(ตอนที่สาม)
เมื่อเทียบเคียงคดีนี้กับหลักกฎหมายไทยแล้ว
จะเห็นได้ว่า ประกอบด้วยสามสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ
1) สัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง
หรือภาษากฎหมายเรียกว่า “สัญญาจ้างทำของ” ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บัญญัติว่า
“มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น
คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้ว
ทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อน โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย
ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ
หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย”
ดังนั้น ตราบใดที่งานที่ว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างนั้นยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้
ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมายังคงต้องมีภาระความรับผิดชอบอยู่ต่อไป
จนกว่าจะได้ส่งมอบงานนั้นให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว หรือจนครบกำหนดตามสัญญานั้น แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนกัน
ทั้งการรับมอบงานนั้น ภายใต้สัญญาว่าจ้างฉบับนี้ก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
คำโต้แย้งด้วยวาจาของผู้รับเหมา จึงไม่สามารถนำมาหักล้างหลักฐานที่เป็นหนังสือได้ดังกล่าว
2) สัญญาซื้อขายเครื่องจักรที่ติดตั้งในโรงงานใหม่ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บัญญัติว่า
“มาตรา
453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน
ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้น ให้แก่ผู้ขาย
มาตรา
458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น
ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขาย
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ทรัพย์สินยังไม่โอนไป จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น”
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ทรัพย์สินยังไม่โอนไป จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น”
การที่ผู้ว่าจ้างไปซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยให้ผู้ขายติดตั้งให้นั้น
ถ้าในราคาที่ตกลงกันนั้น มิได้แยกเป็นราคาเครื่องจักรกับค่าแรงติดตั้งออกจากกันอย่างชัดเจนแล้ว
แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาจะตีความเป็นสัญญาซื้อขาย (เทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่
3049/2540 สัญญาซื้อขายลิฟท์ เครื่องปรับอากาศ และบันไดเลื่อนพิพาท เป็นสัญญาจ้างทำของเฉพาะค่าแรงติดตั้งพร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์
หาใช่สัญญาจ้างทำของทั้งฉบับ)
3) สัญญาประกันภัย
ซึ่งครอบคลุมเฉพาะงานตามสัญญาจ้างทำของ
โดยมีวัตถุที่เอาประกันภัย คือ งานก่อสร้างตามสัญญานั้นเอง
พร้อมทั้งความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก อันเกิดจากอุบัติภัยต่าง ๆ
ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้น เนื่องมาจากการทำงานนั้นเอง
โดยได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเอาประกันภัย
และภายในอาณาบริเวณสถานที่ก่อสร้างดังระบุไว้
เนื่องจากประเด็นข้อต่อสู้ในคดีนี้มีอยู่เพียงว่า
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาการก่อสร้าง หรือระยะเวลาบำรุงรักษา
(Maintenance
Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects
Liability Period) กันแน่? จึงมิได้ให้รายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า
สัญญาประกันภัยฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองอะไร อย่างไรบ้าง?
หากจะวินิจฉัยตามความเห็นส่วนตัว เห็นว่า
สต็อกม้วนกระดาษกับเครื่องจักรใหม่ที่ติดตั้งนั้น มิใช่วัตถุที่เอาประกันภัย
หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกแต่ประการใด ส่วนการนำทรัพย์สินเหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยฉบับนี้ถึงขนาดทำให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้สิ้นผลความคุ้มครองทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของความเสี่ยงภัยหรือไม่นั้น
เป็นประเด็นพึงระวัง และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนล่วงหน้าบ้างก็ดีนะครับ
ฉะนั้น
คดีนี้จึงเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน
โดยเฉพาะถ้าสัญญาจ้างทำของมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร
หรือแม้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงการขอเข้าใช้พื้นที่ล่วงหน้า
หรือการรับส่งมอบงาน และอาจส่งผลต่อไปยังสัญญาประกันภัยด้วยที่อาจจัดทำไปโดยมิได้พิจารณาถึงข้อกำหนดกับเงื่อนไขภายใต้สัญญาจ้างทำของประกอบด้วย
เรื่องต่อไป – ผู้บาดเจ็บเกิดภาวะโรคอ้วน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น