปฏิบัติแล้ว จะต้องทำรายงานต่อเมื่อเกิดความรุนแรงตั้งแต่ระดับรุนแรงขึ้นไปเท่านั้น

นอกจากนี้ เครื่องบินลำนี้ยังมีกำหนดบินกลับจุดเริ่มต้นภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หากเกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศระดับรุนแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างจริง คงไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นบินได้ตามกำหนด เพราะคงต้องถูกตรวจสอบสมรรถภาพ ความปลอดภัยของเครื่องบินกันอย่างยกใหญ่แล้ว

การเกิดการตกหลุมอากาศระหว่างการบินนั้น ถือเป็นสิ่งปกติ และสิ่งที่คาดหวังได้ ซึ่งผู้เดินทางทางเครื่องบินอาจประสบพบเจอได้ทั่วไป เว้นแต่ถ้าระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงขึ้นไป ถึงจะถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และไม่อาจคาดหวังได้ อันจะทำให้อยู่ในความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” ในอนุสัญญาวอร์ซอที่สายการบินจำต้องรับผิด ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงยังไม่เชื่อว่า ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นมาจริง สายการบินจึงพ้นผิดในคดีนี้ (อ้างอิงมาจากคดี Quinn v. Canadian Airlines International, 1994 CanLII 7262 (1994-05-30))

กรณีนี้คงเปรียบเทียบได้อีกอย่างหนึ่งเสมือนเรานั่งรถไปตามถนนที่มีสภาพขรุขระ คนนั่งอาจรู้สึกกระเด็น กระดอน กระเทือนบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ แต่ถ้าตกหลุมขนาดใหญ่ คงต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามอนทรีออล ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แล้ว แม้วงเงินความคุ้มครองตามที่อนุสัญญานี้จะได้ถูกกำหนดชัดเจนแน่นอนไว้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกชาติสมาชิกแล้วก็ตาม แต่ถ้าใครยังไม่เห็นความจำเป็นของการประกันภัยเดินทางไปต่างประเทศ อาจต้องทบทวนความคิดใหม่บ้างนะครับ

สัปดาห์หน้า เราจะมาพิจารณาความเห็นจากผู้เข้าร่วมสนุกของเรื่องที่ 57 กันนะครับ พร้อมประกาศผู้ได้รับรางวัล ดังนั้น ขอเชิญชวนเข้ามาร่วมสนุกกันครับ อาจส่งมาทางอีเมลนี้ก็ได้ครับ vivatchai.amornkul@gmail.com ขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ครับ และขอให้มีความสุขกันทุกท่านนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น