วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 62: เมื่อบริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองทรัพย์สินส่วนกลางที่เสียหาย ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด ผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าของห้องชุดต้นเหตุได้หรือไม่? และนิติบุคคลอาคารชุดนั้นสามารถเรียกร้องค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ที่ตนต้องรับผิดชอบเอง กลับคืนจากเจ้าของห้องชุดนั้นได้หรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)

สัปดาห์นี้ เราเปลี่ยนเรื่องมาคุยกันถึงข้อพิพาทสองกรณี คือ
1) ระหว่างเจ้าของห้องชุดต้นเหตุกับบริษัทประกันภัยผู้รับช่วงสิทธิมาจากนิติอาคารชุด ผู้เสียหายกรณีหนึ่ง และ
2) ระหว่างเจ้าของห้องชุดนั้นกับนิติบุคคลอาคารชุด ผู้เสียหายซึ่งมาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) กลับคืนมาจากเจ้าของห้องชุดต้นเหตุอีกกรณีหนึ่ง
โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า ณ อาคารชุดที่พักอาศัยแห่งหนึ่ง เจ้าของห้องชุดห้องหนึ่งได้ประมาทเลินเล่อลืมปิดก๊อกน้ำในห้องน้ำของตน จนทำให้น้ำไหลท่วมออกไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดหลังนั้น ประเมินค่าเสียหายของทรัพย์สินส่วนกลางนั้นแล้ว มีมูลค่าทั้งสิ้น 65,000 บาท เนื่องด้วยตัวนิติบุคคลอาคารชุดนั้นเองได้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเอาไว้ จึงได้ไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนมารับผิดชอบ แต่ด้วยความที่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับนั้นได้กำหนดค่าเสียหายส่วนแรก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทแรก ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และทุกครั้ง ภายใต้ภัยเนื่องจากน้ำเอาไว้ บริษัทประกันภัยจึงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด ผู้เอาประกันภัยของตนรายนี้เพียง 60,000 บาทเท่านั้น
ดังนั้น จึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาสองกรณีดังกล่าว คือ
1) บริษัทประกันภัยรายนั้นได้รับช่วงสิทธิจากนิติบุคคลอาคารชุด ผู้เอาประกันภัยของตน มาเรียกร้องเงินจำนวน 60,000 บาทที่ตนได้ชดใช้ไปแล้ว กลับคืนจากเจ้าของห้องชุดต้นเหตุ และ
2) นิติบุคคลอาคารชุด ผู้เสียหายยังมาเรียกร้องเงินจำนวน 5,000 บาทที่มิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัยรายนั้น กลับคืนจากเจ้าของห้องชุดต้นเหตุนั้นด้วย
เมื่อเจอการเรียกร้องสองกรณี เจ้าของห้องชุดต้นเหตุได้บ่ายเบี่ยงความรับผิด โดยอ้างว่า
1) ค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนกลางที่ได้ทำประกันภัยในนามของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ตนเองก็มีส่วนชำระอยู่ด้วยตามส่วน จึงถือเสมือนหนึ่งตนเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย (implied co-insured) บริษัทประกันภัยจึงมิอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้เอาประกันภัยของตนได้
2) เช่นกัน ค่าใช้จ่ายส่วนกลางในการบำรุงรักษาทรัพย์สินส่วนกลางนั้น ตนเองก็มีส่วนชำระตามส่วนอยู่เสมอ ทำไมจะต้องมาให้ตนรับผิดเพิ่มอีก
กรณีผลจะออกมาคล้ายคลึงกับเรื่องราวที่ผ่านมาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า และบริษัทประกันภัยไหมครับ?
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น