วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 59: ตั้งใจจับเพื่อนโยนลงสระว่ายน้ำ แต่พลาดลงพื้นแทน ถือเป็นอุบัติเหตุตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคล (Personal Liability Insurance Policy) หรือไม่?



(ตอนที่สอง)

คดีนี้ในศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์นายตัวเล็ก ซึ่งฟ้องนายตัวใหญ่จำเลยโทษฐานกระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่อจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ระบุว่า ถ้าตนตั้งใจจะทำร้ายโจทก์จริงแล้ว ตนก็แค่ทุบ ตบ ตี ต่อย เตะไปเลยจะไม่ง่ายกว่าเหรอ แต่นี่ตนมิได้เจตนาเช่นนั้น เพียงแค่ตั้งใจจะจับโจทก์โยนลงสระว่ายน้ำ เพื่อแกล้งให้ได้รับความอับอายมากกว่า บังเอิญอาจจะกะระยะพลาดไปหน่อย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของความประมาทเลินเล่อ โดยมิได้เจตนาจะทำร้าย หรือคาดหวังให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บเช่นนั้นเลย 

ศาลชั้นต้นรับฟังและเชื่อว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจะทำร้าย หรือมุ่งหวังให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวจริง เพียงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ถือเป็นอุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยร่วมจะต้องรับผิดในนามของนายตัวใหญ่จำเลยนั่นเอง

บริษัทประกันภัยอุทธรณ์ โดยโต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยนั้นเป็นการจงใจ อันเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคล

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า เนื่องด้วยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว มิได้กำหนดคำนิยาม “อุบัติเหตุ” เอาไว้ จำต้องอาศัยการตีความถ้อยคำตามความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์ ถ้าถ้อยคำยังมีข้อสงสัย และไม่ชัดเจน ให้ยกประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำนั้น

เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัย ซึ่งกล่าวอ้างว่า การกระทำด้วยความตั้งใจ หรือโดยเจตนา ไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ” ตามจุดประสงค์ของหลักการประกันภัยกับหลักกฎหมายอยู่แล้ว ประกอบกับพจนานุกรมเอง ก็ให้ความหมายเอาไว้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “อุบัติเหตุ” หมายถึง เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิด ความบังเอิญเป็น) เมื่อนำคำว่า อุบัติเหตุมาอ้างถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บแล้ว ต้องหมายความถึงผู้เอาประกันภัยจะต้องมิได้เจตนาที่จะทำให้เกิดความบาดเจ็บตามมาด้วย โดยไม่คำนึงว่า ผู้เอาประกันภัยตั้งใจจะให้เกิดความบาดเจ็บตามมาหรือเปล่า ดังนั้น เมื่อนายตัวใหญ่จำเลยตั้งใจจับโจทก์โยนลงไปในสระแล้ว จึงมิใช่อุบัติเหตุแต่ประการใด โดยไม่จำต้องใส่ใจว่า จะตั้งใจที่จะก่อให้เกิดผลความบาดเจ็บด้วยหรือเปล่า   

แต่ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า แนวทางการตีความของศาล สำหรับความหมายของ อุบัติเหตุ ก็ยังไม่มีข้อยุติเป็นแนวทางเดียวกัน บางศาลตีความว่า อุบัติเหตุ” ยังหมายความถึง ผลที่มิได้ตั้งใจ หรือที่มิได้คาดหวังจากการกระทำโดยจงใจ หรือโดยมุ่งหวังนั้นด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่าง ถ้าผู้รับเหมาตั้งใจตอกเสาเข็ม แล้วส่งผลไปทำให้บ้านที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหาย หรือคนร้ายตั้งใจจะทำร้ายร่างกายผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือขับรถเร็วเกินกำหนด จนส่งผลทำให้ชนบุคคลอื่น หรือในการตีกอล์ฟ ผู้เล่นกอล์ฟต้องตั้งใจจะตีลูกอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกกอล์ฟเกิดออกนอกทิศทางไปทำความเสียหายให้แก่บุคคลอื่น แล้วทั้งหมดนี้ ล้วนสรุปไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ” ในอันที่จะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ สามารถให้ความคุ้มครองได้ คงไม่น่าจะตีความเช่นนั้นได้

สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถึงแม้นายตัวใหญ่จำเลยตั้งใจจับตัวโจทก์ขึ้นมา และทุ่มโยนไปทางสระว่ายน้ำ แต่เชื่อว่า ก็คงมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังให้โจทก์ต้องตกลงไปยังพื้นคอนกรีตจริง น่าเชื่อว่า นายตัวใหญ่จำเลยคงกะระยะพลาด หรือคำนวณแรงเหวี่ยงผิดไป ดังนั้น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันก่อให้เกิดผลโดยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังดังกล่าวขึ้นมา จึงถือเป็น “อุบัติเหตุ” ซึ่งบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ (อ้างอิง State Farm Fire & Casualty Co. v. Superior Court, 164 Cal. App. 4th 317 (Cal. Ct. App. 2008))

