วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 57: ผู้โดยสารเครื่องบินลื่นหกล้มระหว่างเดินไปยังที่นั่งของตน ถือเป็นอุบัติเหตุที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบหรือไม่?



(ตอนที่สอง)

ในการพิจารณาคดี ณ ประเทศอังกฤษนั้น ศาลได้พิจารณาโดยยึดถือตามอนุสัญญามอนทรีออล ค.ศ. 1999 (Montreal Convention 1999) เป็นสำคัญ ซึ่งได้ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้สายการบินนานาชาติที่เป็นภาคีอนุสัญญานี้ ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในเรื่องความรับผิดว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสาร หรือการขนส่งสิ่งของระหว่างประเทศ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นจุดเริ่มต้นการขนส่ง และประเทศอังกฤษที่เป็นจุดหมายปลายทางล้วนอยู่ในภาคีอนุสัญญานี้

มาตรา 17.1 ของอนุสัญญานี้บัญญัติโดยสามารถถอดข้อความเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต หรือความบาดเจ็บทางร่างกายของผู้โดยสาร โดยมีเงื่อนไขเพียงเฉพาะว่า อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต หรือความบาดเจ็บทางร่างกายนั้น ได้เกิดขึ้นบนเครื่องบิน หรือในระหว่างการดำเนินการใด ๆ ในการขึ้น หรือการลงจากเครื่องบิน

ฉะนั้น ประเด็นในการพิจารณาคดีนี้ประกอบด้วย
1) ความบาดเจ็บทางร่างกาย
2) อันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ
3) บนเครื่องบิน

ประเด็นที่สำคัญ และโต้แย้งกันอยู่ คือ ข้อ 2) คำว่า “อุบัติเหตุ” ซึ่งโจทก์ผู้เสียหายอ้างว่า ตนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่จำเลยสายการบินแย้งว่า อุบัติเหตุที่สายการบินจำต้องรับผิดนั้นจะต้องเกิดจากปัจจัยภายนอกบางอย่างซึ่งผิดปกติ หรือมิได้คาดหวังมาก่อนจนส่งผลทำให้ผู้เสียหายต้องลื่นล้ม แต่ขณะที่การจัดผังที่นั่ง ช่องว่างระหว่างที่นั่ง ตัววัสดุที่นั่งเอง ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ และพื้นล้วนเป็นไปตามมาตรฐานของสายการบิน มิได้มีสิ่งใดบกพร่อง หรือผิดปกติแม้แต่น้อย ดังนั้น การเพียงลื่นล้มขึ้นมาเอง (mere fall) ทำไมสายการบินจะต้องรับผิดด้วยเล่า?

ศาลได้วิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกับแนวทางคำพิพากษาอื่น ๆ เรื่องอุบัติเหตุที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากอนุสัญญานี้มิได้มีคำนิยาม “อุบัติเหตุ” ไว้เป็นการเฉพาะ โดยศาลเห็นว่า อุบัติเหตุน่าจะมีความหมายถึงเหตุการณ์ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก เป็นต้นว่า ลื่นราวโลหะ (metal strip) ที่วางยึดติดกับพื้น ลื่นราวพักแขนระหว่างหย่อนตัวลงนั่ง หรือกระทั่งสะดุดพรม ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่ผู้เสียหายสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้เลย นอกจากคำให้การว่า ได้ลื่นไถลล้มลงจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว แม้จะตั้งสมมุติฐานว่า มีการลื่นราวโลหะที่ยึดกับพื้น หรือการลื่นไถลราวพักแขนดังกล่าวอันอาจถือเป็นเหตุการณ์ภายนอกก็ตาม แต่ก็จำต้องประกอบด้วยสาเหตุที่ผิดปกติ หรือที่มิได้คาดคิดด้วย เช่น มีน้ำหกลงไปจนทำให้ราวโลหะ หรือราวพักแขนลื่นกว่าที่ควรจะคาดคิดได้ เป็นต้น มิใช่เพียงแค่การเดิน แล้วเสียหลักลื่นขึ้นมาเฉย ๆ หรือการหย่อนตัวลงไปเพื่อจะนั่งโดยมิได้มอง แล้วทำให้ลื่นไถลราวพักแขนเท่านั้นเอง

ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งว่า มิได้เกิดจากความรับผิดของสายการบินเป็นผู้กระทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมานั้น แม้แนวทางคำพิพากษาคดีอื่น ๆ ศาลอาจมีมุมมองเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายแรกเห็นว่าจะต้องเกิดจากการกระทำผิดของสายการบินด้วย เช่น เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานสายการบินเอง หรือวัสดุที่สายการบินใช้มีความบกพร่อง เป็นต้น ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของมาตรา 17.1 ของอนุสัญญาดังกล่าว ไม่ปรากฏถ้อยคำใดเลยที่ระบุอย่างชัดแจ้งว่า จะต้องเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของสายการบินด้วย เพียงระบุกว้าง ๆ ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งศาลในคดีนี้มีความเห็นคล้อยตามฝ่ายหลัง

ศาลจึงวินิจฉัยว่า สายการบินไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้ ด้วยมิใช่อุบัติเหตุในความหมายตามมาตรา 17.1 ดังกล่าว และเมื่อผู้เสียหายอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ คดีนี้จึงสิ้นสุด (อ้างอิงจากคดี Barclay v British Airways Plc [2008] EWCA Civ 1419)

ปัจจุบัน ประเทศไทยเพิ่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้ ตามข่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง หากเกิดเหตุการณ์ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลไทย ศาลไทยคงต้องพิจารณาตามอนุสัญญานี้เป็นเกณฑ์เช่นกัน โดยจะมีการกำหนดวงเงินชดเชยอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกชาติที่เป็นภาคีสมาชิก ส่วนศาลไทยท่านจะมีความเห็นเหมือน หรือแตกต่างจากแนวคำพิพากษาต่างประเทศหรือไม่? คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

แล้วคุณคิดว่า สมมุติเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทย ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า “อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง” เหตุการณ์ดังคดีนั้นจะเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่? และผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ครับ?

หากท่านใดให้ความเห็นด้วยเหตุและผลเป็นที่ถูกใจ จะมีรางวัลเล็กน้อยตอบแทนให้หนึ่งรางวัลครับ โดยจะปิดรับคำตอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นี้ สนใจเชิญร่วมสนุกกันนะครับ

เรื่องต่อไป ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Air Turbulence) สายการบินต้องรับผิดหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น