วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 61: ผู้เช่าส่วนหนึ่งของอาคารทำร้านอาหาร แล้วทำให้เกิดไฟไหม้อาคารที่เช่าทั้งหลัง หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอาคารเช่านั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าที่เป็นต้นเพลิงได้หรือไม่?



(ตอนที่สี่)
ตอนนี้เป็นบทสรุปของเรื่องที่ 60 และเรื่องที่ 61 อันเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่บริษัทประกันภัยของผู้ให้เช่าสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้เช่า ซึ่งประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้ให้เช่าจนเสียหายได้หรือไม่? 
โดยหลักการประกันภัยทั่วไปแล้ว ทรัพย์สินของใคร คนนั้นก็ทำประกันภัยทรัพย์สินของตนเองไป กล่าวคือ ต่างคน ต่างก็ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอง หรือภาษาประกันภัยเรียกว่า "ส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้" แต่เนื่องจากส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้นั้นมีความหมายกว้างกว่าการเป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น ผู้มีสิทธิอย่างอื่นตามกฎหมายในทรัพย์สินนั้น ก็สามารถที่จะเอาประกันภัยได้เช่นกัน ดังในประเด็นเรื่องนี้
จะสังเกตุเห็นว่า แนวทางคำพิพากษาของศาลทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอังกฤษเดินทางตามแนวเดียวกัน โดยอาศัยการพิจารณาจากประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
1) ประเด็นหลักกฎหมายสัญญาเช่าที่ว่า ความเสียหายใหญ่ที่เกิดแก่ทรัพย์สินที่ให้เช่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ส่วนความเสียหายเล็กน้อยเนื่องจากการใช้ทรัพย์สินที่เช่านั้นตามปกติวิสัย ให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ หรือน้ำท่วม จึงตกเป็นภาระของผู้ให้เช่าไป
2) ประเด็นลักษณะการเช่า เช่น เช่าเพื่ออยู่อาศัย เช่าเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น และอายุสัญญาเช่า สั้น หรือยาว หากเป็นการเช่าช่วงสั้น ๆ โดยปกติแล้ว คงไม่สมเหตุผลนักที่จะกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เช่า แนวศาลประเทศสหรัฐอเมริกามองว่า สำหรับการเช่าเพื่ออยู่อาศัย ถ้ามิได้มีข้อกำหนดของสัญญาเช่าอย่างชัดแจ้ง ให้ถือเบื้องต้นว่า ผู้ให้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยทรัพย์สินที่ให้เช่าเอง ส่วนศาลประเทศอังกฤษมิได้แยกแยะเช่นนั้น
3) ประเด็นสัญญาเช่าได้มีข้อกำหนดอย่างชัดแจ้งต่างจากหลักกฎหมายข้างต้นหรือไม่? มีข้อกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่? ถ้ามี ก็ว่ากันไปตามข้อกำหนดระหว่างคู่สัญญาเช่านั้น ๆ
ตราบใดที่มิได้มีข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่าเป็นอย่างอื่นอย่างชัดแจ้ง เบื้องต้นให้ถือว่า การจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เช่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า เพื่อประโยชน์ของผู้เช่าด้วย แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นจะระบุเพียงผู้ให้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวเท่านั้นก็ตาม ศาลตีความให้ผู้เช่าเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยร่วม (implied co-insured) โดยอาศัยหลักกฎหมายเรื่องตัวการ ตัวแทนมาพิจารณาประกอบด้วย จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้บริษัทประกันภัยมิอาจรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าได้ ถึงแม้จะเป็นผู้กระทำละเมิดแก่ผู้ให้เช่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังมีมุมมองประเด็นนี้แตกต่างกันอยู่ ยังมิได้ถือเป็นยุติเสียทีเดียว แต่น่าสนใจว่า หลายประเทศ อย่างประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ก็ใช้แนวคำพิพากษาของศาลประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า “ทฤษฏีซัตตัน (Sutton Rule)นี้ ในการอ้างอิงด้วยเหมือนกัน
เท่าที่ค้นคว้า ผมยังไม่พบเจอคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยในประเด็นเรื่องนี้ แต่เจตนารมณ์ที่นำประเด็นข้อพิพาทนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มมุมมองที่แตกต่างออกไปเท่านั้น จึงขอความกรุณาใช้วิจารญาณด้วยนะครับ
เพื่อช่วยลดข้อพิพาทประเด็นนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้เสนอแนะแนวทางให้เลือกพิจารณา ดังนี้
1) เขียนข้อตกลงในสัญญาเช่ากันไว้อย่างชัดเจน
2) กำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกับผู้ให้เช่าในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่ให้เช่า
3) ถ้าผลักภาระให้ผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงฝ่ายเดียวในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่ให้เช่า ให้ระบุผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์แทน
4) เพิ่มเติมเอกสารแนบท้าย หรือเงื่อนไขพิเศษแล้วแต่กรณี เป็นต้นว่า การสละสิทธิการรับช่วงสิทธิ (Waiver of Subrogation) ส่วนได้เสียของบุคคลอื่น (Other Interests) ทรัพย์สินภายใต้การดูแลรักษา และควบคุม (Property Under Care, Custody & Control)
แต่ละทางเลือกมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน จำต้องพิจารณาตามความเหมาะสมประกอบด้วยนะครับ ดังที่เคยเล่าสู่กันฟังบ้างแล้วในบทความเรื่องที่ 36: กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่? ลองกลับไปอ่านทบทวน ก็คงให้ภาพชัดเจนมากขึ้น
อย่าลืม ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินกับความรับผิดตามกฎหมายของตนเองเผื่อไว้ด้วยนะครับ
ยังมีคดีอื่น ๆ ที่น่าสนใจในประเด็นเรื่องนี้อีก เอาไว้จะค่อย ๆ ทยอยนำมาเขียนในโอกาสต่อไป
สำหรับบทความเรื่องต่อไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมครับ ซึ่งมีลักษณะความเสี่ยงภัยที่เทียบเคียงกับอพาร์เมนต์ที่ให้เช่าว่า ถ้าเจ้าของห้องชุดห้องหนึ่งประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนกลาง หรือทรัพย์สินของเจ้าของห้องชุดที่อยู่ข้างเคียง ผลทางคดีจะเป็นอย่างไร?
พบกันสัปดาห์หน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น