สรุปความเห็นเพิ่มเติมปิดท้ายเรื่องนี้นะครับว่า ดังที่เคยกล่าวในบทความความหมายของ “อุบัติเหตุ” ในหลายเรื่องที่ผ่านมา หากมิได้มีคำนิยามเฉพาะเอาไว้ จำต้องตีความตามความหมาย และความเข้าใจของคนทั่วไป หรือบางครั้ง อาจมีคำนิยาม แต่ไม่ชัดเจน ก็คงตีความเช่นเดียวกัน โดยทั่วไป แนวทางการตีความของศาลต่างประเทศจะมีอยู่สามทฤษฏี ขอกล่าวย้ำอีกที คือ ทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เช่น คดีมีเพศสัมพันธ์จนติดโรคร้าย หรือทฤษฏีของผล (Effect Theory) เช่น คดีถูกยุงกัดจนได้รับเชื้อโรคร้าย หรือทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) เช่น คดีกระบะรถดัมพ์เกี่ยวสะพานตกลงมาทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่อง การจะใช้ทฤษฏีใด คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านล่ะครับ

บางคราว ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอาจเขียนค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ดังเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคลฉบับนี้ที่ระบุว่า “คุ้มครองความเสียหายต่าง ๆ สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก .... อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) มีคำนิยามว่า หมายความถึงอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก” ประกอบกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ไม่คุ้มครองถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก ... (1) ซึ่งผู้เอาประกันภัยเจตนา หรือมุ่งหวังได้ หรือ (2) ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำโดยจงใจ หรือด้วยเจตนาร้ายของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง 

เมื่อสังเกตคำที่ขีดเส้นใต้เอาไว้ “ผล” น่าจะมุ่งเน้นไปที่ผลที่เป็นอุบัติเหตุมากกว่าที่มุ่งเน้นไปที่สาเหตุหรือเหตุที่เป็นอุบัติเหตุ ส่วนผลคำที่สองนั้น หากกระทำโดยจงใจที่จะทำร้าย จะตกอยู่ในข้อยกเว้น แต่สำหรับคดีนี้ ศาลเชื่อว่า จำเลยมิได้จงใจที่จะทำร้าย ผลที่ได้รับบาดเจ็บ จึงมิได้เกิดขึ้นจากเจตนา แต่เป็นประมาทเลินเล่อต่างหาก

อนึ่ง แนวทางคำวินิจฉัยของศาล โดยเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายในคดีละเมิด ซึ่งผู้กระทำผิดอาจกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย แม้อาจเกิดจากความตั้งใจ แต่ถ้าเกิดพิจารณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายจะไม่คุ้มครองให้ เพียงจะให้ความคุ้มครองเฉพาะการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างเดียวเท่านั้น น่าจะตีความเช่นนั้นมิได้ทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยที่กระทำผิดไป แทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองดังกล่าวเท่าที่คาดหวังเลย คงต้องพิจารณาถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป เอาไว้จะนำเรื่องอื่นลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไปเปรียบเทียบให้เห็นอีกทีนะครับ

ขอย้อนกลับไปเรื่องที่ 57 ที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลในคดีนั้นวินิจฉัยว่า ผู้โดยสารเครื่องบินลื่นหกล้มระหว่างเดินไปยังที่นั่งของตน ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบ เพราะศาลตีความมุ่งเน้นไปที่สาเหตุที่เกิดเป็นสำคัญ อันเป็นการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เป็นเกณฑ์นั่นเอง

ส่วนคำถามแล้วคุณคิดว่า สมมุติเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทย ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง” เหตุการณ์ดังคดีนั้นจะเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่? และผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ครับ?

คุณพอสังเกตเห็นได้นะครับว่า คำนิยามนี้ให้แนวทางเอาไว้แล้วตรงที่ขีดเส้นใต้ อันเป็นการมุ่งเน้นถึงผลที่เกิดขึ้นมากกว่าจะมองที่สาเหตุเป็นหลัก เช่นนั้น จึงพิจารณาได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารเครื่องบินรายนี้ถือเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทยดังกล่าวครับ

ท่านใดที่แสดงความคิดเห็นมา ก็ขอบคุณมากครับ ถูก หรือผิด อย่าไปซีเรียส ถือว่า เรามาค่อย ๆ เรียนรู้พร้อมกันครับ

เรื่องต่อไป ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?

ลองเดาดูล่วงหน้าได้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น