(ตอนที่สอง)
คดีนี้
ศาลสรุปข้อพิพาท คือ โจทก์ฟ้องว่า
ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการกระโดดลงมาจากลานสู่พื้นดิน จนส่งผลทำให้เสียชีวิต
ในขณะที่มีสภาพร่างกายปกติ และสุขภาพแข็งแรง ฉะนั้น
ความบาดเจ็บดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุใกล้ชิด
และเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นมา
ส่วนฝ่ายจำเลยก็โต้แย้งว่า
แม้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) แต่ความบาดเจ็บนั้นก็มิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก และมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา ตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัย
การเสียชีวิตดังกล่าวจึงมิได้เป็นผลเนื่องมาจากความบาดเจ็บนั้น แต่เป็นผลมาจากสาเหตุความผิดปกติทางร่างกายต่างหาก
ศาลจึงได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาเป็นสามประเด็น
ดังนี้
1) ผู้ตายได้รับบาดเจ็บภายในจากการกระโดดหรือไม่?
2) หากผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการกระโดดจริง
แล้วเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยของอุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างรุนแรง และมองเห็นได้อย่างชัดเจนตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?
3) ความบาดเจ็บนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือไม่?
ผลการวินิจฉัย
ประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้ข้อสรุป ดังนี้
1) หากการกระโดดของผู้ตายตามเพื่อนทั้งสองคน
เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ด้วยใจสมัคร และมีสติแล้ว
ผู้ตายก็น่าจะมิได้รับบาดเจ็บเหมือนดังเช่นเพื่อนทั้งสองคน
แต่นี่กลับเสมือนหนึ่งกระโดดทุ่มลงมาทั้งตัว ในลักษณะที่ผิดปกติ
จนก่อให้เกิดผลที่มิได้ตั้งใจ คือ ความบาดเจ็บขึ้นมา โดยพิจารณาประกอบคำให้การของเพื่อนผู้ตายเป็นเกณฑ์
และประวัติสุขภาพของผู้ตายก่อนหน้านั้นที่ว่า
ผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเป็นปกติ
2) สำหรับการตีความถ้อยคำว่า
อุบัติเหตุจะต้องเกิดจากปัจจัยภายนอก และมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตาเท่านั้น
ศาลเห็นว่า เป็นการตีความที่แคบ และไม่น่ามีผลใช้บังคับได้จริง
เพราะจำกัดสิทธิมากเกินไป
การมองเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ควรหมายความรวมถึงการสามารถตรวจพิสูจน์ได้
อาจด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด
มิใช่จำกัดเพียงร่องรอยบาดแผลตามร่างกายภายนอกเท่านั้น
ความรู้สึกปวดอาจไม่ถือเป็นสิ่งที่มองเห็นได้
แต่อาการเจ็บปวดภายในร่างกายที่ส่งผลออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา
ด้วยการแสดงอาการหน้าซีด เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียน การมีเลือดไหลออกมา
หรือการขับถ่ายสิ่งผิดปกติออกมานั้น ถือเป็นการมองเห็นได้อย่างชัดเจนได้แล้ว
แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นผลโดยตรงมาจากความบาดเจ็บนั้นเองด้วย
3) สาเหตุใกล้ชิดนั้น
ต้องเป็นสาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดผลถึงขั้นเสียชีวิตของผู้ตาย โดยมิได้มีสาเหตุอื่นใดมาสอดแทรก
เมื่อปรากฏว่า การกระโดดทำให้เกิดความบาดเจ็บภายในร่างกายของผู้ตาย
จนเกิดการอักเสบ และส่งผลทำให้สภาวะอวัยวะภายในส่วนอื่นได้รับผลกระทบ
ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป และนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ตายในท้ายที่สุด
ดังนั้น การเสียชีวิตครั้งนี้ จึงเป็นผลสืบเนื่องโดยตรง
และต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนมาจากความบาดเจ็บของร่างกายของผู้ตายโดยอุบัติเหตุ
อันมีสาเหตุมาจากการกระโดดนั่นเอง
เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นต่อร่างกาย
จนทำให้เสียชีวิตในคราวนี้แต่ประการใด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ศาลจึงวินิจฉัยให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) รับผิด และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
(ผู้รับประโยชน์) ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น