(ตอนที่สาม)
แม้ขึ้นหัวเรื่องใหม่
แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยที่ไปไล่เบี้ยกับผู้เช่าอาคาร
ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดไฟไหม้
คดีนี้เกิดขึ้นทางฝั่งประเทศอังกฤษ
เจ้าของอาคารหลังหนึ่งได้แบ่งพื้นที่ของอาคารทั้งหลังให้เช่าแก่ผู้เช่าสามราย
ผู้เช่ารายหนึ่งได้เช่าชั้นใต้ดินทำเป็นร้านอาหาร อยู่มาวันหนึ่ง
ได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่ส่วนจัดเก็บสต็อกวัสดุไวไฟของร้านอาหารนั้น
และลุกลามอย่างรุนแรงจนทำให้อาคารทั้งหลังนั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง
โชคดีที่เจ้าของอาคารนั้นได้จัดทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยไฟไหม้ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
โดยระบุเพียงชื่อเจ้าของอาคารนั้นเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงรายเดียว
เมื่อบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารนั้นไปแล้ว ก็สวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยของตน
มาไล่เบี้ยเอากับผู้เช่ารายที่เป็นต้นเพลิงตามกฎหมาย ผู้ซึ่งมีประกันภัยเพียงกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น
แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้เช่ารายนั้น บริษัทประกันภัยดังกล่าวจึงนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาล
ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายจำเลยผู้เช่าชนะคดี
ฝ่ายโจทก์บริษัทประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า
ข้อสัญญาเช่าได้กำหนดให้ผู้เช่าต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยของตัวอาคารนั้นตามส่วนของพื้นที่ที่ตนเช่าอยู่
เผื่อเวลาเมื่อเกิดความเสียหายอย่างเช่นไฟไหม้ขึ้น
เจ้าของอาคารนั้นจะได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัย เพื่อไปจัดทำให้อาคารนั้นกลับคืนสู่สภาพดังเดิมได้
แม้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินดังกล่าวจะระบุเพียงเจ้าของอาคารนั้นเป็นผู้เอาประกันภัยไว้เท่านั้น
ก็มิได้หมายความว่า จำเลยผู้เช่ารายนี้ถือเป็นบุคคลภายนอก
ไม่อาจใช้ประโยชน์ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวได้เลย
เนื่องจากจำเลยเองก็มีส่วนในค่าเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นด้วยเช่นกัน
แม้จะเพียงตามส่วนก็ตาม ข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์เรื่องส่วนได้เสียของจำเลยที่จำกัดอยู่เพียงตามส่วนของพื้นที่เช่า
มิใช่ทั้งตัวอาคารนั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย เพราะหากเกิดไฟไหม้ตรงจุดอื่น
ก็อาจส่งผลกระทบต่อจำเลยผู้เช่านี้ได้เช่นกัน ประกอบกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากภัยที่กำหนดคุ้มครองเอาไว้
ในกรณีนี้ คือ ไฟไหม้ จึงไม่คำนึงว่า ไฟไหม้นั้นจะเกิดด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยผู้เช่านี้หรือไม่
ก็ล้วนจะได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น ดังนั้น
โจทก์บริษัทประกันภัยจึงมิอาจไล่เบี้ยเอากับจำเลยผู้เช่า
ซึ่งถือเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมรายนี้ได้
คดีนี้ยุติเพียงชั้นศาลอุทธรณ์
เพราะโจทก์บริษัทประกันภัยมิได้ยื่นฎีกาคัดค้าน (อ้างอิงจากคดี Mark Rowlands v Berni Inns Ltd [1986] 1QB 211) ภายหลังศาลสูงในคดีอื่นที่คล้ายคลึงกันของประเทศอังกฤษก็ได้อ้างอิง
และเดินตามแนวทางคดีนี้ด้วยเช่นกัน
เราจะมาสรุปภาพรวมกันทั้งหมดในตอนที่สี่ของเรื่องนี้อีกที ในสัปดาห์หน้านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น