วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 63: ภายหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) อยู่หรือไม่? 



(ตอนที่หนึ่ง)
กรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาในฐานะคู่สัญญาว่าจ้างนั้น และเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกัน ได้จัดแบ่งระยะเวลาความคุ้มครองออกเป็นสามระยะเวลาด้วยกัน กล่าวคือ
1) ระยะเวลาเอาประกันภัย ซึ่งจะระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยว่า จะเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันเดือนปีใด และจะไปสิ้นสุด ณ วันเดือนปีใด โดยทั่วไปจะอ้างอิงให้สอดคล้องกับสัญญาจ้างเหมางานระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมานั่นเอง
2) ระยะเวลาการก่อสร้าง/การติดตั้งตามสัญญา โดยจะมีผลเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ขนวัตถุที่เอาประกันภัยลง ณ สถานที่ก่อสร้าง/ติดตั้งเป็นต้นไป จวบจนถึงวันที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปใช้งาน หรือเข้าไปครอบครองพื้นที่ก่อสร้าง/ติดตั้งนั้นแล้ว หรือวันที่ผู้รับเหมานั้นได้ส่งมอบงานที่เสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนด หรือวันที่ครบกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัยในข้อ 1) แล้วแต่วันใดจะถึงก่อนกัน
3) ระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) จะเริ่มนับต่อเนื่องจากระยะเวลาในข้อ 2) เป็นต้นไป จวบจนครบกำหนดระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ปกติจะกำหนดเป็นจำนวนเดือน เช่น 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน เป็นต้น
โดยระยะเวลาช่วงที่ 1) กับ 2) ข้างต้นนั้น จะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ดังกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ทั้งในส่วนของวัตถุที่เอาประกันภัย (ตัวงานก่อสร้าง/ติดตั้งตามสัญญา) และส่วนของความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ขณะที่ระยะเวลาช่วงที่ 3) จะลดความคุ้มครองเหลือเพียงต่อวัตถุที่เอาประกันภัย อันเกิดเนื่องมาจากการทำงานที่บกพร่องของผู้รับเหมานั้นเท่านั้น
คดีเรื่องนี้ เกิดขึ้นแก่โรงงานผลิตกล่องลูกฟูกแห่งหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งให้ทำการก่อสร้าง ดังนี้
(1) อาคารโรงงานผลิตแห่งที่สองขึ้น ณ บริเวณข้างเคียงกับโรงงานเดิม โดยผู้ว่าจ้างจะซื้อเครื่องจักรใหม่มาติดตั้งเอง
(2) โกดังเก็บสินค้า
(3) สถานที่จอดรถ
(4) ขยายอาคารโรงเดิมออกไปอีก
โดยได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างกัน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 ซึ่งเงื่อนไขข้อหนึ่งของสัญญานี้ กำหนดให้ผู้รับเหมาจัดทำประกันภัยคุ้มครองงานตามสัญญานี้เอาไว้ด้วยตลอดระยะเวลาทำงาน
ประมาณเดือนมกราคม ค.ศ. 1970 แม้นผู้รับเหมารายนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปได้คืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ได้ปรากฏว่า
(1) ในตัวโรงงานผลิตแห่งใหม่ ตัวผู้ว่าจ้างก็ได้ซื้อเครื่องจักรใหม่มา พร้อมกับให้ผู้ขายเครื่องจักรนั้นติดตั้งจนเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มดำเนินการผลิตกล่องลูกฟูกไปบ้างแล้ว   
(2) อาคารโกดัง ผู้ว่าจ้างได้นำสต็อกม้วนกระดาษจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้แล้ว
ต่อมา ในวันที่ 18 มกราคมนั้นเอง ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่บริเวณส่วนที่ก่อสร้างนั้นอย่างมาก
ประเด็นข้อพิพาทจึงเกิดขึ้นมาทันทีว่า ใครจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้?
ก) ผู้ว่าจ้างกล่าวว่า ฝ่ายผู้รับเหมารายนี้กับบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมารายนี้จะต้องรับผิดชอบ เนื่องจากขณะเกิดเหตุงานก่อสร้างตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
ข) ฝ่ายผู้รับเหมารายนี้กับบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมารายนี้ก็โต้แย้งว่า ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดชอบเอง โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครอง หรือใช้งานแล้ว เพราะถือเสมือนหนึ่งผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานพื้นที่ส่วนนั้นโดยปริยายแล้ว ทั้งยังส่งผลทำให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็ได้สิ้นสุดลงไปด้วยตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น
คุณมีความเห็นในเรื่องนี้เช่นไรบ้างครับ? ลองวิเคราะห์ไปพลาง ๆ ก่อนรอรับฟังผลทางคดีนี้กันสัปดาห์หน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น