วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 62:เมื่อบริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองทรัพย์สินส่วนกลางที่เสียหาย ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด ผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าของห้องชุดต้นเหตุได้หรือไม่? และนิติบุคคลอาคารชุดนั้นสามารถเรียกร้องค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ที่ตนต้องรับผิดชอบเอง กลับคืนจากเจ้าของห้องชุดนั้นได้หรือไม่?

(ตอนที่สอง)

ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างลักษณะของอะพารต์เมนต์ให้เช่า 100 ห้องกับคอนโดมิเนียมจำนวน 100 ห้องแล้ว จะเห็นข้อแตกต่างกันโดยสังเขป ดังนี้
1) อะพารต์เมนต์ให้เช่านั้น รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว พร้อมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของผู้ให้เช่าคนเดียว ส่วนผู้เช่าจะมีกรรมสิทธิ์เฉพาะทรัพย์สินของตนเองที่นำเข้ามาภายหลังเท่านั้น
2) สำหรับคอนโดมิเนียม หรืออาคารชุดนั้น สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ โดยตัวอาคาร ทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน และที่ดิน ซึ่งเรียกว่า “ทรัพย์ส่วนกลาง” จะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างเจ้าของห้องชุดทั้ง 100 ห้อง โดยมอบหมายให้ “นิติบุคคลอาคารชุด” เป็นผู้จัดการดูแลรักษาแทนเจ้าของร่วมทั้งหมด ส่วนห้องชุดแต่ละห้อง พร้อมเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายใน รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของห้องชุด ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย อนึ่ง ผนัง พื้น เพดานที่กั้นระหว่างห้องชุดด้วยกันเอง ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างเจ้าของห้องชุดนั้น ๆ (พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 12 – 15, 32 - 33)
ดังนั้น เมื่อเจ้าของห้องชุดห้องต้นเหตุได้กระทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินส่วนกลางเสียหาย จึงจำต้องรับผิดทั้งในส่วนที่บริษัทประกันภัยมาไล่เบี้ยนั้นกับส่วนที่นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชอบเอง เนื่องจากข้อโต้แย้งที่ว่า ตนได้จ่ายเงินสมทบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินส่วนกลางให้แล้วตามส่วนนั้น ก็เป็นเพียงกรณีสำหรับการบำรุงรักษาตามปกติทั่วไปเท่านั้น มิใช่หมายความรวมถึงอุบัติเหตุเช่นนี้ มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นเสมือนหนึ่งเอาเงินสมทบของเจ้าของห้องชุดรายอื่นมาชดใช้แทนให้แก่ตนด้วย เจ้าของห้องชุดแต่ละรายจึงจำต้องจัดทำประกันภัยเผื่อเอาไว้ ทั้งในส่วนของการประกันภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (เทียบเคียงกับคดี Gelinas v. Barry Quadrangle Condominium Association, 2017 IL App (1st) 160826)
ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเสริมเพิ่มเติม ก็คือ ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย หรือกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย แบบระบุภัย กำหนดว่า เมื่อบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จำนวนเงินเอาประกันภัยจะลดลงไปตามจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้จ่ายไปแล้วด้วย

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ระบุว่า
ความรับผิดของบริษัทต่อความเสียหายแต่ละครั้ง หรือความเสียหายหลายครั้งตลอดระยะเวลาเอาประกันภัยรวมกันไม่เกิน
1. จำนวนเงินเอาประกันภัยตามแต่ละรายการที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรือ
2. จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรือ
3. จำนวนเงินเอาประกันภัย หรือจำนวนเงินจำกัดความรับผิด ที่คงเหลืออยู่ หลังจากถูกหักทุกครั้งด้วยจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้ชดใช้ไปหรือที่บริษัทได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะชดใช้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ (หากมี) ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย ระบุว่า
4. ความรับผิดของบริษัท
     ความรับผิดของบริษัทภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะไม่เกิน
     1) จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ หรือจำนวนเงินเอาประกันภัยไว้ ตามรายการแต่ละรายการในขณะที่เกิดความเสียหาย
     2) จำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่ ภายหลังจากหักมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาที่เอาประกันภัยเดียวกัน เว้นแต่บริษัทได้เคยตกลงไว้ก่อนแล้ว ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ให้จำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่นั้นกลับเต็มจำนวนดังเดิม ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมทั้งจำนวนเงินจำกัดความรับผิดและความเสียหายส่วนแรก โดยผู้เอาประกันภัยตกลงที่จะชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมตามระยะเวลาเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ (นับตั้งแต่วันที่เกิดความเสียหายจนถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกันภัย)

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติจำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินส่วนกลาง คือ 500,000,000 บาท และต่อมา ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,000,000 บาท เมื่อนิติบุคคลอาคารชุด ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยนั้นมาแล้ว จำนวนเงินเอาประกันภัยคงเหลือ สำหรับระยะเวลาเอาประกันภัยที่ยังเหลืออยู่ จะลดลงมาเป็น 450,000,000 บาท ฉะนั้น ถ้ามีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้นมาอีกในครั้งต่อไป จำนวนเงินเอาประกันภัยคงเหลืออาจเพียงพอรองรับกับความเสียหายต่อไปหรือไม่ก็ได้

อย่างไรก็ดี ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น ได้มีการกำหนดวงเงินความคุ้มครองย่อย สำหรับภัยเนื่องจากน้ำเอาไว้อยู่ที่จำนวนเงิน 200,000 บาทด้วย ซึ่งมักจะก่อให้เกิดปัญหาอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับตึกสูง ถ้าเกิดความเสียหายจากภัยเนื่องจากน้ำครั้งแรก จำนวน 60,000 บาท จะส่งผลทำให้วงเงินความคุ้มครองจากภัยนี้เหลืออยู่เพียง 140,000 บาท หากเพียงพอรองรับกับความเสียหายลักษณะนี้ในคราวหน้าได้อีกหลายครั้ง ก็แล้วไป แต่ถ้าไม่เพียงพอ ส่วนต่างนั้นจะย้อนกลับมาที่เจ้าของร่วมทุกรายที่จะต้องมีภาระร่วมกันจ่ายเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มเติมอีก หรืออาจจะเลือกจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เพื่อเติมวงเงินความคุ้มครองย่อยนั้น (หรือจำนวนเงินเอาประกันภัย) ให้กลับคืนดังเดิม ถือเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงไว้บ้างนะครับ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่อการอยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมสัญญา โดยจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเช่า อันจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จึงเชื่อว่า ค่าเบี้ยประกันภัยของการทำประกันภัยอาคารที่เช่าคงมีความชัดเจนมากขึ้น และน่าจะช่วยลดข้อโต้แย้งประเด็นนี้ลงได้บ้างในอนาคต

เรื่องต่อไป: ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) เมื่อผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมานั้นอยู่ต่อไปได้หรือไม่?   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น