คราวที่แล้ว
พูดถึงเรื่องเมื่อ Google Maps ทำพิษ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้ข้อมูลนั้น
ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นแก่เครื่องบิน
เนื่องจากแผนที่ที่ใช้ในการบิน หรือแผนภูมิสำหรับการปฏิบัติการบิน (Aeronautical
Charts) บ้าง ซึ่งเป็นแผนที่แสดงเส้นทางอากาศ
เพื่อให้ทราบตำแหน่ง และทิศทางของเครื่องบิน
แม้ทั้งเรื่องที่ 55 กับ 56 จะมีความเกี่ยวพันกัน แต่มิได้จัดแบ่งออกเป็นตอน ๆ
เพราะเห็นว่า มีความแตกต่างกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตอนท้ายเรื่องนี้จะสรุปผลคำวินิจฉัยของศาลทั้งสองคดี
ในแง่ของความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์นะครับ
อันที่จริง
การเดินทางเครื่องบินนั้น ได้มีการอาศัยเทคโนโลยี่จำพวกนี้เข้ามาช่วยนานหลายปีแล้ว
เพราะนักบินขณะอยู่บนอากาศ คงไม่สามารถอาศัยการสังเกตทางธรรมชาติได้สะดวกเหมือนอย่างอยู่บนภาคพื้นดิน
ดังที่เคยเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์ ราวกลางปีนี้ว่า นักบินของสายการบินระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง
ถึงขนาดจำต้องบินวนกลับไปสนามบินต้นทาง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
เนื่องจากลืมเอาแผนที่การบินติดตัวมาด้วย นั่นคงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแผนที่การบินได้นะครับ
ย้อนหลังไปเมื่อคืนวันที่
15
พฤศจิกายน ค.ศ. 1964 สายการบินภายในประเทศสหรัฐอเมริการายหนึ่ง
ซึ่งบินมาจากเมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซนา เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่เมืองลาสเวกัส
รัฐเนวาดา ได้เกิดตก ขณะกำลังร่อนลง ณ จุดหมายแห่งนั้น ส่งผลทำให้นักบิน ลูกเรือ
และผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด
หลังจากที่บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องบินลำนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
และทายาททั้งหมดแล้ว บริษัทประกันภัยรายนั้น พร้อมด้วยผู้เสียหาย
และทายาทบางรายร่วมกันทำการฟ้องเรียกร้องให้ผู้ผลิตแผนที่ที่ใช้ในการบินลำที่เกิดเหตุมาร่วมรับผิดด้วย
เนื่องจากมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า
สาเหตุหลักของเครื่องบินตกน่าจะมาจากความบกพร่องของแผนภูมิวิธีการบินเข้าสู่เขตประชิดสนามบิน
(Instrument
Approach Chart) นั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนภูมิปฏิบัติการบินมากกว่า
หรือไม่ก็เป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ส่งผลทำให้เครื่องบินลำนี้ตก
ผลจากการสืบพยานหลักฐานต่าง
ๆ ศาลได้วินิจฉัยว่า
แม้ถ้อยคำกับตัวเลขของข้อมูลตามที่ปรากฏอยู่ในแผนภูมินั้นจะถูกรับรองความถูกต้องแล้วก็ตาม
แต่ภาพกราฟิกที่ผู้ผลิตได้จัดทำเสริมขึ้นมาเองนั้น ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์ (product)” ซึ่งผู้ผลิตละเลยในการตรวจสอบ และมิได้แจ้งเตือนให้นักบิน หรือสายการบินได้รับทราบ
จนนักบินได้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นในการเข้าสู่เขตประชิดเพื่อแล่นลง
อันเป็นสาเหตุใกล้ชิดของเหตุเศร้าสลดครั้งนี้
โดยมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนักบินแต่ประการใด ดังนั้น
อุบัติเหตุครั้งนี้จึงถือเป็นความประมาทเลินเล่อร่วมกันของสายการบินในสัดส่วนร้อยละ
20
กับผู้ผลิตด้วยสัดส่วนร้อยละ 80
ตามหลักกฎหมายความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้น
ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้ (tangible
property) เช่น สิ่งปลูกสร้าง ขวดน้ำ รถยนต์ สมุดหนังสือ
เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพราะหากนับรวมเอาวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง
หรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible property) เช่น
ข้อมูลที่อยู่ในสมุดหนังสือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เนื้อหาในภาพยนต์ หรือเกม เป็นต้น
เข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยแล้ว คงจะเกิดความวุ่นวายเป็นคดีฟ้องร้องกันขึ้นมามากมาย
และอาจทำให้ผู้คนไม่กล้าพูด กล้าเขียน กล้าคิดอะไรออกมาเลย
แม้ศาลในคดีเครื่องบินตกนี้จะตัดสินให้ภาพกราฟิกเป็นผลิตภัณฑ์
ซึ่งผู้ผลิตจำต้องรับผิดชอบสำหรับความบกพร่องที่เกิดขึ้น
หรือการละเลยมิให้คำเตือนถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่ศาลส่วนใหญ่ยังไม่ใคร่เห็นคล้อยตามสักเท่าไหร่
เพราะการมีเส้นคั่นแบ่งบาง ๆ ระหว่างภาพกราฟิกกับข้อมูล ยกตัวอย่างหนังสือ
หรือแผนที่ซึ่งเป็นกระดาษนั้น เราสามารถจับต้องได้ แต่ข้อมูล
หรือเนื้อหาที่บรรจุอยู่ภายใน เรามิอาจสัมผัสจับต้องได้
อย่างไรก็ดี
มีหลายคดีที่ถูกตัดสินตามแนวทางของคดีนี้ เอาไว้จะนำมาเล่าให้ฟังภายหลัง
ฉะนั้น ในเรื่องที่ 55 ของ Google Maps ศาลในคดีนั้นมิได้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์แต่ประการใด
ส่วนตัวเครื่อง GPS นั้นเป็นผลิตภัณฑ์
แต่ก็มิได้มีความบกพร่องในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้น
ศาลจึงตัดสินยกฟ้องไปดังกล่าว (อ้างอิงคดี Rosenberg v. Harwood, No. 100916536 (Utah District
Court; May 27, 2011))
ส่วนเรื่องที่ 56
ของแผนภูมิสำหรับการปฏิบัติการบินนี้
ศาลกลับเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ดังที่หยิบยกมากล่าวข้างต้น
จึงตัดสินให้ผู้ผลิตจำต้องรับผิด (อ้างอิงคดี Aetna
Casualty and Surety Co.
v. Jeppesen & Co.,
642 F.2d. 339 (9th Cir. 1981))
สำหรับกฎหมายไทยได้มีบัญญัติเอาไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
พ.ศ. 2551 ซึ่งในมาตรา 4 ได้ให้คำนิยามคำว่า
“สินค้า” หมายความว่า
“สังหาริมทรัพย์ทุกชนิดที่ผลิต หรือนำเข้าเพื่อขาย
รวมทั้งผลิตผลเกษตรกรรม และให้หมายความรวมถึงกระแสไฟฟ้า
ยกเว้นสินค้าตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” และ
“สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หมายความว่า “สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา
คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า
หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า
รวมทั้งลักษณะการใช้งานและการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้”
โดยจำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง
หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้ (tangible property) เช่นเดียวกับต่างประเทศเหมือนกัน
ช่วงปลายนี้
มีวันหยุดเยอะ หลายท่านถือโอกาสลาพักผ่อนไปเที่ยวในประเทศบ้าง ต่างประเทศบ้าง เคยสงสัยไหมครับ
ทำไมจึงต้องทำประกันภัยการเดินทาง (Travel Accident Insurance)
ด้วย? ในเมื่อเดี๋ยวนี้
รถยนต์โดยสาร เรือท่องเที่ยว หรือกระทั่งสายการบินเอง ก็จัดทำประกันภัยให้อยู่แล้ว
ยิ่งสายการบินระหว่างประเทศ ยิ่งให้ความคุ้มครองแก่อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยวงเงินความคุ้มครองที่สูง
ไยต้องมาเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเดินทางให้ซ้ำซ้อนอีกทำไม?
เราจะคุยประเด็นนี้ในสัปดาห์หน้าครับ
เพื่อหาความกระจ่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น